บินสำรวจใจแผ่นดิน ชี้ ไม่เหมาะอยู่อาศัย​ “วราวุธ” แจง มรดกโลกไม่เลื่อนพิจารณา​ป่าแก่งกระจาน

​คณะทำงานฯ ประวิตร ลงพื้นที่แก่งกระจาน ชี้ ไม่เหมาะอยู่อาศัย​ เตรียมประสานหลายกระทรวงฯ ลุยพัฒนาพื้นที่บางกลอยล่าง ติดอินเทอร์เน็ต หาที่ให้ทำไร่หมุนเวียนตามวิถีเดิม​ ปรับปรุงแหล่งน้ำ หนุนท่องเที่ยวชุมชน

เมื่อวันที่​ 18​ มี.ค.​ 2564​ ประสาน หวังรัตนปราณี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประจำ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ลงพื้นที่เป็นประธานประชุมติดตามการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของชาวบ้านบางกลอย ในพื้นที่บ้านบางกลอย และขึ้นเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ตลอดจนลงพื้นที่บ้านโป่งลึก และบ้านบางกลอยล่าง เพื่อสำรวจสภาพพื้นที่และพบปะพูดคุยถึงสภาพความเป็นอยู่กับชาวบ้านบางกลอยล่างพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยผลจากการสำรวจพื้นที่ คณะลงพื้นที่ได้สรุปร่วมกันว่า บ้านโป่งลึกมีโครงการพัฒนาของหน่วยงานต่าง ๆ รองรับความเป็นอยู่ของชาวบ้านอย่างเพียงพอในปัจจุบัน ส่วนบ้านบางกลอยล่าง ซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกัน พบว่า ยังมีความขาดแคลน โดยมีที่ดินทำกินไม่เพียงพอ บางพื้นที่ยังมีขาดแคลนน้ำใช้เพื่อการเกษตร ขาดระบบอินเทอร์เน็ต รวมทั้งไม่มีพื้นที่ทำไร่หมุนเวียนซึ่งเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้าน

ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้นำเสนอแผนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับชาวบ้านบางกลอยล่าง 7 ด้าน ได้แก่ 1) การสำรวจที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย 2) การบริหารจัดการน้ำและสิ่งแวดล้อม 3) การพัฒนาปรับปรุงดิน 4) การจัดทำแปลงสาธิตการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน 5) การพัฒนาอาชีพทางเลือกและการสร้างรายได้ 6) การพัฒนาการท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรม และ 7) การสื่อสารสร้างการรับรู้ ซึ่งคาดว่าด้านการสำรวจที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยจะแล้วเสร็จภายใน 1-2 วันนี้ และแผนด้านการบริหารจัดการน้ำ จะสามารถวางแผนได้แล้วเสร็จภายใน 1-2 เดือน เพื่อเร่งดำเนินการวางระบบต่อไป

หลังรับฟังแนวทางการแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวบางกลอยล่าง ประสาน หวังรัตนปราณี กล่าวในที่ประชุมว่า จะขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกเหนือจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เข้ามาร่วมกันดำเนินการตามแผนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับชาวบ้านเพิ่มเติมต่อไป นอกจากนี้ในส่วนที่ยังเป็นปัญหาได้ให้ผู้ใหญ่บ้าน รวบรวมปัญหาต่าง ๆ ของชาวบ้าน ส่งต่อไปยังนายอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาแก้ไขต่อไป

เขาระบุด้วยว่า จะแก้ปัญหาให้ชาวบ้านมีที่ทำกิน แต่พื้นที่ใจแผ่นดินไม่เหมาะแก่การอยู่อาศัย

“จากการที่ได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ ไปในพื้นที่ที่ถูกเรียกว่าใจแผ่นดิน พบว่าเป็นพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์มาก ไม่เหมาะแก่การอยู่อาศัย​ ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไม่ควรให้มีการบุกรุก เป็นพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำเพชร​ หากมีชุมชนอาศัยอาจเกิดน้ำเสียปนเปื้อนลงบริเวณต้นน้ำ เหล่านี้คือสิ่งที่รัฐบาลต้องพิจารณาร่วมด้วย วิธีการแก้ปัญหาของผม คือ ทำอย่างไรให้พวกคุณได้มีที่ทำกิน ที่สมบูรณ์ น้ำไฟทุกอย่างให้พร้อม โรงเรียนสำหรับเด็กเล็ก แล้วก็จัดพื้นที่ ทำไร่ ทำนาให้คุณทำสวนกัน ตามที่รองอธิบดีอุทยานฯว่า คนหนึ่งจะให้ 7 ไร่ ”

ประเสิร์ฐ พุกาด ชาวบ้านบางกลอย ระบุว่า มีความหวังเพิ่มขึ้นจากการที่เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจในครั้งนี้ โดยชาวบ้านบางส่วนประสงค์จะได้รับการจัดสรรพื้นที่ด้านล่างเพื่อทำกินและอยู่อาศัย แต่ส่วนตัวเขายังยืนยันอยากกลับไปที่ใจแผ่นดิน เพราะแม้จะมีการจัดสรรที่ดินทำกิน และระบบน้ำแล้ว แต่เขามองว่ามันยังไม่ใช่วิถีชีวิตของเขาอย่างที่เคยทำมานั่นคือการทำไร่หมุนเวียน

“ที่เขาพูดมันยังไม่ตรงและสอดคล้องกับวิถีชีวิต และวัฒนธรรมของเรา อย่างบรรพบุรุษเราทำไร่หมุนเวียนมา เขาไม่จำเป็นต้องมีการจัดระบบน้ำ ถึงแม้จะมีการจัดการปัญหาให้จริง ๆ การจัดน้ำจริง ๆ ผมก็ไม่อยากได้สักเท่าไร การกลับไปมันไม่ใช่แค่ที่ทำกิน วิถีชีวิต วัฒนธรรมมันก็ยังคงสำคัญ”

หนึ่งเนตรชนก ทุบุ ชาวบ้านบางกลอย ยอมรับว่า ไม่ได้มีความหวังมากนักกับการลงพื้นที่ครั้งนี้ เพราะที่ผ่านมาเคยยื่นเรื่องไปหลายครั้ง แต่ไม่มีการแก้ไขปัญหา ยืนยันหากได้รับการจัดสรรที่ดินทำกิน และระบบน้ำเข้าถึง ก็ไม่อยากกลับไปที่ใจแผ่นดิน

“ที่ไม่กลับไป เพราะว่าแม่เดินไม่ได้ พ่อก็อายุมากแล้ว 70 ปีแล้ว ถ้าเกิดได้ที่ทำกิน ก็อยากอยู่ที่นี่ต่อ เพื่อที่จะปลูกบ้านให้พ่อกับแม่ด้วย ตอนนี้ก็ไปอาศัยบ้านญาติอยู่ ตอนนี้เอาแค่ที่ดินก่อนก็ได้ ระบบน้ำเราใช้การลงไปหาบจากแม่น้ำมาใช้ก่อน”

“วราวุธ” แจง มรดกโลกไม่เลื่อนพิจารณากลุ่ม​ป่าแก่งกระจาน​ มิ.ย.-ก.ค. นี้ ตามเดิม

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  กล่าวถึงความก้าวหน้าการแก้ปัญหาชาวบ้านบางกลอยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เกี่ยวกับการพิจารณาการขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกว่า ขณะนี้ยูเนสโกแจ้งว่าได้รับเอกสารข้อร้องเรียนดังกล่าว และได้จัดส่งให้รัฐบาลไทยแล้ว ส่วนการพิจารณานำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกช่วงเดือนมิถุนายน – กรกฎาคมนี้ ซึ่งเป็นไปตามกำหนดการเดิมไม่ได้มีการชะลอ หรือยกเลิกตามที่มีบุคคลบางกลุ่มปล่อยข่าวออกไป

ส่วนเรื่องมีกลุ่มต่าง ๆ เข้ามาดำเนินการในพื้นที่บางกลอย มองว่าน่าจะอยากเห็นความเป็นอยู่ของชาวบางกลอยดีขึ้น แต่อาจทำงานที่แตกต่างกันไประหว่างภาครัฐกับกลุ่มคนดังกล่าว เบื้องต้น ตั้งตัวแทนหน่วยงานจากหลายภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาตามประเด็นที่มีการหยิบยกขึ้นมาโดยกลุ่มพีมูฟ เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

สำหรับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ประสานการดำเนินการร่วมกันกับหน่วยงานต่าง ๆ มาโดยตลอด สิ่งสำคัญได้ให้ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การแก้ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานให้กับชาวบ้านบางกลอย จังหวัดเพชรบุรีไปแล้ว โดยเน้นให้ปฏิบัติตามนโยบายของตนเอง พร้อมยืนยันให้เร่งแก้ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานให้กับชาวบ้านบางกลอย เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้านให้ดีขึ้น


อ่านเพิ่ม

นายกฯ ย้ำอีกครั้ง ชาวบางกลอย “กลับใจแผ่นดินไม่ได้”

ยูเนสโก เตรียมพิจารณาแก่งกระจานเป็นมรดกโลก กลางปีนี้

จากใจกลางป่าแก่งกระจาน สู่ศูนย์กลางอำนาจรัฐ

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ