“พีมูฟ”เตรียมยกระดับกดดันรัฐบาล หลังยื่น 12 ข้อเรียกร้อง แต่ไร้การตอบรับ

ปักหลักหน้ายูเอ็น จนกว่า 12 ข้อเรียกร้องซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่ดิน การจัดการทรัพยากร จะเข้าสู่ที่ประชุม ครม.เป็นมติเพื่อให้เดินหน้าแก้ไขปัญหา

วันนี้ (20 ม.ค.2565) ตัวแทนชาวบ้านจากชุมชนต่างๆทั่วประเทศ ในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(ขปส.) มาปักหลักชุมนุมหน้าองค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น โดยนำเต็นท์มาเพื่อพักค้างแรมด้วย ซึ่งเป็นไปตามที่ประกาศไว้ว่าจะปักหลักแบบไม่มีกำหนด 

สมคิด กันตังกุล วัย 52 ปี ชาวบ้าน ทับเขือ ต.ช่อง อ.นาโยง จ.ตรัง เดินทางมาด้วยรถโดยสารประจำทางจากพื้นที่ พร้อมกับใบเหลียงพืชผักประจำถิ่น เขาบอกว่า ตั้งใจนำมาสมทบครัวกลางที่นี่ ส่วนกระเป๋าสัมภาระที่นอกจากสิ่งของจำเป็น ยังมีเอกสารที่เขาเคยถูกดำเนินคดีบุกรุกป่าโดยอุทยานแห่งชาติเขาปู่เขาย่า ซึ่งแม้ตอนนี้อัยการจะยกฟ้องแล้ว แต่ที่ดินของเขาที่ยืนยันว่าอยู่มาก่อนที่อุทยานจะประกาศทับ ไม่มีเอกสารสิทธิหรือไม่มีการรับรองสิทธิ ทำให้ยังกังวล และไม่สามารถทำกินได้อย่างเต็มที่ ขาดความมั่นคงในชีวิต และรายได้ที่จะใช้จ่ายต่างๆ รวมทั้งส่งเสียลูกเรียน จึงต้องออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเดินหน้านโยบายโฉนดชุมชน

“ เขายกฟ้องจริง แต่ผมก็กังวลเพราะยังไม่มีสิทธิในที่ดิน จะทำอะไรก็ไม่เต็มที่ จะลงทุนปลูกอะไรเพื่อสร้างรายได้ ก็ไม่กล้า ถ้าหากถูกคดีอีก ผมจนอยู่แล้ว ถ้าเขาไล่ออกอีกลูกยังเรียนไม่จบก็ลำบากเลย “ 

สมคิด กันตังกุล ชาวบ้านทับเขือ อ.นาโยง จ.ตรัง
นายสมคิด กันตังกุล  ชาวบ้านทับเขือ  อ.นาโยง จ.ตรัง

นอกจากการขอให้เดินหน้าผลักดันนโยบายโฉนดชุมชน ยังมีข้อเรียกร้องรวมอีก 12 ข้อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และการจัดการทรัพยากร ที่กระทบต่อปากท้อง การดำรงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของประชาชน เช่น ขอให้เร่งออกพระราชกฤษฎีกานิรโทษกรรมคดีความที่เกี่ยวกับปัญหาป่าไม้และที่ดินอันเกิดจากการดำเนินการตามนโยบายรัฐ ,แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อทบทวนเนื้อหาของ พ.ร.บ.ป่าชุมชน,พ.ร.บ.อุทยาน แห่งชาติ และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และให้ชะลอการเสนอร่างกฎหมายลำดับรอง , การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) , ผลักดันร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ฉบับที่ร่าง โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร (องค์การมหาชน) และสนับสนุน “ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครอง สิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง หรือฉบับประชาชน 

จำนง หนูพันธ์ ประธานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมหรือพีมูฟ ย้ำว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่ได้เป็นการร้องขอ แต่เป็นการเดินหน้าทวงสิทธิที่ประชาชนที่มีอยู่แล้ว และปัญหาทั้ง 12 ข้อที่ให้รัฐบาลเร่งแก้ไข ส่วนใหญ่เป็นปัญหาเชิงนโยบายที่ไม่ได้รับการแก้ไข และยังสร้างปัญหาใหม่เพิ่มขึ้น 

“ 7 ปีที่ผ่านมาไม่มีความคืบหน้าอะไรเลย รัฐบาลไม่ได้แก้ไขปัญหาใดๆเลย แถมยังใช้นโยบายต่างๆ เข้าไปแบ่งแยกพี่น้องในชุมชนต่างๆ ยกตัวอย่างในพื้นที่ของโฉนดชุมชน ที่เราบอกว่าให้คุ้มครองดูแลอย่างน้อย 486 ชุมชน ซึ่งตัวแทนรัฐบาลท่านประวิตรก็รับปากว่าจะให้ชาวบ้านได้ใช้ชีวิตอย่างปกติสุขไปก่อนระหว่างรอแก้ไขปัญหา แต่สุดท้ายรัฐบาลก็ใช้นโยบายคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เข้าไปแทรกแทรงสร้างความแตกแยกให้กับประชาชน ทำให้แบ่งเป็นกลุ่มเป็นฝ่าย ไม่มั่นใจในนโยบายโฉนดชุมชนที่ประชาชนร่วมกันผลักดัน ยืนหยัด ให้อยู่ภายใต้ คทช.”

จำนง หนูพันธุ์ ระธานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม

ประธานพีมูฟยังย้ำว่า หากข้อเรียกร้องทั้ง 12 ข้อได้รับการแก้ไขได้ จะเป็นประโยชน์และแก้ปัญหาให้ประชาชนทั้งประเทศในภาพรวม  ไม่ใช่แต่เฉพาะกลุ่มพีมูฟเท่านั้น

จากนั้นเวลาประมาณ  12.45 น.กลุ่มพีมูฟได้เคลื่อนขบวนไปยื่น 12 ข้อเรียกร้องถึงพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ โดยนายมงคลชัย สมอุดร  รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับข้อเรียกร้อง 

ซึ่งกลุ่มพีมูฟได้รอคำตอบจากรัฐบาลถึงการดำเนินการต่อข้อเรียกร้องถึงเวลา 16 นาฬิกา แต่ไม่มีความคืบหน้าการตอบรับ  จึงแถลงประกาศปักหลักชุมนุมต่อ และจะมีการยกระดับเพื่อกดดันทวงถามรัฐบาลอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ