คนหนุ่มสาวเมียนมา เสียชีวิตมากที่สุด จากเหตุประท้วงต้านรัฐประหาร

ตัวเลขผู้เสียชีวิตยิ่งพุ่ง หลังกองทัพประกาศใช้กฎอัยการศึกตั้งแต่ 14 มี.ค.ผู้ประท้วงที่ ย่างกุ้ง เสียชีวิตมากที่สุด

ทวิตเตอร์ The Insights เผยแพร่เมื่อวานนี้ (18 มี.ค. 2564) ข้อมูลตัวเลขผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ประท้วงต่อต้านรัฐประหารเมียนมานับตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 จนถึงวันที่ 18 มี.ค. 2564 ณ เวลา 9.00 น. พบว่า มีประชาชนชาวเมียนมาเสียชีวิตจากการถูกทหารและตำรวจใช้ความรุนแรงรวมทั้งหมด 236 ราย

โดยกลุ่มผู้เสียชีวิตจำนวนมากที่สุด เป็นคนหนุ่มสาวที่อยู่ในช่วงอายุ 16-25 ปี ส่วนเมืองที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดคือ ย่างกุ้ง 131 คน รองลงมาคือ มัณฑะเลย์ 44 คน The Insights ระบุด้วยว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค.2564 ซึ่งเป็นวันที่กองทัพเริ่มประกาศใช้กฎอัยการศึก

สำนักข่าว The Irrawaddy สื่อท้องถิ่นเมียนมา รายงานเมื่อวานนี้ (18 มี.ค.2564) ระบุว่า จนถึงขณะนี้ตัวเลขนักศึกษาที่ถูกทางการเมียนมาจับกุมระหว่างการประท้วงต่อต้านรัฐประหารมีมากถึง 770 คน โดยในจำนวนนี้ยังถูกควบคุมตัวประมาณ 500 กว่าคน ซึ่งรวมถึงนักเรียนมัธยมปลายด้วย

และจากข้อมูลสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (AAPP) และ สหภาพนักศึกษามหาวิทยาลัยย่างกุ้ง (UYSU) ระบุด้วยว่า ในจำนวนนักศึกษาที่ถูกควบคุมอยู่นั้น มีประมาณ 400 คนที่ถูกรัฐบาลตั้งข้อหาแล้ว ซึ่งรวมผู้นำสหภาพนักศึกษาด้วย ขณะที่นักเรียนมากกว่า 20 คน หายตัวไประหว่างการปราบปราม

อู ซาน มินแห่ง AAPP กล่าวว่านักศึกษาถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา 505 (ก) ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี และยังถูกตั้งข้อหาตามมาตรา (25) ของกฎหมายจัดการภัยธรรมชาติของเมียนมา ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 3 ปีหากพบว่ามีความผิดฐานละเมิดแนวทางการรณรงค์ต่อมาตรการ COVID-19 ที่กำหนดโดยกระทรวงสาธารณสุขของเมียนมา ขณะที่บางคนถูกตั้งข้อหาภายใต้กฎหมายยาเสพติด ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หลังจากถูกกล่าวหาว่าใช้ยาเสพติด

สหภาพแรงงานนักศึกษาและ AAPP กล่าวว่าสมาชิกในครอบครัวของนักเรียนที่ถูกคุมขังมีความกังวลเกี่ยวกับสภาพในคุก เนื่องจากครอบครัวไม่ได้รับอนุญาตให้เห็นพวกเขาตั้งแต่ถูกควบคุม พร้อมระบุด้วยว่า การจับกุมนักศึกษากำลังทำลายประเทศ

แต่แม้จะถูกปราบปรามและถูกจับ แต่นักศึกษาก็ยังคงออกมาประท้วง สมาชิกสหภาพนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมัณฑะเลย์ กล่าวว่า เหตุผลหลักที่นักศึกษาต้องออกมาตามท้องถนน ก็เพื่อประท้วงต่อต้านระบอบทหารที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

“การจับกุมอย่างรุนแรงและการจำคุกนักเรียนเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เราไม่กลัวการถูกจับ เราจะเดินหน้าต่อสู้กับเผด็จการทหาร”

และไม่ใช่แค่นักศึกษาหรือคนหนุ่มสาว แต่ผู้คนทั่วประเทศที่ยังคงออกเดินทางไปตามท้องถนนทั้งกลางวันและกลางคืนเพื่อแสดงออกถึงการต่อต้านรัฐบาลทหาร แม้จะเสี่ยงต่อการถูกจับ โดยนับตั้งแต่การรัฐประหาร จนถึงเมื่อวานนี้ (18 มี.ค. 2564) มีผู้ถูกจับกุมเกือบ 2,200 คน

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว