นักมานุษยวิทยา อธิบาย เป็นการประท้วงที่ไร้ผู้ประท้วง แต่เต็มไปด้วยความหมาย การไม่ยอมแพ้
สถานการณ์การประท้วงในเมียนมาใกล้เข้าสู่เดือนที่ 2 นับตั้งแต่กองทัพเมียนมาทำการรัฐประหารตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2564 ชาวเมียนมาในหลายเมืองทั่วประเทศยังออกมาเดินขบวนประท้วงบนท้องถนนต่อเนื่อง แม้จะถูกทางการปราบปรามอย่างหนัก โดยเฉพาะภายหลังที่กองทัพประกาศใช้กฎอัยการศึกตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2564 และทำให้ทหารมีอำนาจเต็มในการจัดการผู้ประท้วง จนถึงขณะนี้มีผู้เสียชีวิตจากการประท้วงไม่น้อยว่า 260 คน และถูกจับมากกว่า 2,600 คน
เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกับเจ้าหน้าที่ ชาวเมียนมาได้ปรับเปลี่ยนวิธีการประท้วงที่ลดการเผชิญหน้า ทั้งการเปลี่ยนเวลาเดินประท้วงเป็นช่วงเช้ามืดเนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่เจ้าหน้าที่ยังไม่ออกปฏิบัติหน้าที่ หรือการวางสิ่งกีดขวางบนถนนแทนคน
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานเมื่อวานนี้ (22 มี.ค. 2564) ระบุว่า ในพื้นที่ป่าแห่งหนึ่งในรัฐมอญทางตะวันตกของเมียนมา มีการตกแต่งต้นไม้ด้วยถุงยางอนามัยและภาพของผู้นำรัฐบาลทหาร พร้อมป้ายเขียนข้อความว่า “พ่อของมิน ออง หล่าย ควรใช้ถุงยางอนามัย”
ในเมืองเมาะลำใยผู้ประท้วงจัดเรียงตุ๊กตาของเล่นที่ถือป้ายประกาศต่อต้านรัฐบาลทหาร บนถนนเล็กๆ ซึ่งคล้ายกับการชุมนุมประท้วง ขณะที่ผู้หญิงกลุ่มหนึ่งใช้เครื่องครัวแทนที่ฝูงชน ทั้งหม้อ กระทะ จานชาม โดยที่เครื่องครัวแต่ละชิ้นมีข้อความวางอยู่ เช่น “อธิษฐานให้ประชาธิปไตยของเมียนมา” และ “ปล่อยตัวผู้นำของเรา”
อรดี อินทร์คง นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยคอร์แนล ที่ติดตามสถานการณ์การประท้วงในเมียนมา โพสต์ข้อความอธิบายรูปแบบการประท้วงด้วยการนำสิ่งของมาวางบนถนนว่า เป็นการประท้วงที่ไร้ผู้ประท้วง โดยยกตัวอย่างการนำ ตุ๊กตาล้มลุก ซึ่งเป็นของเล่นโบราณของเมียนมา ที่เป็นทั้งของที่ระลึก และอาจเห็นรูปปั้นตุ๊กตานี้ตามวัดต่างๆ
อรดี อธิบายว่า ในภาษาเมียนมาเรียกตุ๊กตานี้ว่า ပစ်တိုင်းထောင် (Pyit Taing Htaung) แปลตรงตัวมีความหมายว่า ทุกครั้งที่ขว้างไปจะยืนหยัดขึ้นมา Pyit Taing Htaung เป็นสัญลักษณ์ของความยืดหยุ่น การฟื้นตัว ความพากเพียร ไม่ยอมเลิกล้มอะไรง่ายๆ และด้วยความหมายนี้เอง ทำให้กลุ่มผู้ประท้วงใช้ Pyit Taing Htaung เป็นตัวแทนของพวกเขาเพื่อส่งเสียงออกไปว่า “แม้เราจะถูกปราบจนล้มลง แต่เราจะไม่มีวันเลิกล้มและยอมแพ้”
“การประท้วงที่ไร้ผู้ประท้วง จึงไม่ใช่การประท้วงที่ไร้จิตวิญญาณ เพราะข้าวของเหล่านี้ ไม่ใช่วัตถุที่เปล่าเปลือย ปราศจากความหมาย หากแต่มันเต็มไปด้วยจิตวิญญาณในการต่อสู้ของประชาชน ที่ต้องการออกจากขุมนรกที่เผด็จการทหารสร้างขึ้น”