ทหารเมียนมาบุกโจมตีทางอากาศรัฐกะเหรี่ยง KNU ทำชาวกะเหรี่ยงขอลี้ภัยไทย ทะลัก 3,000 คน ร้อง UN เร่งช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ป้องกันทหารเมียนมาสังหารโหด
วันนี้ (29 มี.ค. 2564) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ช่วงเช้าที่ผ่านมา ระบุถึงนโยบายของไทยในการดูแลผู้อพยพชาวเมียนมาว่า ไทยรับทราบถึงปัญหาในเมียนมา แต่ขอให้เป็นเรื่องภายในของไทยก่อน เพราะไม่อยากให้อพยพเข้ามาในพื้นที่ของไทย แต่ก็ต้องดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชน ส่วนผู้อพยพ จะมากน้อยเพียงใด ค่อยว่ากันอีกที ไม่อยากให้มีการคาดการณ์ไปล่วงหน้า ทั้งการจัดตั้งที่พักพิง ตั้งศูนย์อพยพ ซึ่งเป็นเรื่องฝ่ายความมั่นคงจะจัดเตรียมไว้
ส่วนการส่งตัวแทนเข้าร่วมงานวันกองทัพเมียนมานั้น เป็นช่องทางการทหารที่จำเป็น ที่เราต้องติดตามสถานการณ์ ก็ต้องหากลไกต่าง ๆ ในการติดตามพัฒนาการทางการเมืองของเมียนมา รวมทั้งการใช้ความรุนแรงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพราะไทยเองก็มีดินแดนติดกับเมียนมา ก็ได้รับผลกระทบด้วยกันทั้งหมด เมื่อมีการสู้รบก็มีการอพยพ
ซึ่งไทยก็ต้องเตรียมการแก้ปัญหา แต่จะทำตรงไหนอย่างไร เป็นเรื่องที่ไทยจะพิจารณาในชั้นต้นไปก่อน เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นก็ค่อยว่ากันอีกครั้ง ส่วนคาดการณ์ตัวเลขผู้อพยพมีแค่ไหนนั้น ก็ต้องเตรียมพื้นที่รองรับไว้ก่อน ส่วนจะมากหรือน้อยค่อยว่ากันอีกที
ด้าน สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานเมื่อวานนี้ (28 มี.ค.) ระบุว่า ชาวกะเหรี่ยงหลายพันคนก็ต้องหลบหนีเข้าป่า รวมทั้งลี้ภัยข้ามพรมแดนเข้าประเทศไทย หลังทหารเมียนมาบุกตีฐานที่มั่นของกองทัพสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ที่ Thee Ma Hta เมื่อเช้าวันเสาร์ (27 มี.ค.)
ขณะที่ตั้งแต่ช่วงบ่ายจนถึงกลางดึกวานนี้ เครื่องบินโจมตีของกองทัพเมียนมา ก็บุกทิ้งระเบิดหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงในเขตอิทธิพลของ KNU ริมแม่น้ำสาละวิน ใกล้พรมแดนไทย รวม 3 ครั้ง
Myanmar Now รายงานว่า การทิ้งระเบิดของทหารเมียนมา ทำให้ชาวบ้านกะเหรี่ยงในจังหวัดผ่าป่น (Hpapon) ราว 3,000 คน พากันละทิ้งบ้านเรือน หอบลูกจูงหลาน ข้ามพรมแดนเข้าประเทศไทยเพื่อหาที่หลบภัย โดยริมฝั่งแม่น้ำสาละวินติดพรมแดนไทย มีชาวกะเหรี่ยงพักพิงอยู่ในค่าย Ei Tu Hta ประมาณ 2,400 คน และตั้งบ้านเรือนริมแม่น้ำอีกประมาณ 5,000 คน
“อุทยานสันติภาพสาละวิน” ร้อง UN เร่งช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้อพยพจากรัฐกะเหรี่ยง
สำนักข่าว The Reporters รายงานวันนี้ (29 มี.ค.) อุทยานสันติภาพสาละวิน (Salween Peace Park) ในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นการรวมตัวของชุมชนในลุ่มน้ำสาละวินที่จัดตั้งพื้นที่ในการอนุรักษ์ควบคู่ไปกับการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งอยู่บนผืนป่าริมแม่น้ำสาละวิน ตรงข้าม อ.แม่สะเรียง และ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน และได้รับรางวัล Equator Prize เมื่อปี 2563
แถลงการณ์ระบุว่า จากการเข้าโจมตีทางอากาศของทหารเมียนมา เมื่อวันที่ 27 และ 28 มีนาคม พ.ศ. 2564 ทำให้มีชาวกะเหรี่ยงเสียชีวิต 7 คน และอีกประมาณ 2,500-3,000 คน กำลังขอลี้ภัยในประเทศไทย และคาดว่าสถานการณ์จะเลวร้ายลง มีผู้เสียชีวิตและการพลัดถิ่นมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาทหารเมียนมาได้เข้ามายึดครองดินแดนของบรรพบุรุษ กดขี่และกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาหลายชั่วอายุคน
ในนามชนพื้นเมืองในลุ่มน้ำสาละวิน จึงขอเรียกร้องต่อทหารพม่า ขอให้ยุติการโจมตีทางอากาศและการโจมตีในดินแดนบรรพบุรุษ ต้องย้ายค่ายทหารออกจากดินแดนบรรพบุรุษ และต้องคืนอำนาจให้กับประชาชน คืนประชาธิปไตยของรัฐบาลกลางที่รับรองความเท่าเทียมกัน และสิทธิในการตัดสินใจด้วยตนเองอย่างเต็มที่สำหรับทุกชาติพันธุ์
นอกจากนี้ แถลงการณ์ยังเรียกร้องให้มีการดำเนินการระหว่างประเทศอย่างเร่งด่วนเพื่อป้องกันการสังหารโหด เราและเรียกร้องให้มีมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเพื่อส่งต่อสถานการณ์ในพม่าไปยังศาลอาญาระหว่างประเทศเพื่อส่งหน่วยตรวจสอบไปยังพม่าทันที และกำหนดให้มีการห้ามค้าอาวุธทั่วโลกกับพม่า