เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม หรือ We Fair เปิดเวทีนำเสนองานวิจัยถามหาความเป็นไปได้ สร้างหลักประกันขั้นพื้นฐานให้กับประชาชน เตรียมสรุป 9 ชุดข้อเสนอรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ตามกรอบแนวคิด “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” เสนอต่อคณะกรรมาธิการ 9 ด้าน ขับเคลื่อนสังคมไทยสู่รัฐสวัสดิการอย่างเป็นรูปธรรม ก่อนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 สภาผู้แทนราษฎร
นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม หรือ We Fair / ผู้จัดการโครงการ คคสส. ระบุสวัสดิการอภิสิทธิ์ชน ที่มาพร้อมกับสวัสดิการสงเคราะห์ ทำให้ประชาชนเชื่องช้า และไม่ตั้งคำถามถึงสิทธิ์ที่ควรได้รับ
แม้จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเมื่อนโยบายหาเสียงของแทบทุกพรรคการเมือง ให้ความสำคัญกับการสร้างสวัสดิการสังคม แต่ที่ผ่านมา นโยบายรัฐสวัสดิการที่ฝ่ายค้าน และรัฐบาล เคยนำเสนอก็ยังไม่ถูกสานต่อ แต่คำว่า “รัฐสวัสิดการถ้วนหน้า” กลับเป็นที่รู้จักมากขึ้น เมื่อคนไทยเจอกับความมั่นคงหลายมิติในสถานการณ์ของโรคระบาดโควิด-19 และความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่คนรุ่นใหม่ และประชาชนบางส่วนออกมาสนับสนุน แนวทางการสร้างรัฐสวัสดิการให้กับสังคมไทย โดยล่าสุดพบว่า ร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ ที่มาจากการรวบรวมรายชื่อของประชาชนมากกว่า 13,000 รายชื่อ และร่างกฎหมายลักษณะเดียวกันจากพรรคการเมืองก็ถูกตีตก โดยนายกรัฐมนตรี รวม 5 ฉบับ ตามอำนาจที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ให้อำนาจไว้ในมาตรา 134 กรณีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงินต้องผ่านความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรี
เหตุผลข้างต้จ จึงเป็นที่มาที่เครือข่ายภาคประชาชนจัดทำชุดข้อมูล V.2 ผ่านเวทีเสวนา “จินตนาการสู่สังคมไทยเสมอหน้า” ข้อเสนอนโยบายการเข้าถึงสวัสดิการสังคมและสุขภาวะ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2564 โดยมีตัวแทนจากนักวิจัย, นักเศรษฐศาสตร์, ตัวแทนเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ, นักวิชาการ, แรงงานนอกระบบ-ในระบบ, ผู้สูงอายุ, คนพิการ, ข้าราชกระทรวง พม. ฯลฯ รวมนำเสนองานวิชาการ และถกเถียงความเป็นไป ที่มาของเงิน ก่อนนำเสนอ คณะกรรมการธิการในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการสังคม โดยประกอบด้วย 9 ประเด็นสำคัญ คือ 1) เงินสนับสนุนเด็กและเยาวชน 2)การศึกษา 3) สุขภาพ 4) ที่อยู่อาศัยและที่ดิน 5) งานรายได้ 6) ประกันสังคม 7) ระบบบำนาญถ้วนหน้า 8) สิทธิทางสังคมพหุวัฒนธรรม ประชากรกลุ่มเฉพาะ และ 9) ปฏิรูประบบภาษี โดยมีรายละเอียดของกลุ่มผู้ได้รับประโยชน์แต่ละส่วนของสังคมประกอบด้วย
1) เงินสนับสนุนเด็กและเยาวชน
แนวคิดจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน จำเป็นที่รัฐจะต้องมีงบประมาณสนับสนุน ดูแลประชากรตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา อันดับแรกต้องมีสวัสดิการให้เด็กและเยาวชนได้รับการพัฒนาที่เหมาะสมตามแต่ละช่วงวัย โดยมีข้อเสนอดังนี้
- เงินสนับสนุนเด็ก และเยาวชน 0-8 ปี โดยใช้เกณฑ์เส้นความยากจน
- เงินสนับสนุนเด็ก และเยาวชน 19-22 ปี เพื่อเป็นเงินอุดหนุน สำหรับการเรียนมหาวิทยาลัย โดยใช้เกณฑ์เส้นความยากจน
- ศูนย์รับเลี้ยงดูเด็ก 0-3 ขวบ
โดยมีกลุ่มเด็กแรก-18 ปี จำนวน 15 ล้านคน และผู้ศึกษาในระดับหลังการศึกษาภาคบังคับ 1.8 ล้านคน รวมประมาณ 17 ล้านคน หรือร้อยละ 25 ของประชากรทั้งประเทศ นอกจากนี้ ยังมีผู้ปกครองชุมชน และเศรษฐกิจระดับฐานรากที่จะได้กำลังซื้อจากชุมชนเพิ่มขึ้น
2) ด้านการศึกษา
แม้ไทยจะมีรัฐธรรมนูญ 40 ที่นำมาสู่การประกาศใช้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ปี 2542 โดยจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานฟรีไม่น้อยกว่า 12 ปี แต่ในข้อเท็จจริงประชาชนก็ยังมีภาระค่าใช้จ่ายรวมกว่า 2 แสนล้านบาท เฉลี่ยปีละ 11,330 บาทต่อคน โดยครัวเรือนยากจนแบบรับภาระด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษา 22% ของรายได้ สูงกว่าครัวเรือนที่มีฐานะร่ำรวยที่รับภาระ 6% ของรายได้ ขณะที่ระดับอุดมศึกษามหาวิทยาลัยก็ทยอยปรับบทบาทเป็นธุรกิจการศึกษามากขึ้น ทางเครือข่ายฯ จึงมีข้อเสนอ
- การศึกษาระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ไม่เก็บค่าใช้จ่าย
- การศึกษาระดับอุดมศึกษา ไม่เก็บค่าใช้จ่าย มีการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐาน การควบคุมค่าหน่วยกิจสู่การเรียนฟรี ระดับมหาวิทยาลัย/ปวส.
- เงินสนับสนุนการสร้างการเรียนรู้ และการพัฒนาศักยภาพในหลักสูตรที่รัฐกำหนด ตามช่วงวัยของประชากร
กลุ่มที่ได้รับประโยชน์โดยตรง คือเด็กแรกเกิด-18 ปี จำนวน 15 ล้านคน และผู้ศึกษาในระดับหลังการศึกษาภาคบังคับประมาณ 1.8 ล้านคน รวมทั้งสิ้น 17 ล้านคน ทำให้การตกหล่น หลุดออกจากระบบการศึกษาภาคบังคับจากปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็น 0
3) สุขภาพ
สถานการณ์ปัจจุบัน จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ระบบหลักประกันสุขภาพทำให้ครัวเรือนยากจน จากค่ารักษาลดลงต่อเนื่องจากร้อยละ 2.01 ในปี 2545 อยู่ที่ร้อยละ 0.24 ในปี 2560 ในขณะที่งบประมาณปี 2561 คิดเป็นร้อยละ 6.05 สะท้อนถึงการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีความเหลื่อมล้ำ และเข้าไม่ถึงการรักษาระบบหลักประกันสุขภาพ สาเหตุสำคัญประการหนึ่งมาจากการกำหนดให้สวัสดิการข้าราชการฯ คลอบคลุมการจ่าย “ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ” และ “ยานอกบัญชีหลักแห่งชาติ” ในขณะที่ สิทธิการรักษาพยาบาลจากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และประกันสังคม ครอบคลุมเฉพาะยาในบัญชียาหลักเท่านั้น จึงมีข้อเสนอ
- กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าระบบเดียวที่มีคุณภาพสูง
- งบประมาณด้านสุขภาพ คิดตามรายหัวประชากร 8,000 บาท/คน/ปี
การปรับงบประมาณการรักษาพยาบาล 3 กองทุน ได้แก่ ระบบหลักประกันสุขภาพ ระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการข้าราชการให้เป็น 8,000 บาท/คน/ปี หรือประมาณ 3.75% ของ GDP จะทำให้การรวมกองทุนสามารถเกิดขึ้นได้ ในเงื่อนไขที่เศรษฐกิจของประเทศมีการเติบโต และผู้คนมีสุขภาพที่ดีมากขึ้น แม้การคำนวณผลได้ทางเศรษฐกิจจากนโยบายทางด้านการสาธารณสุขทำได้ค่อนข้างยาก แต่สามารถระบุตัวชี้วัดสำคัญคือ ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของครัวเรือนลดลงร้อยละ 1, การล้มละลายจากการรักษาพยาบาลเป็นศูนย์, ความเหลื่อมล้ำการรักษาพยาบาลหายไป คนที่มีรายได้สูง และคนที่มีรายได้น้อยของประเทศสามารถเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาลได้เท่าเทียมกัน
4) ที่อยู่อาศัยและที่ดิน
คนจนเมืองมีรายได้ต่ำ คนชั้นกลางรายได้ปานกลางไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ ขณะที่ภาพรวมของที่ดินคนไทยร้อยละ 90 ถือครองที่ดินไม่เกิน 1 ไร่ ส่วนที่เหลือถือครองมากกว่า 100 ไร่ ส่วนที่ดินที่มีผู้จับจองร้อยละ 70 ถูกปล่อยทิ้งให้รกร้าง ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือ ใช้ไม่เต็มที่ จึงมีข้อเสนอจากภาคประชาชน ดังนี้
- การเข้าถึงระบบสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ดอกเบี้ยไม่เกิน 2% โดยคำนึงถึงประชากรกลุ่มเฉพาะ
- ที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนในพื้นที่ตำบลละไม่น้อยกว่า 1,000 ห้อง
- ครัวเรือนเกษตรกรต้องเข้าถึงที่ดินที่ทำกินเพื่อเกษตร 15 ไร่ต่อครอบครัว
- การเข้าถึงระบบสินเชื่อเพื่อที่ดินการเกษตรโดยคำนึงถึงประชากรกลุ่มเฉพาะ
- การกระจายการถือครองที่ดิน ด้วยระบบภาษีอัตราก้าวหน้า ธนาคารที่ดิน โฉนดชุมชน การปฏิรูปที่ดิน การนำที่ดินของรัฐมาให้ประชาชนใช้ประโยชน์ ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง
การสร้างที่อยู่อาศัย 7,000,000 หน่วย รองรับประชาชนได้มากกว่า 10 ล้านคน ลดค่าใช้จ่ายในการเช่าที่อยู่อาศัยได้ร้อยละ 70 ของค่าใช้จ่ายในตลาด, การจัดเก็บภาษีที่ดิน ทำให้เกิดการกระจายรายการถือครองที่ดินและราคาที่ดินอยู่ในระดับเพื่อการเป็นมูลค่าใช้สอยมากกว่ามูลค่าแลกเปลี่ยน, ค่าใช้จ่ายในการผ่อนบ้านลดลง 45% จากดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี กล่าวคือบ้านราคา 1 ล้านบาท จากการผ่อน เดือนละ 6,000-7,000 บาท จะลดลงเหลือ 3,500 บาท/เดือน ทำให้ผู้คนเป็นเจ้าของบ้านของตัวเองได้ง่ายขึ้นและทำให้การเข้ารับสิทธิ์ที่อยู่อาศัยของรัฐน้อยลง
5) งานรายได้ ข้อเสนอคือ
- ค่าจ้างขั้นต่ำ 500 บาท/วัน ให้ปรับขึ้นทุกปี ตามอัตราเงินเฟ้อ
- ค่าจ้างแรงงานให้ปรับขึ้นตามอายุงาน และปรับเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าปีละ 2%
- การลาคลอด 180 วัน ใช้ร่วมกันได้ทั้งชาย หญิง และทุกเพศสภาพ โดยได้รับค่าจ้างปกติ
โดยผู้ได้รับผลประโยชน์ คือผู้ที่รับค่าจ้างขั้นต่ำในตลาดแรงงาน ประมาณ 10 ล้านคน, แรงงานที่อยู่ในระบบการจ้างงานอย่างเป็นทางการ ประมาณ 10 ล้านคน, แรงงานนอกระบบมีหลักประกันยามเกษียณที่สามารถใช้ชีวิตได้จริงมากกว่า 20 ล้านคน
6) ประกันสังคม
สถานการณ์ปัจจุบันพบว่า แรงงานนอกระบบและแรงงานที่ประกอบอาชีพอิสระขาดการคุ้มครองทางสังคม มากกว่าร้อยละ 70 ขาดหลักประกันการทำงานและรายได้ ทำงานหนัก ไม่มีรายได้ที่แน่นอน ได้รับค่าจ้างเฉลี่ยต่ำกว่าแรงงานในระบบประมาณ 2.2 เท่า ไม่มีค่าใช้จ่ายยามเกษียณที่เพียงพอ เข้าสู่ระบบประกันสังคม ม.40 เพียง 2.24 ล้านคน แม้คนกลุ่มนี้จะได้รับการคุ้มครองจากระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ยังขาดหลักประกันชราภาพ และหลักประกันการว่างงาน ระบบประกันสังคมจะต้องมีการปฏิรูปให้เป็นประกันสังคมถ้วนหน้า ครอบคลุมคนทำงานทุกกลุ่ม การพัฒนาสิทธิประโยชน์ การดูแลคุณภาพชีวิตให้ประกันสังคมเติบโตขึ้น และดูแลคนได้อย่างตรงจุด ข้อเสนอประกอบด้วย
- ปฏิรูประบบประกันสังคมเป็นประกันสังคมถ้วนหน้า ครอบคลุมคนทำงานทุกกลุ่ม พัฒนาสิทธิประโยชน์เท่าเทียม
- แรงงานในระบบขยายเพดานเงินสมทบประกันสังคม สูงสุด 3,000 บาท/เดือน จากฐานเงินเดือน 30,000 บาท
- ปฏิรูประบบประกันสังคมแรงงานนอกระบบ สร้างหลักประกันเงินบำนาญเมื่อเกษียณอายุ
- การว่างงานให้ประกันสังคมจ่ายเงินชดเชยทุกกรณี การเลิกจ้าง ลาออก ไล่ออก จำนวน 80% ของฐานเงินเดือน เป็นเวลา 6 เดือน เมื่อพ้นจากการลงทะเบียนว่างงานประกันสังคม 6 เดือน ให้ได้รับค่าจ้างรายวันเท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำ จนกระทั่งได้งานใหม่ โดยต้องเข้ารับการฝึกอบรมและสัมภาษณ์งาน และเริ่มงานใหม่ภายใน 3 เดือน
ผู้ได้รับประโยชน์ คือ แรงงานที่อยู่ในระบบการจ้างงานอย่างเป็นทางการ ประมาณ 10 ล้านคน, แรงงานนอกระบบมีหลักประกันยามเกษียณที่สามารถใช้ชีวิตได้ มากกว่า 20 ล้านคน, สามารถวางแผนชีวิตหลังเกษียณ หรือการวางงานได้ดีขึ้น และสร้างความยืดหยุ่นในตลาดแรงงาน
7) ระบบบำนาญถ้วนหน้า
- เปลี่ยนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจาก 600 – 1,000 บาทต่อเดือน เป็น “บำนาญถ้วนหน้า” เพื่อเป็นหลักประกันทางรายได้ โดยใช้เกณฑ์เส้นความยากจนโดยเฉลี่ยของประเทศ
- ปรับเงินบำนาญเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ และดัชนีผู้บริโภค
- รัฐบาลจ่ายตรงให้แก่ประชาชนผ่านกรมบัญชีกลาง
ผู้ได้รับประโยชน์ คือ ผู้สูงอายุ 9-10 ล้านคน, ผู้สูงอายุใช้สิทธิ์บำนาญถ้วนหน้าร่วมกับสิทธิประกันสังคม, ลดการพึ่งพาประชากรวัยแรงงานจากร้อยละ 80 ให้เหลือร้อยละ 30 ภายใน 5 ปี
8) สิทธิทางสังคมพหุวัฒนธรรม ประชากรกลุ่มเฉพาะ
- เพิ่มเบี้ยยังชีพคนพิการ จาก 800 บาท/เดือน โดยใช้เกณฑ์เส้นความยากจนเฉลี่ย
- คนพิการมีอิสระจัดซื้ออุปกรณ์ตามวงเงินที่รัฐจัดให้ เพื่อการดำรงชีวิตได้อิสระ คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เอื้ออำนวยการเข้าถึงและจัดให้มีผู้ช่วยคนพิการ ความสะดวกในการเดินทาง การบริการสาธารณะ
- คนพิการได้รับเงินสนับสนุนการอบรมอาชีพในหลักสูตรที่รัฐกำหนด ไม่จำกัดเฉพาะอาชีพที่รัฐกำหนดให้เท่านั้น
- ประชาชนทุกเพศสภาพต้องเข้าถึงรัฐสวัสดิการ และสิทธิการรักษาพยาบาล ตลอดจนกระบวนการการข้ามเพศถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยไม่ถือเป็นเรื่องสวยงาม
- พนักงานบริการทางเพศต้องเข้าถึงรัฐสวัสดิการ โดยไม่นำความผิดทางอาญามาเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงสวัสดิการ และทบทวนกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงสวัสดิการ
- ชนเผ่าพื้นเมือง ผู้มีปัญหาสถานะบุคคล ไม่จำกัดเฉพาะบุคคลที่มีสัญชาติไทย ดำรงชีวิตโดยได้รับการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ต้องเข้าถึงรัฐสวัสดิการ การเข้าถึงบริการสาธารณะ การรักษาพยาบาล ชนเผ่าพื้นเมืองต้องเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การเอื้ออำนวยให้มีล่าม และการแปลภาษาชนเผ่าพื้นเมือง สิทธิในที่ดิน และที่อยู่อาศัย
- ทบทวนหรือยกเลิกหลักสูตรการเรียนการสอน เนื้อหาข่าวสาร ภาพยนตร์ ที่สร้างให้เกิดอคติ ความเกลียดชัง เหยียดเชื้อชาติ เพศสภาพ สถานะทางชนชั้น ลักษณะทางกายภาพของบุคคล และพัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างการเรียนรู้ประชาธิปไตย ตามหลักการสิทธิมนุษยชน สิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
- สร้างพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด เพื่อสร้างการเรียนรู้ ประวัติศาสตร์ชุมชนท้องถิ่น สิทธิพลเมือง สิทธิมนุษยชน
- สร้างสวนสาธารณะ หอศิลปวัฒนธรรม ลานกีฬา เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนชุมชน
ผู้ได้รับประโยชน์ และผลที่เกิดขึ้นกับคนพิการประมาณ 2 ล้านคน มีหลักประกันทางรายได้ มีอาชีพหลากหลาย และมีอิสระในชีวิตมากขึ้น, การเข้าถึงสวัสดิการสังคมขั้นพื้นฐานของประชากรกลุ่มเฉพาะต่าง ๆ โดยที่การเลือกปฏิบัติต้องเป็นศูนย์, รัฐสวัสดิการวางอยู่บนฐานสิทธิมนุษยชน สลายความเป็นพลเมืองที่ยึดติดกับรัฐชาติ เพศสภาพ วัฒนธรรม ชาติพันธ์ รวมถึงความสามารถในการทำงาน ตัวชี้วัดความสำคัญของรัฐสวัสดิการคือ การนับรวมมนุษย์เข้าถึงระบบสวัสดิการโดยมีการแบ่งแยกน้อยที่สุด
9) ปฏิรูประบบภาษี
ประเทศไทยมีปัญหาสำคัญคือ ระบบฐานภาษีที่ผู้ยื่นภาษีมีจำนวนน้อย ประมาณร้อยละ 30 ของวัยทำงาน และการจัดเก็บภาษีทางตรงทำได้น้อย ในขณะที่การสร้างรัฐสวัสดิการมีหัวใจสำคัญ คือ ภาษีทางตรงอัตราก้าวหน้า เพื่อให้รัฐสวัสดิการมีความยั่งยืน ไม่อิงกับการเติบโต และหดตัวของระบบเศรษฐกิจ ข้อเสนอคือ
ประเทศไทยมีปัญหาสำคัญคือ ระบบฐานภาษีที่ผู้ยื่นภาษีมีจำนวนน้อย ประมาณร้อยละ 30 ของวัยทำงาน และการจัดเก็บภาษีทางตรงทำได้น้อย ในขณะที่การสร้างรัฐสวัสดิการมีหัวใจสำคัญ คือ ภาษีทางตรงอัตราก้าวหน้า เพื่อให้รัฐสวัสดิการมีความยั่งยืน ไม่อิงกับการเติบโต และหดตัวของระบบเศรษฐกิจ ข้อเสนอคือ
- ลดสิทธิประโยชน์การส่งเสริมการลงทุน BOI จำนวน 240,000 ล้านบาท
- ปรับปรุงการลดหย่อนและการยกเว้นภาษี จำนวน 100,000 ล้านบาท
- ภาษีผลได้จากทุน (Capital Gain Tax : CGT ภาษีผลได้จากทุน คือภาษีที่เก็บจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าของสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์ รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ สังหาริมทรัพย์) และกำไรจากซื้อขายหุ้น 30% จำนวน 150,000 ล้านบาท
- ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า ส่วนเกิน 10 ไร่ (ยกเว้นที่ดินเกษตร 20 ไร่) เริ่มต้นไร่ละ 2,000 บาท/ปี เนื่องจากที่ดินกว่า 75 ล้านไร่ กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มผู้ถือครองที่ดินประมาณ 3 ล้านคน ประมาณการ 150,000 ล้านบาท
- ภาษีมรดกปรับอัตราขั้นต่ำ/เก็บสูงขึ้น 10,000-50,000 ล้านบาท
- ภาษีเงินได้อัตราก้าวหน้า 45% (ปัจจุบัน 35%) 50,000 ล้านบาท
- ปรับลดงบประมาณกลาโหม ประมาณการ 180,000 ล้านบาท
- บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประมาณการ 40,000 ล้านบาท
- บำนาญข้าราชการ ประมาณการ 220,000 ล้านบาท
- ค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ ประมาณการ 63,000 ล้านบาท
- ประชาชนยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พัฒนาฐานข้อมูลรายได้ งบประมาณทั้งหมด 1.5 ล้านล้านบาท
รวมงบประมาณจากการปฏิรูประบบภาษีรวม 1.453 ล้านล้านบาท
เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม หรือ We Fair ระบุว่า ข้อเสนอ 9 ชุดนี้เป็นชุดที่ปรับแก้ไข โดยยังคงเน้นข้อเสนอเร่งด่วน เริ่มจากการมีหลักประกันให้กลุ่มเด็กและเยาวชน แรงงาน ผู้สูงอายุ และกลุ่มคนที่มีความเปราะบาง ซึ่งในเวทีเสวนาทางวิชาการ (ที่จัดขึ้นช่วง 3-4 เม.ย. 2564) ครั้งนี้ ยังได้ขยายการศึกษาความเป็นไปได้ในเรื่องของเงินรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า หรือ UBI ซึ่งกำลังเป็นแนวทางที่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้สังคมเห็นภาพของความเหลื่อมล้ำ และความไม่มั่นคงในชีวิตของผู้คน ซึ่งต้องมีมาตรการทางสังคมที่เข้ามารองรับมากกว่าแค่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพียงอย่างเดียว
โดยแต่ละชุดข้อเสนอจะแยกส่งต่อให้กับ คณะกรรมาธิการฯ แต่ละด้าน ศึกษาและพิจารณาต่อ คู่ขนานกับการพูดคุยถึงแนวทางปฏิรูประบบภาษี เตรียมความพร้อมก่อนสภาฯ เปิด
ระหว่างนี้ เครือข่ายสลัม 4 ภาค และเครือข่ายรัฐสวัสดิการ เตรียมยื่นเจตจำนงสำคัญ ถึง ครม. ว่า นายกรัฐมนตรี ควรรับรอง ร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุฯ และนำเข้าสู่การพิจารณาในระบบรัฐสภาฯ ต่อไป ในวันที่ 7 เมษายนนี้ คงต้องรอติดตามว่า 9 ชุดข้อเสนอ จะนำไปสู่แนวทางการจัดรัฐสวัสดิการให้กับประชาชนได้ทัน การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 สภาผู้แทนราษฎรหรือไม่