“We Fair” ขอรัฐอัดงบฯ 68 ยกระดับสวัสดิการประชาชน 4 เรื่องเร่งด่วน

เครือข่าย We Fair ขอรัฐมีเจตจำนงให้เหมือนการทำดิจิทัลวอลเล็ต อัดฉีดงบปี 68ฯ ยกระดับสวัสดิการประชาชน 4 ประเด็นเร่งด่วน ด้าน ‘เพื่อไทย’ ยันพร้อมหนุน แต่ต้องค่อยเป็นค่อยไป เชื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจะทำให้เก็บภาษีได้มากขึ้น ดันไทยสู่รัฐสวัสดิการได้สำเร็จ

วันนี้ (27 ก.ค. 2567) ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) ขอรัฐบาลให้เจตจำนง ทำสวัสดิการประชาชน 4 ประเด็นเร่งด่วน เหมือนทำดิจิทัลวอลเล็ต 

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ เครือข่าย We Fair เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาเครือข่ายได้เจรจากับภาครัฐมาโดยตลอด และในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ได้เจรจาขอเพิ่มเงินอุดหนุนสวัสดิการประชาชน 4 ประเด็น กับ ภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้มอบหมายให้ ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการพิจารณาเห็นชอบการขับเคลื่อนสวัสดิการดังกล่าว โดยมีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ (พม.) เข้าร่วมประชุมด้วย และในที่ประชุมดังกล่าวมีมติเห็นชอบแล้ว  

สำหรับสวัสดิการประชาชน 4 ประเด็นดังกล่าว ถือเป็นหนึ่งใน “ชุดข้อเสนอถ้วนหน้าจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” แม้จุดยืนของเครือข่ายตั้งใจยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้เหนือเส้นความยากจน แต่ด้วยความเข้าใจในข้อจำกัดของงบประมาณและบริบทสังคมในปัจจุบัน จึงมีข้อเสนอให้จัดทำเรื่องเร่งด่วนดังต่อไปนี้

  • เงินอุดหนุนเด็กเล็ก จากแบบสงเคราะห์ ปรับให้เป็นถ้วนหน้าในอัตรา 1,000 บาท เด็ก 3.2 ล้านคนจะได้ประโยชน์ ใช้งบประมาณ 6 พันกว่าล้านบาท คิดเป็น 0.12% ของ GDP ไทย
  • เบี้ยผู้พิการ จาก 800 บาท ปรับให้เป็น 1,000 บาท คนพิการ 2 ล้านคน จะได้รับประโยชน์ ใช้งบประมาณ 2 พันล้านบาท 
  • เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จากสงเคราะห์ ปรับเป็นถ้วนหน้าในอัตรา 1,000 บาท ผู้สูงอายุประมาณ 12 ล้านคนจะได้รับประโยชน์ ใช้งบประมาณ 4 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 0.41% ของ GDP ไทย
  • เงินอุดหนุนสตรีมีครรภ์เดือน 5-9 เดือนละ 3,000 บาท 4.7 แสนคน ใช้งบประมาณ 7 พันล้านบาท

รวมแล้วทั้งหมดจะใช้งบประมาณ 5.9 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 1 ใน 8 ของงบประมาณในการจัดทำดิจิทัลวอลเล็ต และจะมีประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 17 ล้านคน ดังนั้นแล้วถ้ารัฐบาลมีเจตจำนง การขับเคลื่อนสวัสดิการประชาชนใน 4 ประเด็นเร่งด่วนนี้ ส่วนตัวเชื่อว่าไม่ยาก

นิติรัตน์  ทรัพย์สมบูรณ์

เมื่อพูดถึงดิจิทัลวอลเล็ต หลายคนมองว่านโยบายนี้กลับคืบหน้าได้รวดเร็วกว่า สวัสดิการของประชาชนที่พยายามขับเคลื่อนมาโดยตลอด ซึ่ง ทพญ.ศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ชี้แจงว่า ดีเอ็นเอของพรรคเพื่อไทยคือประชาชน ยืนยันว่าไม่ได้นิ่งนอนใจในการขับเคลื่อนสวัสดิการประชาชนแน่นอน เพียงแต่สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 เราจึงมองว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเศรษฐกิจที่ขยายตัวจะช่วยให้รัฐเก็บภาษีได้เพิ่มมากขึ้น ถึงวันนั้นอยากจะมีสวัสดิการในรูปแบบไหน ก็สามารถทำได้

“เรากำลังค่อย ๆ ทำสวัสดิการประชาชน เพียงแต่ตอนนี้อาจไม่ถูกใจประชาชนที่รอคอย ในการจัดสรรงบประมาณ ที่จริงแล้วของปี 2567 รัฐบาลไม่ได้ใช้เลย เราจึงเร่งพัฒนาเศรษฐกิจ ส่วนการจะนำงบกลางมาขับเคลื่อนสวัสดิการประชาชนใน 4 ประเด็นเร่งด่วน เราคงอนุมัติตามความฉุกเฉิน ซึ่งเราก็จำเป็นต้องเก็บบางส่วนนำไว้ใช้ในเรื่องเร่งด่วน อย่างการแก้ปัญหาน้ำท่วม ก็ต้องขอความเห็นใจด้วย”

ทพญ.ศรีญาดา ปาลิมาพันธ์

Policy Forum ชวนถก สวัสดิการสังคมแบบไหน? ทำให้คนไทยเท่ากัน

นอกจากนี้ วงเสวนาในงาน Welfare State Dialogue 2024 ยังมีนักวิชาการ และผู้ขับเคลื่อนข้อเสนอสวัสดิการเชิงนโยบาย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงความท้าทายในการพัฒนารัฐสวัสดิการของไทย

รศ.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำสูง สังเกตเห็นได้ว่าคนมีเศรษฐานะดีจะมีโอกาสในการยกระดับคุณภาพชีวิตตัวเองได้ดีกว่าคนมีรายได้น้อย ไม่ว่าจะเป็นการมีโอกาสในการถือครองที่ดินได้มากกว่า แตกต่างถึง 878 เท่าเมื่อเทียบสัดส่วนกลุ่มคนจนสุดและรวยสุด โอกาสในการมีเงินฝากในบัญชีเกินกว่า 50,000 บาท ไปจนถึงการเข้าถึงการศึกษาเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกันความมั่งคั่งของอภิมหาเศรษฐี 40 อันดับแรกของไทย ก็คิดเป็น 1 ใน 4 GDP ของประเทศแล้ว

แม้ที่ผ่านมารัฐบาลจะสร้างสวัสดิการประชาชนมุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือคนยากจน อย่างเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด เบี้ยผู้พิการ และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่ก็ยังมีคนตกหล่นจากเกณฑ์การคัดกรอง

ด้าน ผศ.ธร ปีติดล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองเช่นเดียวกันว่า ประเทศไทยมีสวัสดิการหลายตัว แต่ไม่ได้หมายความว่าดีพอ

“ที่สวัสดิการไทยยังไม่ได้ไปไกลเท่าไรต้องเข้าใจก่อนว่า สวัสดิการ เกิดขึ้นได้จาก 2 ส่วน คือพลังของรัฐหรือพลังการมีส่วนร่วม ซึ่งของไทยเรามาจากพลังของรัฐ แต่สวัสดิการเมื่ออยู่กับรัฐจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือให้ ผู้นำดูทรงธรรม สวัสดิการจึงยากที่พลังจากสังคมจะเป็นตัวกำหนดว่าสวัสดิการจะเป็นหน้าตาอย่างไร”

ส่วนการที่รัฐมองว่าเศรษฐกิจตอนนี้ไม่ดีจึงต้องฟื้นฟูเรื่องปากท้องก่อน แต่ในมุมมองเศรษฐศาสตร์มองว่า เศรษฐกิจตอนนี้ซึมมายาวแล้ว ซึ่งเกิดมาจากจากปัญหาเชิงโครงสร้างเพราะละเลยทุนมนุษย์ การกระตุ้นเศรษฐกิจอาจทำให้เห็นตัวเลขก้าวกระโดดก็จริง แต่ในระยะยาวอาจไม่เป็นแบบนั้น 

จึงอยากให้ปรับแนวคิดใหม่ว่า โจทย์เศรษฐกิจกับเรื่องสวัสดิการเป็นเรื่องเดียวกัน ถอนความกังวลใจเรื่องงบประมาณออก เชื่อว่าเราจะขับเคลื่อนสวัสดิการประชาชนได้มากขึ้น แล้วเรื่องเศรษฐกิจจะตามมาเอง

ด้าน เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center มองด้วยว่า ปัจจุบันงบประมาณเราขาดดุลจริง และคนมองว่ารายจ่ายสวัสดิการ เป็นรายจ่ายที่ยากต่อการลดทอน  แต่ “คน” เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องลงทุนเพื่อสร้างผลิตภาพของประเทศ

ตอนนี้สิ่งที่ทำได้ก่อนคือ การขับเคลื่อนสวัสดิการ 4 ประเด็นข้างต้น โดยเฉพาะ “เงินอุดหนุนเด็ก” ด้วยสัดส่วนของเด็กส่วนมากเติบโตในครอบครัว 40% ด้านล่างของประเทศ การผลักดันเรื่องนี้จะช่วยแก้ปัญหาเด็กเกิดน้อยผู้สูงอายุล้น พร้อมเห็นด้วยว่าตัวเลข 6 หมื่นล้านที่เครือข่าย We Fair เสนอไปสมเหตุสมผลที่รัฐบาลจะเริ่มต้นในปีแรกของการทำงาน

ทั้งนี้ คำรับปาก 4 ประเด็นจะเป็นจริงได้หรือไม่ ขอให้ช่วยกันติดตามดูคำของบประมาณของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าได้เสนอเข้าสภาฯ หรือไม่ และอีกเรื่องคือการจัดสรรนั้นยังเป็นแบบเฉพาะกลุ่มครอบครัวผู้มีรายได้น้อย หรือถ้วนหน้า 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active