ศาลปกครองเชียงใหม่ สั่ง คกก.สิ่งแวดล้อมฯ ประกาศ 4 จังหวัดเหนือ เป็นเขตควบคุมมลพิษ ใน 30 วัน

คดีตัวอย่าง ชาวบ้านหางดง จ.เชียงใหม่ ร้องศาล หลังเดือดร้อนหมอกควันไฟป่านานนับเดือน จนนำไปสู่การยกระดับมาตรการ แก้ปัญหาหมอกควัน และฝุ่นพิษ ในพื้นที่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน เตรียมพร้อมแผนรับมือในอนาคต ด้าน ทส.เตรียมอุทธรณ์คำพิพากษา ยืนยันปีนี้เดินหน้าลดจุดความร้อนเกินเป้าที่วางไว้

เมื่อวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา ศาลปกครองเชียงใหม่ มีคำพิพากษาตามคดีหมายเลขดำที่ ส.1/2564 คดีหมายเลขแดงที่ ส.1/2564 พิพากษาให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ใช้อำนาจตามมาตร 59 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2435 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดให้เขตท้องที่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และแม่ฮ่องสอน เป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อดำเนินการควบคุม ลด และขจัดมลพิษให้ประกาศภายใน30 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

อ่านเพิ่มเติมคำพิพากษา :
https://www.mediafire.com/file/wfyru3q8c3uwuk2/AdminEnviJudgeCMcourt8apr2564.pdf/file

คดีนี้ผู้ฟ้องคือ ภูมิ วชร เจริญผลิตผล ชาวตำบลบ้านปง อ.หางดง จ.เชียงใหม่  ฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กรณีที่ได้รับความเดือดร้อนจากไฟป่าในเขตพื้นที่หลายจังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทยเป็นเวลาต่อเนื่องประมาณ 1 เดือน จนเกิดหมอกควันหนามีปริมาณเกินมาตรฐานที่กฎหมายและระเบียบกำหนดไว้หลายจังหวัด เป็นอันตรายต่อสุขภาพและประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ ต้องใช้อำนาจตามกฎหมาย ประกาศให้พื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะ 4 จังหวัดที่ มีปริมาณค่าฝุ่นอยู่ในระดับเกินค่ามาตรฐาน เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ เป็นเขตควบคุมมลพิษ  แต่ผู้ถูกฟ้องมิได้ดำเนินการดังกล่าว อันเป็นการละเลยหน้าที่ จึงยื่นต่อศาลทางอิเล็กทรอนิกส์เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564 

ข้อมูลที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย และลำพูน รวมถึงสาธารณสุขทั้ง 4 จังหวัด  ชี้แจงต่อศาลปกครองฯ สรุปได้ว่า ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5  มีสาเหตุมาจาการการเผาป่า การเผาในที่โล่ง ควันจากรถยนต์ ส่งผลให้เกิดหมอกคัวนปกคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง กระทบต่อทางเดินหายใจ ทำให้ระคายเคืองแสบตา โดยหมอกควันดังกล่าวเกิดจากการะทำของมนุษย์ และควันไฟที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน เกิดขึ้นประจำทุกปีตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงเมษายน การดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองดังกล่าว ยังขาดหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ขาดการบูรณาการแผนอย่างเป็นระบบ หลายหน่วยงานทำงานซ้ำซ้อน ขาดงบประมาณในการสนับสนุนดำเนินการ ไม่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และขาดหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพเพื่อติดตามการปฏิบัติงานการรวบรวมข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ประเมินผล 

ขณะที่แผนการแก้ไขปัญหาของแต่ละจังหวัด ยังพบว่ามีแนวทางไม่แตกต่างกัน แต่ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ จึงเห็นว่า ควรยกระดับจากจังหวัดสู่ความรับผิดชอบในระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของหัวหน้าหน่วยงานในระดับภูมิภาค  การประกาศเขตควบคุมมลพิษจะส่งผลดีต่อประโยชน์ส่วนรวมและคุ้มครองประโยชน์สาธารณะมากกว่าที่จะเกิดความเสียหายแก่ระดับบุคลหรือเศรษฐกิจ


การที่ผู้ถูกฟ้องคดีชี้แจงว่าสถานการณ์ดังกล่าวสามารถที่จะใช้วิธีการอื่นได้โดยไม่ต้องประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ เป็นข้ออ้างที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและไม่สมเหตุสมผล จึงเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการละเลยหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดในทางปฏิบัติ  ศาลปกครองเชียงใหม่ จึงพิพากษาให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ดำเนินการประกาศให้ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แม่ฮ่องสอน เป็นเขตควบคุมมลพิษภายใน 30 วัน เตรียมแผนและดำเนินการตามระเบียบอำนาจตามประกาศเพื่อแก้ไขสถานการณ์รองรับในอนาคต


ส่วนกรณีที่ผู้ฟ้องคดีขอวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาโดยขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีกำหนดมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบใน 4 จังหวัด นับแต่วันที่ศาลได้รับคำฟ้องจนคำพิพากษาถึงที่สุด ศาลยกคำฟ้อง


ทส.เตรียมยื่นอุทธรณ์ประกาศเขตควบคุมมลพิษ 4  จังหวัดเหนือ

ด้าน จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ได้รับทราบคำสั่งของศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นการพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเคารพตามคำตัดสินของศาลดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามในกรณีนี้ กระทรวงฯ จำเป็นต้องดำเนินการอุทธรณ์ต่อคำพิพากษาดังกล่าว

เนื่องจากการประกาศให้พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นเขตควบคุมมลพิษ เป็นดุลพินิจของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ อีกทั้งยังมีความละเอียดอ่อนทั้งในด้านของการพิจารณาถึงการแก้ไขปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นในพื้นที่ การจัดทำแผนปฏิบัติการและการบริหารจัดการหลังการประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ รวมไปจนถึงการคำนึงถึงผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของพื้นที่ที่จะประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษอีกด้วย

จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)


สำหรับการยื่นอุทธรณ์ครั้งนี้ เพื่อให้กระทรวงฯ ได้มีโอกาสให้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ถึงการประกาศเขตควบคุมมลพิษต่อศาลปกครองนั้น คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มอบหมายให้กรมควบคุมมลพิษ เป็นผู้แทนในการยื่นอุทธรณ์ต่อคำพิพากษาดังกล่าว โดยมีกำหนดภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด ซึ่งจะครบกำหนดภายในวันที่ 8 พฤษภาคม นี้


ในปีนี้ กระทรวงฯ ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ให้แก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ โดยควบคุมค่าจุดความร้อน (Hot spot) ให้มีค่าเป้าหมายลดลงกว่าในปี 2563 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 นั้น พบว่า จากการดำเนินงานในปี 2564 สามารถดำเนินการลดค่าจุดความร้อนได้เกินกว่าเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งต้องขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายพร้อมด้วยท้องถิ่น ที่ช่วยกันเฝ้าระวังและป้องกันไฟป่าได้เป็นอย่างดี


วอนประเทศเพื่อนบ้านคุมไฟป่า-หมอกควัน ลดผลกระทบต่อไทย 


ส่วนปัญหาฝุ่น PM 2.5 ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีค่าเพิ่มสูงนั้น ปลัด ทส. ยอมรับว่า มีเหตุปัจจัยหลักมาจากประเทศเพื่อนบ้าน กระทรวงฯ จึงมอบหมายให้กรมควบคุมมลพิษทำหนังสือเน้นย้ำไปถึงสำนักงานเลขาธิการอาเซียน เพื่อดำเนินการขอความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้านให้ดำเนินการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่อย่างเข้มงวด เพื่อลดผลกระทบที่จะส่งมาถึงคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในประเทศไทย

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส