สธ. รายงานยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังพุ่งไม่หยุด 1,582 คน “สปสช.” ย้ำ ห้ามเรียกเก็บค่ารักษาโควิดเพิ่ม วอนผู้ป่วยอย่าโทรหาเตียงซ้ำซ้อน
เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท รักษาการผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน เปิดเผยว่า วันนี้มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 1,582 คน แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 1577 คน และมาจากต่างประเทศ 5 คน โดยจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดยังคงเป็น กรุงเทพฯ 312 คนรองลงมาคือเชียงใหม่ 272 คน จังหวัดชลบุรี 111 คน และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 100 คน ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 39,083 คน จำนวนนี้อาการหนักอยู่ในห้อง ICU 16 คน อยู่ระหว่างรักษาตัว 10,461 คนถือยังถือว่ามีอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำมาก 0.25%
นายแพทย์เฉวตสรร ระบุอีกว่า สถานการณ์ถือว่าอยู่ในช่วงขาขึ้น มีผู้ติดเชื้อเกิน 1 พันรายติดต่อกัน 3 วัน ซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่กระจายเชื้อในช่วง 5-7 วันก่อนหน้านี้ตามระยะเวลาการฟักตัวของโรค แต่หลังจากมีมาตรการปิดสถานบันเทิงตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน และการทำงานที่บ้านหลังสงกรานต์ คาดว่าประมาณ 2 สัปดาห์ อาจจะเห็นแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อคงตัวและลดลง
สำหรับ จ.ระนอง และ จ.สตูล ที่ก่อนหน้านี้ยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อระลอกใหม่ ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อแล้ว ทำให้ประเทศไทยมีการติดเชื้อครบทั้ง 77 จังหวัด โดย จ.ระนอง พบ 2 คน เป็นพ่อลูกไป กทม. รับเชื้อแล้วเดินทางกลับมา ส่วน จ.สตูล พบ 1 คน เป็นหญิงชาวญี่ปุ่นมาท่องเที่ยวในไทย และตรวจพบติดเชื้ออยู่ระหว่างการสอบสวนโรค ทั้งนี้ จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสะสมเกิน 100 รายหรือพื้นที่สีแดงเข้มมี 13 จังหวัด ส่วนที่มีการติดเชื้อเฉพาะในครอบครัวมี 20 จังหวัด
นายแพทย์เฉวตสรร กล่าวต่อว่า ภาพรวมของการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในช่วงเดือนเมษายนพบจำนวน 10 คลัสเตอร์ใน 7 จังหวัดได้แก่ 1. จ.เชียงใหม่ เป็นคลัสเตอร์ค่ายอาสานักศึกษาติดเชื้อ 34 คน กระจายไป 13 จังหวัด 2. จ.นครสวรรค์ เป็นคลัสเตอร์สถานบันเทิงติดเชื้อ 39 คน กระจายไป 2 จังหวัด 3. จ.กาญจนบุรี เป็นคลัสเตอร์กิจกรรมโรงเรียน ติดเชื้อ 28 คน 4. จ.สงขลา เป็นคลัสเตอร์ผับที่หาดใหญ่ติดเชื้อ 16 คน และคลัสเตอร์งานเลี้ยงรุ่นติดเชื้อ 8 คน 5. จ.นครราชสีมา เป็นคลัสเตอร์ร้านอาหารติดเชื้อ 14 คน และคลัสเตอร์กลุ่มสังสรรค์คาราโอเกะติดเชื้อ 5 คน 6. จ.นนทบุรีเป็นคลัสเตอร์งานสัมมนาบริษัทติดเชื้อ 19 คน กระจายไป 8 จังหวัด และ 7. จ.นครศรีธรรมราช เป็นคลัสเตอร์งานกิจกรรมรวมกลุ่มคนติดเชื้อ 20 คน กระจายไป 3 จังหวัด และคลัสเตอร์งานบวชติดเชื้อ 10 คน
“ตอนนี้เป็นช่วงที่โรคมีความชุกของการติดเชื้อสูง เราจึงไม่อาจไว้ใจได้เลยว่าคนที่อยู่ใกล้ตัวหรือพื้นที่ที่เราไปมีความเสี่ยงอยู่ ดังนั้น การป้องกันตัวเองให้ดีที่สุด และแนะนำให้ดูแลคนในครอบครัวให้ดีที่สุดเป็นทางเลือกที่ควรปฏิบัติอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง วัดอุณหภูมิ ลงทะเบียนเข้าออกสถานที่ และหลีกเลี่ยงสถานที่แออัด”
สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. – 15 เม.ย. 2564 ฉีดแล้ว 586,032 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 510,456 คน และเข็มที่สองรวม 75,576 คน ส่วนประชาชนทั่วไปจะได้รับการฉีดวัคซีนในในช่วงที่มีวัคซีนล็อตใหญ่ เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่จะมีวัคซีนเข้ามา 6 ล้านโดส และหลังจากเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป ที่จะมีเข้ามาอีกเดือนละ 10 ล้านโดส ซึ่งวัคซีนที่ได้มาไม่ใช่สั่งวันนี้แล้วจะได้ทันที แต่เป็นการเตรียมการสั่งซื้อตั้งแต่วัคซีนยังวิจัยไม่สำเร็จ
สบส. ตั้งเป้า เพิ่มเตียง Hospitel 7,000 เตียง
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า กรมฯ จัดเตรียม Hospitel โดยใช้โรงแรมที่ไม่มีผู้เข้าพักไว้แล้วจำนวน 6,525 เตียง ใช้ไปแล้วราว 3,000 เตียง สำหรับรองรับผู้ที่ไม่มีอาการ และผู้ที่ได้รับการรักษาตัวมาจากโรงพยาบาล 3 – 5 วันแล้วพบว่าอาการปกติหรือไม่มีอาการ ก็สามารถย้ายมายัง Hospitel ได้ทันทีซึ่งขณะนี้ได้ขึ้นทะเบียนโรงแรมไปแล้วจำนวน 23 แห่ง มีเตียงรองรับ 4,900 เตียง ในอนาคตจะมีการเตรียมเตียงเพิ่มขึ้นให้ถึง5,000- 7,000 เตียงรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยแล้ววันละ 500 คนต่อวัน
โดยกำหนดให้ Hospitel นั้นมีมาตรฐาน เช่น แพทย์ 1 คน จำนวนผู้ป่วย 20 เตียงต่อ 1 พยาบาล มีการกำจัดขยะติดเชื้อที่ถูกต้อง และมีเครื่องมือต่าง ๆ เช่น ปรอทวัดไข้ อุปกรณ์วัดออกซิเจนในเลือด และเครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่ ซึ่งมีมาตรฐานระดับสถานพยาบาลชั่วคราวที่พร้อมรองรับผู้ป่วย เพื่อช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล เพื่อให้โรงพยาบาลได้รองรับผู้ป่วยที่มีอาการหนักหรือจำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
สปสช. ยัน ป่วยโควิดห้ามเรียกค่ารักษาเก็บเพิ่ม
แพทย์หญิงกฤติยา ศรีประเสริฐ ที่ปรึกษา สปสช. ยืนยันว่าผู้ติดเชื้อโควิค-19 ทุกคน จะได้รับการรักษาฟรี ไม่มีการเรียกเก็บเงินเพิ่มจากผู้ป่วย เนื่องจาก สปสช. ได้มีการจ่ายชดเชยโควิด-19 เพิ่มเติมจากระบบปกติ ทั้งค่าตรวจแล็บ ค่าบริการค่าเก็บตัวอย่าง ค่ายา ค่าชุด PPE อุปกรณ์ป้องกันการแพร่เชื้อ ค่าห้องรวม ค่าอาหาร และค่าพาหนะส่งต่อผู้ป่วยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีต้องนอนโรงพยาบาลสนามหรือ Hospitel รวมอยู่ในค่าหอผู้ป่วยเฉพาะกิจโควิด-19 ที่จ่ายตามจริงไม่เกิน 1,500 บาทต่อวัน อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายจะเบิกจากประกันสุขภาพส่วนบุคคลก่อนเป็นอันดับแรก แล้วพิจารณาตามสิทธิกองทุนสุขภาพ ประกันสังคม หรือข้าราชการ โดยหากมีส่วนต่าง สปสช. เรียนย้ำว่าได้คิดครอบคลุ่มค่ารักษาพยาบาล และจ่ายชดเชยให้ตามราคากลางที่กำหนด
กรมการแพทย์ ชี้ นอนโรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel ขึ้นอยู่กับอาการ ไม่มีล็อกเตียง
แพทย์หญิงปฐมพร ศิรประภาศิริ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ กล่าวถึง กรณีผู้ติดเชื้อที่ต้องนอนโรงพยาบาลสนามหรือ Hospitel ว่า ว่า หากตรวจเชื้อที่ไหน โรงพยาบาลนั้นจะช่วย หาเตียง ให้ก่อน ยกเว้นไม่มีเตียง หรือ โรงพยาบาลเครือข่ายไม่มีเตียง จะมีการหาเตียงในระบบทั้งหมด
“จะได้นอน โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel ขึ้นอยู่กับอาการ โดยก่อนเข้าโรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel ผู้ติดเชื้อจะได้รับการตรวจ ซักประวัติ เอกซเรย์ปอด หากผลการเอกซเรย์ปอด มีข้อสงสัยว่าปอดจะอักเสบ จะได้อยู่โรงพยาบาลหลัก กลุ่มที่ต้องอยู่โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel ได้แก่ อาการไม่หนัก อายุน้อยกว่า 50 ปี ไม่มีโรคประจำตัว ไม่ใช่ผู้พิการ”
แพทย์หญิงปฐมพร ระบุอีกว่า ทั้งโรงพยาบาลสนาม และ Hospitel ไม่ได้แยกกลุ่มกัน จะเป็นการพิจารณาว่าที่ไหนมีเตียงว่าง เป็นไปตามการจัดสรรลงเตียง สิ่งแรก คืออยากให้เข้าสู่ระบบได้เร็วที่สุด เพื่อลดการแพร่เชื้อ ลดการระบาด หลายคนผลตรวจเป็นบวกแต่อยู่บ้าน หากโรงพยาบาลไม่โทรตามก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวก็ครบ 14 วัน แต่แบบนี้มีความเสี่ยงต่อครอบครัว หลายครั้งที่ห้องข้าง ๆ หรือ บ้านข้าง ๆ แจ้งเข้ามา 1330 1660 หรือ 1422
พบผู้ติดเชื้อโทรหาเตียงซ้ำ 50% วอนรอประสานสายเดียว
แพทย์หญิงปฐมพร กล่าวอีกว่า หากผลเป็นบวก ให้โทรศัพท์เข้ามาตามสายด่วน 1669 หรือ 1330 หรือ Line @sabaideebot ย้ำว่า ไม่อยากให้โทรทุกที่ ทุกเบอร์ เพราะข้อมูลจะซ้ำกัน ทำให้ช้าไปอีก แนะนำว่าให้โทร 1 ครั้ง และรอการดำเนินการ
“หลายคนเมื่อมีความกังวลใจในการติดเชื้อทำให้ระหว่างรอโรงพยาบาลจัดหาเตียง มีการโทรไปสายด่วนไม่ว่าจะเป็น 1330 หรือ 1669 ซึ่งผู้ป่วยจะถูกซักข้อมูลสุขภาพอีกครั้ง รวมถึงอาการเพิ่มเติม เพื่อคีย์ข้อมูลไปในไฟล์ และส่งไปยัง ศูนย์เอราวัณ เช่นเดิม เป็นความซ้ำซ้อน นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทุกวันจะต้องมีการคลีนข้อมูล เนื่องจากศูนย์เอราวัณ รับข้อมูลจากทั้ง 1330 , 1668 , สบายดีบอต , โรงพยาบาล และประชาชน ทำให้ทุกวันมีข้อมูลซ้ำกันเกิน 50%”