เดินหน้าจับคู่ ชุมชน-โรงพยาบาล รักษาตัวที่บ้าน ตามมาตรฐานโรงพยาบาล ใน 23+1 ชุมชนนำร่อง รถเอกซเรย์ปอด ช่วยแพทย์วินิจฉัยได้ตรงตามอาการ เชื่อ เป็นทางออกกู้วิกฤตเตียงเต็ม
“ระบบชุมชนจับคู่โรงพยาบาล” โดยดูแลผู้ป่วยติดเชื้อที่สมัครใจกักตัวที่บ้านหรือชุมชน ที่เรียกว่า Home Isolation และ Community Isolation คือการเปลี่ยนสถานที่ดูแลคนติดเชื้อโควิด-19 จากโรงพยาบาล หรือโรงพยาบาลสนามมาใช้ระบบของชุมชนแทน โดยมีกระบวนการคัดกรองจัดกลุ่มผู้ป่วย มีการประเมินอาการขั้นพื้นฐาน แต่เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยติดเชื้ออยู่ใน ‘กลุ่มสีเขียว’ พร้อมใช้ระบบของชุมชนในการดูแลทุกมิติ ทั้งด้านสุขภาพ และความเป็นอยู่ จนกว่าจะรักษาหายเป็นปกติ
“ระบบชุมชนจับคู่โรงพยาบาล” นี้ไม่ใช่ความล้มเหลวของระบบสุขภาพในการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทว่า เครือข่ายภาคประชาชนร่วมมือกับอีกหลายภาคส่วนเดินหน้าวางระบบนี้มากว่า 2 เดือนแล้ว และนี่กำลังเป็นอีกทางออกที่กู้วิกฤตในเวลานี้
“พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์” ผู้อำนวยการบริหารสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี สภากาชาดไทย หนึ่งในผู้ริเริ่มผลักดันระบบชุมชนจับคู่โรงพยาบาล ยืนยันว่า หลักการดูแลผู้ติดเชื้อ กักตัวที่บ้านและชุมชน ทุกคนควรได้เอกซเรย์ปอด เพื่อประเมินอาการ แต่เวลานี้ก็ยอมรับว่าเป็นไปได้ยาก
ส่วนกระบวนการจ่ายยาให้ผู้ติดเชื้อ ก็อาจยังมีข้อจำกัด เพราะปกติแล้ว ยาฟาวิพิราเวียร์ แพทย์จะสั่งจ่ายได้เฉพาะแค่ในโรงพยาบาล แต่เมื่อเข้าสู่ระบบนี้ อาจต้องปลดล็อค เพื่อลดความรุนแรงของอาการและการเสียชีวิต ซึ่งฝ่ายนโยบายต้องสนับสนุน
“ต้องยอมรับว่า ชุมชนจับคู่โรงพยาบาล ไม่ใช่จะทำได้ทุกที่ แต่ก็ไม่ยากจนเกินไป หากมีระบบการดูแลที่ได้มาตรฐาน ตอนนี้มีชุมชนนำร่อง 23+1 ชุมชน จับคู่กับโรงพยาบาล ร่วมกับระบบชุมชนที่สร้างขึ้น เป็นกลไกการดูแลแบบเคลื่อนที่”
วันที่ 8 ก.ค. 2564 คือ วันแรกที่โรงพยาบาลปิยะเวท นำรถเอกซเรย์เคลื่อนมาให้บริการเอกซเรย์ปอด สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่อยู่ในโครงการ “ระบบชุมชนจับคู่โรงพยาบาล” ที่พักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน หรือ Home Isolation โดยจอดให้บริการบริเวณลานจอดรถด้านหลังของโรงพยาบาล
ส่วนผู้ป่วยจาก 23 ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการจะมีรถทหารจากศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) คอยรับตัวผู้ป่วยจากในชุมชนมาเอกซเรย์ เสร็จแล้วก็จะกลับไปส่งผู้ป่วยที่บ้านตามเดิม
วันแรกของการตรวจ มีรถทหารรับส่งผู้ป่วยมาเอกซเรย์ทั้งหมด 9 คัน รวมผู้ป่วยทั้งหมด 22 คน จากชุมชนต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เช่น จากชุมชนย่านบางแค, บางบอน, คลองสามวา รวมถึงชุมชนวัดไร่ขิง จ.นครปฐม ด้วย
“นพ.วิทิต อรรถเวชกุล” กรรมการผู้จัดการบริษัทโรงพยาบาลปิยะเวท จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ผู้ป่วยที่มาเอกซเรย์ทั้งหมดยังอยู่ใน ‘กลุ่มสีเขียว’ ที่รักษาตัวอยู่ที่บ้านได้ ซึ่งการเอกซเรย์ปอดจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยอาการได้ถูกต้อง เพิ่มความมั่นใจให้ผู้ป่วยว่าจะได้รับการดูแลไม่ต่างจากการรักษาตัวที่โรงพยาบาล หรือเทียบเท่าการรักษาตัวใน Hospitel โดยผลการเอกซเรย์จะใช้ร่วมกับข้อมูลอื่น ๆ เช่น การวัดอุณหภูมิ ปริมาณออกซิเจนในเลือด
หลังจากนี้ โรงพยาบาล ชุมชน องค์กรภาคประชาชน และทีมรับส่งตัวจะประสานกัน เพื่อนำผู้ป่วยมาเอกซเรย์ อย่างต่อเนื่อง โดยรถเอกซเรย์เคลื่อนที่ สามารถรองรับผู้ป่วยได้มากกว่า 100 คนต่อวัน
“หนึ่งในผู้ป่วยหญิง วัย 48 ปี” ที่อยู่ในระบบ ชุมชนจับคู่โรงพยาบาล ซึ่งเข้ารับการเอกซเรย์ ระบุว่า หลังสูญเสียสามีจากโควิด-19 เธอต้องรักษาตัวที่บ้านเพียงลำพัง กับแมวอีก 8 ตัว โดยมียาฟ้าทะลายโจรสำหรับช่วยบรรเทาอาการ แต่ระหว่างรักษาตัว ก็มีโรงพยาบาลเอกชนคอยดูแลใกล้ชิด เจ้าหน้าที่จะสื่อสารผ่านไลน์ ทั้งติดตามอาการ ดูผลตรวจวัดอุณหภูมิ ผลออกซิเจนในเลือด ดูแลเรื่องอาหารการกิน 3 มื้อหลัก บางครั้งก็ชวนพูดคุย ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน
“เธอ” ยอมรับว่า ช่วงแรก ๆ รู้สึกเครียด แต่ก็ผ่านมาได้ และ 5 วันมานี้ เธอแทบไม่มีอาการ และเชื่อว่ากระบวนการกักตัวเองที่บ้านมีส่วนช่วยลดภาระหนักของแพทย์ พยาบาล ในภาวะที่ทุกฝ่ายเผชิญกับปัญหา
“สำหรับคนที่ไม่มีอาการ และสภาพแวดล้อมในบ้านเอื้ออำนวย การรักษาตัวที่บ้าน คือทางเลือกสำคัญท่ามกลางวิกฤตเวลานี้”