กทม. เปิดใช้เพิ่มพรุ่งนี้ (19 เม.ย.) รพ.สนามเอราวัณ 2

รวมเบื้องต้นมีเตียงสนามในสังกัด กทม. 1,860 เตียง ยังไม่รวมเตียงและ Hospitel นอกสังกัด กทม. ผู้ป่วยต้องการเตียงโทร 1669 หรือเช็กที่ สธ. โทร 1330 และ 1668

พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่วันนี้ (18 เม.ย. 2564) ตรวจความพร้อมของโรงพยาบาลสนาม (เอราวัณ 2) ที่ศูนย์กีฬาบางกอกอารีนา เขตหนองจอก ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 4 ของกรุงเทพมหานคร สามารถรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้ 400 เตียง แบ่งเป็น ชาย 150 เตียง หญิง 250 เตียง พร้อมเปิดให้บริการในวันพรุ่งนี้ (19 เม.ย. 64)

โดย กทม.ได้เตรียมโรงพยาบาลสนาม (1) โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน เขตบางขุนเทียน รองรับได้ 500 เตียง ใช้ไปแล้ว 480 เตียง ยังว่างอยู่ 20 เตียง โดยจะเพิ่มเตียงรองรับอีก 500 เตียง ในวันพรุ่งนี้ (19 เม.ย. 64) (2) รพ.ราชพิพัฒน์ เขตทวีวัฒนา รองรับได้ 250 เตียง ใช้ไปแล้ว 164 เตียง ว่าง 36 เตียง (3) รพ.เอราวัณ 1 ที่สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา บางบอน เขตบางบอน รองรับได้ 100 เตียง (4) รพ.กลาง 110 และ (5) รพ.เอราวัณ 2 อีก 400 เตียง โดยรวมแล้วเบื้องต้นมีเตียงโรงพยาบาลสนามรวมทั้งหมด 1,860 เตียง ซึ่ง กทม.คาดว่าเพียงพอกับผู้ติดเชื้อโควิด-19

ขณะที่จำนวนผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษาในโรงพยาบาลในพื้นที่ กทม. ตัวเลขล่าสุดเมื่อวานนี้ (17 เม.ย. 2564) กทม.รายงานว่ามีจำนวน 3,607 คน โดยจำนวนผู้ป่วยรายวันและผู้ป่วยสะสมระลอกใหม่ของ กทม.ก็ยังคงมีตัวเลขสูงสุดเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ โดยล่าสุดวันนี้ (18 เม.ย. 2564) ศบค.รายงานพบผู้ป่วยในกทม.สูงถึง 347 คน

กทม.ได้แบ่งแผนการรับผู้ป่วยออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับที่ 1 การเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครให้รองรับผู้ป่วยได้มากขึ้น ทั้งในโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครและนอกสังกัด ระดับที่ 2 การเปลี่ยนโรงแรมให้เป็นพื้นที่เฝ้าระวังอาการ (Hospitel) สำหรับผู้ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ให้รักษาตัวในโรงแรมที่จัดหาไว้ให้ และระดับที่ 3 จัดทำโรงพยาบาลสนามเต็มรูปแบบเพื่อรองรับผู้ป่วย

โดยหากผู้ติดเชื้อมีความประสงค์มาพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสนามของกรุงเทพมหานครแจ้งได้ที่ศูนย์เอราวัณ โทร. 1669 หากไม่สะดวกเดินทางมาเองกรุงเทพมหานครมีรถไปรับ แต่หากมีความประสงค์เดินทางมาเองให้โทรประสานที่ 1669 ก่อนว่ามีที่ไหนว่างบ้างจะได้ไม่เสียเวลา กรณีเป็นของกระทรวงสาธารณสุขให้โทร. 1330 หรือ 1668

ยังมีเตียง – Hospitel นอกสังกัด กทม.

ก่อนหน้านี้ (15 เม.ย. 2564) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวถึงกรณีการบริหารจัดการฮอสพิเทล (Hospitel) รองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่กทม.และปริมณฑลว่า ได้เตรียมเตียงจาก รพ.ทุกสังกัดในกทม. ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กองทัพ รพ.ตำรวจ รพ.ของมหาวิทยาลัย และเอกชน ได้เตรียมเตียงรองรับทั้งหมด 6,525 เตียง โดยปัจจุบันมีการครองเตียง 3,700 กว่าเตียง โดยเตียงส่วนหนึ่งเก็บไว้สำหรับผู้ป่วยมีอาการค่อนข้างมาก และได้เตรียมการเพื่อลดความแออัดในสถานพยาบาล และให้ รพ.ได้ดูแลผู้ป่วยอาการหนัก

ส่วนการเตรียม Hospitel ตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา มีการขึ้นทะเบียน Hospitel ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑลจำนวน 23 แห่ง จำนวนที่ขอไว้ 4,900 เตียง ซึ่งจะเป็นอีกทางเลือกคู่กับเตียงใน รพ. และ รพ.สนาม เพื่อดูแลผู้ป่วยโควิด โดยขณะนี้มีผู้ป่วยตามข้อกำหนดเข้าไปในฮอสพิเทล 2,000 เตียง และจะเตรียมเพิ่มขึ้นให้ได้ถึง 5-7 พันเตียง

ปลัด สธ. สั่งใช้ ซิงเกิ้ลคอมมานด์ ประสานทุกข้อมูลแก้ปัญหาเตียง – บุคลากร

ขณะที่ในที่ประชุมนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ของกระทรวงสาธารณสุขวันนี้ (18 เม.ย. 2564) นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต สั่งการให้ใช้ระบบซิงเกิ้ลคอมมานด์ประสานข้อมูลทุกส่วนแก้ปัญหาทั้งเตียงและบุคลากร หลังบางพื้นที่ขาดหมอ เพื่อให้มีชุดข้อมูลเดียวกัน โดยมีนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เป็นหัวเรือใหญ่ในการประสานงาน เชื่อมโยงกับ ศปก.ศบค. ในการส่งหน่วยงานสนับสนุน เช่น ทหาร ตำรวจ ช่วยเหลือ รพ.สนาม ต่างๆ

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว