สะท้อนความสำเร็จในวิกฤตเกิดจากชุมชน ย้ำเรื่องภัยพิบัติต้องกระจายอำนาจ อบต. อบจ. ให้มีบทบาท
สถานการณ์การระบาดโควิด-19 รอบใหม่ ยังคงพบผู้ติดเชื้อรายวัน ล่าสุด (8 พ.ค. 2564) พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,419 คน เสียชีวิต 19 คน โดยเฉพาะในพื้นที่เปราะบางอย่างชุมชนแออัดในเขตเมือง ที่มีการตรวจเชิงรุกและพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง
แม้การตรวจ ส่งรักษา จัดหาวัคซีน จะเป็นหน้าที่หลักหน่วยงานด้านสาธารณสุขของภาครัฐ แต่เมื่อเชื้อรุกชุมชน โดยเฉพาะชุมชนแออัดและผู้มีรายได้น้อย ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาปากท้องเข้ามามีส่วนสำคัญว่าพวกเขาจะสามารถกักตัวอยู่บ้าน เพื่อหยุดการแพร่กระจายเชื้อได้อย่างไร
ขณะที่ภาครัฐก็ยังไม่มีความชัดเจนในการเยียวยาผลกระทบให้กับคนกลุ่มนี้ ภาคประชาชน จึงพยายามเชื่อมต่อหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สร้างกลไกความช่วยเหลือและหยุดวงจรระบาด แต่จะทำอย่างไรให้สายพานความช่วยเหลือในช่วงวิกฤต จากผู้ให้ไปถึงผู้รับอย่างมีประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุด
Active Talk ชวนวิเคราะห์ พร้อมคุยประเด็นนี้ กับ ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล ผู้ก่อตั้งกลุ่ม “ต้องรอด Up for Thai”, ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้จัดการ โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ และ ไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท
ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล คือหนึ่งในผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 และมีเพื่อนที่เสียชีวิตจากโควิด-19 โดยระบุว่า มีสาเหตุมาจากการไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที หลังรักษาตัวจนหายดี จึงได้ตั้งกลุ่ม “ต้องรอด Up for Thai” เครื่องมือ Chatbot เพื่อให้ผู้ป่วย ผู้ที่เฝ้าระวังการติดเชื้อ และบุคคลใกล้ชิดของกลุ่มเสี่ยง ได้เข้าถึงข้อมูล และให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องในช่วงเฝ้าระวัง เพื่อลดการกระจายกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อเพิ่มเติมไม่ให้สูงขึ้นกว่านี้ ซึ่งจะช่วยให้ลดปัญหาการขาดแคลนเตียงในโรงพยาบาล รวมไปถึงการร้องขอและสนับสนุนอุปกรณ์และเครื่องมือฉุกเฉินสำหรับโรงพยาบาลที่ขาดแคลนเพื่อใช้ในการดูแล รักษาผู้ป่วยไปตามโรงพยาบาลที่ต้องการ
ล่าสุด ยังได้ตั้งศูนย์ประสานงาน บริจาคเงินและสิ่งของอุปโภคบริโภคต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 จากกลุ่มคลัสเตอร์ต่าง ๆ ภายในวัดพระยาสุเรนทร์ เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ เนื่องจากมองว่า แม้คลัสเตอร์ทองหล่อลดลง แต่ชุมชนแออัดเพิ่มขึ้น การกักตัวไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นผู้มีรายได้น้อย หรือคนไร้บ้าน เข้าไม่ถึงระบบสาธารณูปโภค ทางกลุ่มมองว่าการควบคุมโรคเริ่มไปผูกติดกับปัญหาปากท้องแล้ว หากยังหิวโหยการควบคุมโรคก็ทำได้ยาก เพราะฉะนั้นเครือข่ายจึงหาสิ่งอุปโภค บริโภคอยู่ให้ได้อย่างน้อย 28 วัน รวมถึงคนที่กักตัวอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้เงินชดเชย
แต่ ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยอมรับว่า การตั้งศูนย์ช่วยเหลือที่มีภาคประชาชนเป็นแกนนำ มีปัญหาอยู่พอสมควร ในด้านการประสานงานหากไม่มีทีมงานที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ความใกล้ชิดกับหน่วยงานระดับเขต หากเป็นภาคประชาชนทั่วไป การจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือก็อาจจะทำได้ยาก โดยได้อ้างอิงบทเรียนจากโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์
ด้าน ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้จัดการ โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ระบุว่า การระดมจิตอาสาในช่วงโรคระบาด ถือว่ายากกว่าในช่วงน้ำท่วม เพราะคนกลัวโรคระบาด โดยเฉพาะในระลอกที่ 3 ผู้ติดเชื้อมีอาการรุนแรงถึงร้อยละ 30 จึงต้องอาศัยความมีจิตอาสา และการจัดการระบบป้องกัน อุปกรณ์ ให้ความมั่นใจแก่อาสาสมัครในระดับหนึ่ง ซึ่งเราทำได้ค่อนข้างดีแล้ว แต่อีกสิ่งสำคัญ คือ การเพิ่มโรงพยาบาลสนามให้กับผู้ติดเชื้อกลุ่มเหลือง แดง ที่ค้างอยู่ใกล้มือแพทย์ โดยเสนอว่า
1. ให้เพิ่มเตียงเหลือง แดงในโรงพยาบาลหลัก พร้อมอุปกรณ์พยุงชีพ
2. ในกรณีที่บุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ ให้ประสานขอจากจังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อ หรือมีผู้ติดเชื้อน้อย เข้ามาอยู่ในโรงพยาบาลหลัก
3. เพิ่มศูนย์พักคอยของผู้มีรายได้น้อย หรือผู้ที่อาศัยอยู่เป็นครอบครัวใหญ่ ไม่มีพื้นที่สำหรับแยกกักตัว สนับสนุนเครื่องอุปโภค บริโภค เพราะหากละเลยปัญหาปากท้อง จะไม่สามารถควบคุมการระบาดได้เลย
ความป่วยทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด มีความรุนแรงมาก จนที่ว่าเราต้องคิดหาทางช่วยให้จริงจังกว่านี้ ผมฟังแล้วรัฐบาลยังไม่มีมาตรการเยียวยาเท่าไหร่ ลูกจ้างรายวัน หาเช้ากินค่ำที่เดือดร้อนข้ามปี นั่งกินอาหารในร้านไม่ได้ คนตกงานมีมาก คนที่อยู่ได้คือออนไลน์ ฟู้ดเดลิเวอรี แต่คนที่ไม่ได้อยู่ในกระบวนการแบบนี้มีที่พึ่งรายได้เป็นรายวัน ผมคิดว่ารัฐรวมถึงเอกชน ห้าง ร้าน ที่มีผู้ติดเชื้อในชุมชน ต้องเสียสละเข้ามาช่วยเรื่องการเข้าถึงอาหารคนกลุ่มนี้ก่อน รวมถึงรัฐเองก็ต้องเข้ามาบูรณาการกับเอกชนมากขึ้นด้วย
ด้าน ไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท ระบุว่า ในพื้นที่ของตนเองใน จ.พังงา เวลานี้ มีติดเชื้อสะสม 46 คน ติดเชื้อใหม่วันนี้ 1 คน ส่วนสำคัญนอกจากระบบสาธารณสุขแล้ว ยังมีการทำโรงอาหารกลางชุมชน เพื่อแก้ปัญหาปากท้อง ทำให้เกิดผลกระทบน้อยกว่าจังหวัดอื่น ๆ ล่าสุดยังส่งปลาไปช่วยพี่น้องใน จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นกลุ่มคนจนเมือง
ส่วนในเรื่องปัญหาการประสานงานล่าช้ากว่าสถานการณ์ มองว่าเป็นข้อจำกัดของรัฐทั้งที่มีบทเรียนแต่ก็ยังเป็นซ้ำไม่เปลี่ยนแปลง เป็นข้อจำกัดที่รัฐไร้ซึ่งประสิทธิภาพศักยภาพและความรู้ความสามารถ ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นการจัดการภัยพิบัติ จะมี พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งมีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายใช้ร่วมกับ พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ แต่ขณะนี้รัฐบาลใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แทนทั้ง 2 ฉบับ เพื่อที่จะต้องการใช้งบทดลองเบิกจ่าย รวมถึงมีประกาศในกระทรวงมหาดไทยอีกหลายฉบับที่ให้ท้องถิ่นเขตกรุงเทพฯ ได้จัดตั้งศูนย์และใช้งบประมาณช่วยเหลือประชาชนในการป้องกันโรคระบาด ตาม พ.ร.บ.ป้องกันสาธารณภัย ตามมาตรา 4 ซึ่งเขียนไว้ชัดเจน แต่รัฐไม่ได้ประกาศให้ชัดเจน เป็นการประกาศอยู่ภายในว่าให้ใช้งบเฉพาะระดับรัฐบาลกับจังหวัด ซึ่งกลายเป็นข้อจำกัดให้ท้องถิ่น ไม่ได้หยิบยก พ.ร.บ. ฉบับนี้มาใช้ได้ ซึ่งการกระจายอำนาจใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ ตามมาตรา 20, 21 จะทำให้ท้องถิ่นสามารถระงับ ยับยั้ง ป้องกัน ดูแลช่วยเหลือ เยียวยาประชาชนได้ทันที ตั้งแต่การดูแลเรื่องอาหาร อาชีพ โดยใช้งบของตัวเอง แต่เรื่องเหล่านี้กลับถูกแช่แข็งเอาไว้ และไม่มีใครหยิบมาใช้ เพราะอำนาจไปอยู่ที่นายกฯ คนเดียว
เวลานี้ไม่มีท้องถิ่นไหนประกาศเขตพื้นที่ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินเลย ยกตัวอย่างในกรุงเทพฯ ถ้าเขตประกาศ สามารถใช้เงินได้เองตามความจำเป็นจัดตั้งศูนย์ ดูแล เยียวยาอาหารการกินได้หมด มีเงินทดลองจ่ายขอแล้วขออีกกี่ครั้งก็ได้จนกว่าภัยพิบัติจะหมด ผมคิดว่านี่คือหน้าที่ที่รัฐควรทำแต่ปัญหาก็คือพอรัฐไม่ทำ ประชาชนทำมันก็เลยไปเชื่อมต่อกันยาก ซึ่งถ้ามีการประกาศใช้ก็จะมีแผนรับรองในการดำเนินการและจะต้องมีการดำเนินการไปตามแผนด้วย นี่เป็นข้อจำกัดที่ดำเนินมาเป็น 10-15 ปีแล้ว
ส่วนกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตั้งศูนย์บูรณาการโควิด-19 กรุงเทพฯ-ปริมณฑล เพื่อกำหนดแนวทางการบูรณาการ ขับเคลื่อน เร่งรัดและติดตามการปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหา การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ให้คลี่คลายโดยเร็ว ตามนโยบาย แนวทาง หลักเกณฑ์ และมาตรการที่รัฐบาลหรือศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กำหนดนั้น
ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท มองว่า ยังไม่เห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะแก้ปัญหา ซึ่งในภาวะวิกฤตทุกครั้งจะผ่านไปด้วยประชาชน ไม่เคยผ่านพ้นไปด้วยรัฐ เพราะอำนาจยังอยู่ที่นายกฯ ทำให้ไม่สามารถฟังเสียงคนอื่นได้เลย เสนอว่า รัฐต้องแสดงบทบาทออกมาให้ชัด ว่าจะให้ภาคประชาชนหรือองค์กรเอกชนเข้าไปช่วยต่อตรงไหนภายใต้กฎหมายกลไกที่มีอยู่ เพราะฉะนั้นรัฐต้องประกาศแบบรอบแรก ใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย และมีคำสั่งประกาศระดับจังหวัดให้ท้องถิ่นดำเนินการเข้าไปช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาประชาชน ระงับยับยั้งป้องกันภัย ถ้าเกิดทำตามขั้นตอน คิดว่าเราเห็นบทเรียนรอบที่หนึ่งทำได้ดี ที่หลายชุมชนลุกขึ้นมาช่วยกันแก้ปัญหา
เช่นเดียวกับ ผ.ศ.ปริญญา ที่ระบุว่า การระบาดในรอบนี้ มีความติดขัดในส่วนของท้องถิ่น มีเพียงการสั่งการในภาคส่วนของระดับผู้ว่าราชการจังหวัดลงไปเท่านั้น เช่น ประกาศล็อกดาวน์
ที่เห็นอยู่มันไม่ใช่การกระจายอำนาจเลยนะ มันคือการที่นายกฯ รวมอำนาจ แล้วมอบให้ผู้ว่าฯ จังหวัดต่าง ๆ ประกาศต่อ แต่ไม่ถึงท้องถิ่นเรามี อปท. อยู่ 7 พันกว่าแห่ง นายกฯ เข้าใจผิด จะไปคิดแบบทหารที่จะรวมศูนย์แล้วรบชนะ ไปรวมฝูงแบบนี้ไม่ชนะนะครับ เรื่องภัยพิบัติต้องกระจายอำนาจ อบต. อบจ. ต้องได้มีบทบาท ไม่ใช่ติดแค่ผู้ว่าฯ
ขณะที่การรวมกลุ่มในภาคประชาชนเพื่อให้การช่วยเหลือชุมชนที่เดือดร้อน ในฐานะผู้ร่วมโครงการ Food for Fighters รวบรวมร้านอาหารที่เดือดร้อน ไปแจกให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และชุมชนต่าง ๆ แนะว่า ความช่วยเหลือต้องมาควบคู่กับความจำเป็น และความต้องการของคนในพื้นที่ ยกตัวอย่างในกรณี Food for Fighters ที่เชื่อมกับมูลนิธิดวงประทีป ซึ่งรู้ในพื้นที่ว่าใครต้องการนำไปให้ประธานชุมชน อสม. ที่เป็นคนรับผิดชอบว่าบ้านไหนจน บ้านไหนป่วยติดเตียง บ้านไหนต้องการความช่วยเหลือ เพราะการไปทำกันเองบางครั้งเกิดปัญหาร้ายแรงตามมาเช่นกัน