“ศูนย์จีโนมฯ” ให้จับตา โอมิครอน BA.5 พบมีความฟิต กระจายเชื้อในปอดได้ดีเท่าสายพันธุ์เดลตา แนวโน้มเข้าแทนที่ทุกสายพันธุ์
วันนี้ 26 มิ.ย.2565 ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ Center for Medical Genomics โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 สืบเนื่องจากที่มีคำถามมายังศูนย์จีโนมฯ เกี่ยวกับแนวโน้มการแพร่ระบาด และการเตรียมตัวป้องกัน ซึ่งศูนย์จีโนมฯ ระบุว่า มีแนวโน้มที่ BA.5 จะแทนที่ทุกสายพันธุ์ แต่ความรุนแรงอาจไม่ต่างจาก BA.2 การป้องกันและรักษาน่าจะใกล้เคียงกับ BA.2
ปัจจุบันพบแนวโน้มของสายพันธุ์ BA.4 /BA.5 กำลังระบาดเข้ามาแทนที่ โอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม (B.1.1.529) และสายพันธุ์ย่อย BA.1, BA.2, และ BA.2.12.1 ในหลายพื้นที่ของโลก
จากการคำนวณโดยอาศัยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมในแต่ละช่วงเวลาของ BA.4/BA.5 พบว่ามีอัตราการเจริญ (growth rate) หรือความฟิตในการแพร่ระบาดมากกว่า BA.2.12.1 โดยพบว่า BA.5 มีความฟิตมากที่สุด
ในสหราชอาณาจักรอัตราการเจริญ (growth rate) ซึ่งคำนวณจากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมในแต่ละช่วงเวลาพบว่า BA.5 เจริญรวดเร็วกว่า BA.2 ประมาณร้อยละ 35.14
ดังนั้นสถานการณ์ในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาคล้ายกันคือ BA.5 มีการเจริญที่รวดเร็วที่สุด และน่าจะมาแทนที่ BA.4 และ BA.2.12.1 ในที่สุด สรุปได้ว่า สายพันธุ์ที่ควรเฝ้าระวังมากที่สุดในปัจจุบันและอนาคตคือ BA.5
นอกจากนั้นบนจีโนมของ BA.4/BA.5 ยังมีการกลายพันธุ์กลับไปเหมือนสายพันธุ์ดั้งเดิมที่เคยระบาดในอดีต ก่อนหน้าสายพันธุ์เดลตา เช่น อัลฟา เบตา และแกมมา ที่ตำแหน่ง Q493
การที่ BA.4/BA.5 มีกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง L452R เหมือนกับสายพันธุ์เดลตา การทดลองในห้องปฏิบัติการ พบว่าสามารถเพาะเลี้ยงไวรัส BA.4/BA.5 ในเซลล์ปอดมนุษย์ในหลอดทดลองได้ดี หนามของไวรัสได้มีการเปลี่ยนแปลงไปสามารถเป็นตัวเชื่อมให้ผนังของหลายเซลล์ในหลอดทดลองหลอมรวมเป็นเซลล์เดียว อันอาจเป็นเหตุดึงดูดให้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ติดเชื้อเข้ามาทำลายเซลล์ปอดจนเกิดการอักเสบ
ส่วนในหนูทดลองพบการติดเชื้อ BA.4/BA.5 ในระบบทางเดินหายใจส่วนล่างเช่นที่เซลล์ปอดได้ดี
ข้อมูลทางคลินิกจากผู้ติดเชื้อหลายประเทศที่กำลังระบาดชี้ว่า การระบาดของ BA.4/BA.5 ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มสูงขึ้นบ้างแต่ไม่สูงเท่ากับการติดเชื้อโอมิครอน BA.2 ในอดีต ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตคงที่ไม่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ประเทศไทยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตลดลงอย่างต่อเนื่อง
ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านมีความเห็นสอดคล้องกันว่า โอมิครอน BA.4/BA.5 สามารถระบาดได้รวดเร็วกว่า BA.2 แต่ความรุนแรงและอาการทางคลินิกน่าจะไม่แตกต่างจาก BA.2 อย่างไรก็ดีคงต้องรอข้อมูลทางคลินิกจากหลายประเทศในยุโรป อังกฤษ และสหรัฐอเมริกาที่ BA.4/BA.5 กำลังระบาดมาสรุปร่วมด้วย
“สรุปได้ว่า จากข้อมูลที่มีในปัจจุบันบ่งชี้ว่าไม่น่าจะมีการระบาดใหญ่ในไทยความรุนแรงของการติดเชื้อไม่น่าจะต่างจาก BA.2 การป้องกันและรักษาไม่ต่างจาก BA.2 ที่ต้องระวังมีสายพันธุ์เดียวคือ “BA.5” ที่กำลังระบาดเข้ามาแทนที่ทุกสายพันธุ์”
หวั่นติดเชื้อซ้ำง่าย สายพันธุ์ย่อยตัวใหม่ดื้อภูมิคุ้มกัน
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความระบุว่า โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม BA.1 ประมาณ 3 เท่า ข้อมูลจากไฟเซอร์และโมเดอร์นาที่เพิ่งประกาศออกมาเมื่อ 27 มิ.ย. 2565 และ 22 มิ.ย. 2565 ผลออกมาสอดคล้องกัน และชี้ให้เห็นว่าโอมิครอน สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 นั้นดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากขึ้น อันเป็นผลมาจากการกลายพันธุ์หลายตำแหน่งที่แตกต่างจากเดิม ส่งผลให้เห็นจำนวนเคสติดเชื้อทั่วโลกที่มากขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทั้งในคนที่ติดเชื้อใหม่แม้จะเคยได้รับวัคซีนมาก่อน รวมถึงคนที่ติดเชื้อซ้ำ (reinfection) แม้จะเคยติดเชื้อมาก่อนก็ตาม
นพ.ธีระ ระบุด้วยว่า สมรรถนะของ BA.5 ในการจับเซลล์ปอด ข้อมูลจากห้องทดลองชี้ให้เห็นว่า BA.5 สามารถจับกับเซลล์ปอดผ่านกลไกของตัวรับ ACE2-TMPRSS ได้มากกว่าโอมิครอนสายพันธุ์ก่อนหน้า ทั้งนี้มีลักษณะคล้ายกัยสายพันธุ์เดลตา อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานทางคลินิกเพียงพอที่จะบอกว่าส่งผลให้เกิดป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตมากกว่าเดิม
ด้วยข้อมูลวิชาการที่มี จึงมีแนวโน้มว่า การฉีดวัคซีนน่าจะช่วยลดความรุนแรงและลดโอกาสเสียชีวิตได้อยู่ แต่แม้จะได้รับวัคซีนไปแล้วหรือเคยติดเชื้อมาก่อนก็ตาม ก็มีโอกาสติดเชื้อได้มากขึ้น เพราะสมรรถนะของเชื้อนั้นดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากขึ้น และจับกับเซลล์ผ่าน ACE2-TMPRSS pathway ได้ดีขึ้น
ขณะที่ความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด -19 ล่าสุดวานนี้ (25 มิ.ย. 2565) วัคซีนฉีดเพิ่มขึ้น 123,907 โดส เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น 76,815 คน ขณะนี้วัคซีนเข็มกระตุ้นฉีดแล้ว 29.4 ล้านคน คิดเป็น 42.4% ส่วนผู้ที่ฉีดวัคซีน 2 เข็ม มีจำนวน 53.1 ล้านคน คิดเป็น 76.4% ของประชากร