รัฐฯ คุมระบาดโควิด-19 เชิงรุกกับคนไร้บ้านที่ถูกลืม

มูลนิธิกระจกเงา ระบุ เตรียมวางระบบให้คนไร้บ้านเข้าถึงวัคซีน และระบบการดูแลสาธารณสุข นักวิชาการชี้ การระบาดหลายระลอก “คนไร้บ้าน” เป็นกลุ่มเปราะบาง ที่ยังไม่มีแนวทางป้องกัน-คุมระบาด, ระบบการส่งต่อ และสถานที่รองรับที่ชัดเจน สะท้อนการทำงานเชิงรับของรัฐฯ

ผศ.บุญเลิศ วิเศษปรีชา  คณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะนักวิจัยที่ทำงานกับคนไร้บ้านมาตลอดหลายปี เปิดเผยกับ The Active ว่า สถานการณ์การระบาดปีนี้แตกต่างจากปีที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้คนไร้บ้านอาจจะรู้สึกว่าไกลตัว เพราะไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศ แต่ปีนี้มีบทเรียนการระบาดที่แพร่กระจายมาถึงชุมชนแออัดซึ่งไม่เคยเกิดขึ้น สิ่งสำคัญคือการให้ข้อมูลข่าวสารการป้องกันตัวเอง เพื่อลดความเสี่ยงทั้งกับคนไร้บ้าน และคนในสังคมโดยรวม

“คนไร้บ้าน มีเงื่อนไข อยู่บ้านไม่ได้ การที่เขาเดินไปเดินมาก็ทำให้เขาพบปะ พบความเสี่ยงได้มากกว่า แต่ความแตกต่างสำคัญของคนไร้บ้าน เวลาเขากินอาหาร หรือ หมั่นล้างมือ ไม่ได้อยู่ในวิสัยที่จะทำได้ ปีที่แล้วที่ทำงานกับคนไร้บ้าน ผมแทบจะเป็นคนเดียวที่ฉีดแอลกอฮอล์ก่อนหยิบอาหารกิน แต่คนไร้บ้านทั่วไป ไม่ทำกัน…”

ผศ.บุญเลิศ วิเศษปรีชา  คณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มธ.

อาจารย์บุญเลิศ ระบุ ไม่กล้าคาดการณ์ตัวเลขคนไร้บ้าน ในปีนี้ เพราะยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน แต่แนวโน้มปีที่แล้วพบว่า คนไร้บ้านมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 20 ในสถานการณ์โควิด-19 ถือเป็นตัวเลขที่ไม่น้อย ดังนั้น การจัดสถานที่และให้ไปอยู่รวมกันอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย จึงมีข้อเสนอแนวทางการป้องกันเพื่อคุมความเสี่ยง รวมถึงระบบการส่งต่อ รักษากรณีคนไร้บ้านติดโควิด-19 โดยแบ่งเป็นระดับ คือ

ระดับที่ 1 : ให้ข้อมูลทั่วถึง มีวิธีการสังเกตอาการ ประชาสัมพันธ์สถานที่ ที่สามารถติดต่อได้อย่างชัดเจน หากคนไร้บ้านเริ่มแสดงอาการจะต้องติดต่อไปยังช่องทางไหน หน่วยงานไหนต้องรับผิดชอบ เพราะพื้นฐานคนไร้บ้านไม่อยากเข้าโรงพยาบาล เพราะเคยมีประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติ อ.บุญเลิศ กล่าว

ระดับ 2 : ถ้าสงสัยจะต้องเฝ้าระวังตัวเองที่ไหน ควรมีสถานที่รองรับที่ชัดเจน โดยเสนอให้มีหน่วยงานอื่น ๆ ประสานกับ กทม. และ พม. ปรับเปลี่ยน ศูนย์ราชการ หรือ สนามกีฬา เป็นศูนย์รองรับชั่วคราว ซึ่งจะทำหน้าที่แตกต่างจากศูนย์คนไร้บ้านที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ระดับ 3 : ระบบส่งต่อต้องมีความชัดเจนมีศักยภาพ เพราะปัญหาใหญ่ของโควิด-19 คือ ต้องการการรักษา และป้องกันความรุนแรง การมีสถานที่ส่งต่อที่ชัดจึงมีความสำคัญ แต่ข้อจำกัดสำคัญของไทย คือ คนไร้บ้านไม่ได้ไว้วางใจการทำงานของหน่วยราชการ การจัดศูนย์ฯ และให้ไปอยู่รวมกันอาจจะไม่ใช่ทางออกแรก ๆ จึงมีข้อเสนอคล้าย ๆ ในต่างประเทศที่จัดพื้นที่ปลอดภัย เว้นระยะห่าง ประชาสัมพันธ์ความรู้เรื่องการดูแลป้องกันให้กับคนไร้บ้านโดยเฉพาะ เพื่อลดความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด  

นอกจากนี้อาจารย์ยังเน้นย้ำการป้องกันที่ต้องทำควบคู่กับการวางระบบดูแลคนไร้บ้าน โดยเฉพาะการฉีดวัคซีน โดยมองว่า คนไร้บ้านเป็นอีกกลุ่มที่ไม่พูดถึงเรื่องวัคซีน ในหลักการ วัคซีนต้องให้ทุกคน เพียงแต่ต้องมาจัดลำดับเขาก็น่าจะจัดเป็นกลุ่มเสี่ยง คู่กับสิทธิการรักษาและการฉีดวัคซีนด้วย

สอดคล้องกับ สิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา ที่มองเห็นข้อจำกัดการทำงานเชิงรุกของหน่วยงานรัฐกับคนไร้บ้าน โดยมองว่า กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ไม่ได้ถูกออกแบบให้ทำงานสอดรับไปกับ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

พม. เสนอเรื่องให้ช่วยเหลือกลุ่มคนไร้บ้าน แต่ สธ.มองว่าคนไร้บ้านไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง การตรวจเชิงรุก กระจายวัคซีน จึงยังไม่เกิดขึ้น ปัญหาคือนโยบายคนละอย่างไม่ปรับจูนเข้าหากัน ทำให้เกิดความลักลั่นพอสมควร กทม. ยิ่งแล้วใหญ่ ผมไม่เห็นการขยับใด ๆ จาก กทม. ตั้งแต่ระลอก 1-2-3

สิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการผู้ป่วยข้างถนน ได้เสนอแนวทางคุมความเสี่ยงระบาด 2 ส่วน คือ
1. คัดกรองตรวจเชิงรุก
2. ระดมการฉีดวัคซีนคนกลุ่มนี้ จำนวนไม่สูงมากเฉพาะใน กทม. ราว 1,500 คน

ขณะที่ความช่วยเหลือเฉพาะหน้าของมูลนิธิกระจกเงา ยังได้เปิดช่องทางบริจาคเฉพาะหน้า ผ่านบัญชี “โครงการผู้ป่วยข้างถนน” มูลนิธิกระจกเงา ธนาคารไทยพานิชย์ เลขบัญชี 202-2-582894 และเตรียมลงพื้นที่สำรวจคนไร้บ้านจุดสำคัญ ๆ เช่น ราชดำเนิน หัวลำโพง อนุสาวรีย์ชัยฯ รังสิต ฯลฯ โดยเบื้องต้นจะสนับสนุนเป็นเงินบริจาคทั้งหมด

ก่อนจะต่อยอดไปถึงการวางระบบให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงวัคซีนได้มากที่สุด เพราะต้องไม่ลืมว่า ส่วนใหญ่คนไร้บ้าน 50-60% เป็นคนสูงอายุ ซึ่งจะมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงระบบการลงทะเบียน และระบบบริการสุขภาพต่าง ๆ ได้ ในฐานะคนทำงานร่วมกับคนไร้บ้าน มองว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลคนไร้บ้านยังไม่ได้วางระบบการป้องกัน และดูแลที่ดีมากพอ นี่เป็นเหตุผลที่ไม่ค่อยเห็นการทำงานเชิงรุกในกลุ่มคนไร้บ้าน

โดยข้อมูลจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เปิดเผยผลสำรวจคนไร้บ้านทั่วประเทศ 2,719 คน เป็นชาย มากกว่า หญิง อยู่ใน กทม. มากที่สุด รองลงมา คือ นครราชสีมา เชียงใหม่ สงขลา ชลบุรี และขอนแก่น ในจำนวนนี้ ยังพบว่า คนไร้บ้านบางส่วน มีความพิการ และมีปัญหาสุขภาพจิต โดยจำนวนมากที่สุดอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร ประมาณ 1,500 คน  และพื้นที่ที่พบมากที่สุดคือ บริเวณราชดำเนิน ตรอกสาเก ฯลฯ

แม้จะดูเหมือนมีจำนวนน้อย แต่เครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานอยู่กับกลุ่มคนไร้บ้าน มองว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงรับเชื้อ และกระจายเชื้อได้ง่าย หากไม่มีการป้องกันที่ชัดเจน โดยเฉพาะระยะฟักตัว หรือ ไม่แสดงอาการ ซึ่งต้องไม่ลืมว่า หากคนกลุ่มนี้ไม่ได้ถูกประชาสัมพันธ์เรื่องการป้องกันตัวเองก็อาจเสี่ยงติดโรค และพวกเขายังมีข้อจำกัดเรื่องการใช้พื้นที่สาธารณะอยู่อย่างกระจัดกระจาย จึงอาจเป็นอีกความเสี่ยงหากมีการระบาดในคนกลุ่มนี้

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน