จี้ สปสช. แก้ปัญหา ‘คนไร้บ้าน’ เข้าไม่ถึงสิทธิบัตรทอง

‘สมาพันธ์คนไร้บ้านไทย’ จาก 9 จังหวัด ยื่น 5 มาตรการเร่งด่วน ดันสิทธิด้านสุขภาพ ย้ำ ต้องไม่มีใครถูกทอดทิ้งเพราะไม่มีบ้าน ด้าน ‘สมศักดิ์’ ชี้ปัญหาอยู่ที่หน่วยงานอื่น ๆ ไม่ใช่ กระทรวงสาธารณสุข 

วันนี้ (7 ก.ค. 68) อารียา สุปรียาพร ตัวแทนสมาพันธ์คนไร้บ้านไทย ยื่นจดหมายข้อเสนอสำคัญต่อ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อขอผลักดันให้กลุ่มคนไร้บ้าน ซึ่งเป็นหนึ่งในประชากรกลุ่มเปราะบาง เข้าถึงบริการสุขภาพในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้อย่างแท้จริง ครอบคลุมทั้งบริการพื้นฐาน การส่งเสริมสุขภาพ และระบบติดตามดูแลระยะยาว

สมาพันธ์คนไร้บ้านไทย ซึ่งเป็นเครือข่ายจาก 9 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ, ปทุมธานี, นนทบุรี, เชียงใหม่, ขอนแก่น, กาญจนบุรี, ระยอง, นครราชสีมา และ สงขลา ระบุว่า ปัจจุบันคนไร้บ้านจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในระบบสุขภาพ เช่น บัตรทอง ทั้งจากอุปสรรคเรื่องเอกสารรับรองตัวตน พื้นที่ให้บริการ และรูปแบบการดำรงชีวิตที่ไม่สอดคล้องกับระบบราชการ

จึงยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายที่นำเสนอต่อ สปสช. และกระทรวงสาธารณสุข แบ่งออกเป็น 5 ด้านหลัก ดังนี้

1. ตั้งคณะทำงานร่วมระดับชาติเพื่อคนไร้บ้าน

เสนอให้ สปสช. เป็นเจ้าภาพจัดตั้งคณะทำงานร่วมภายใต้คณะอนุกรรมการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในระบบหลักประกันสุขภาพ เพื่อบูรณาการข้อมูล ความเข้าใจในสิทธิของคนไร้บ้าน รวมถึงข้อจำกัดเฉพาะกลุ่ม โดยมีข้อเสนอย่อย เช่น

  • พัฒนาอาสาสมัครแกนนำคนไร้บ้าน และ อสม. ให้มีความรู้ด้านสุขภาพและสิทธิในระบบบัตรทอง รวมถึงทักษะการคัดกรองและดูแลกลุ่มเปราะบาง

  • ขยายโครงการ “ร้านยาใกล้บ้าน” ให้ครอบคลุมพื้นที่ที่คนไร้บ้านพักอาศัยชั่วคราว เพื่อเข้าถึงบริการยาและปรึกษาเบื้องต้นได้สะดวก

  • ส่งเสริมการใช้ OP Telemedicine โดยให้ความรู้และสนับสนุนการใช้งานแอปสุขภาพสำหรับคนไร้บ้านที่ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์สื่อสาร

  • เร่งติดตั้ง “ตู้ห่วงใย” ในพื้นที่เมืองและจังหวัดที่มีคนไร้บ้านจำนวนมาก เพื่อรับบริการเบื้องต้นโดยไม่ต้องเดินทางไกล

2. ยกเลิกข้อจำกัดการใช้สิทธิ โดยไม่เลือกปฏิบัติ

สมาพันธ์ฯ เรียกร้องให้ สปสช. และหน่วยงานท้องถิ่น ดำเนินการให้บริการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคแก่คนไร้บ้าน โดยไม่จำกัดสิทธิจากการไม่มีทะเบียนบ้าน หรือถิ่นพำนักแน่นอน และให้ได้รับการรักษาฉุกเฉินทุกกรณีโดยไม่ต้องพิสูจน์สถานะหรือสัญชาติ

3. สนับสนุนศูนย์พักคนไร้บ้านให้เป็นหน่วยบริการร่วม

เสนอให้ศูนย์พักพิงคนไร้บ้านและจุดประสานคนไร้บ้านในเมืองใหญ่ มีบทบาทเป็นหน่วยบริการร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพ โดยได้รับการรับรอง สนับสนุนงบประมาณ และพัฒนาศักยภาพบุคลากร เพื่อดูแลกลุ่มเปราะบางในระยะพักฟื้น เช่น คนไร้บ้านสูงอายุ คนพิการ หรือผู้ป่วยที่เพิ่งออกจากการรักษาแบบระยะยาว (long-term care)

4. สร้างระบบฐานข้อมูลสุขภาพแบบเชื่อมโยงเดียว

สมาพันธ์ฯ เสนอให้กระทรวงสาธารณสุขและ สปสช. พัฒนาระบบข้อมูลด้านสิทธิและประวัติสุขภาพที่เชื่อมโยงกันจากทุกหน่วยบริการ เพื่อให้คนไร้บ้านสามารถเข้ารับบริการได้ทุกแห่ง โดยไม่ต้องพกเอกสารหรือสำรองเงินล่วงหน้า ลดภาระเดินทาง และทำให้นโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่” เกิดขึ้นจริง

5. พัฒนารูปแบบบริการสุขภาพเชิงรุกและเฉพาะกลุ่ม

ข้อเสนอนี้มุ่งเน้นให้โรงพยาบาลและศูนย์บริการในเขตเมืองใหญ่ พัฒนาบริการเฉพาะทางที่สอดคล้องกับสภาพของคนไร้บ้าน โดยประกอบด้วย

  • ระบบ “นัดเดียวจบ” สำหรับผู้ป่วยไร้บ้านที่มีภาวะเปราะบาง เช่น สูงอายุ ติดเตียง หรือระยะท้าย โดยให้บริการครบทั้งตรวจเลือด พบแพทย์ และรับยาในวันเดียว

  • บริการสุขภาพเคลื่อนที่ประจำเดือน ร่วมกับแกนนำชุมชนคนไร้บ้าน เพื่อเข้าถึงผู้ป่วยในพื้นที่สาธารณะ ศูนย์พักพิง และจุดพักกลางเมือง

  • ระบบจัดสรรผ้าอ้อมผู้ใหญ่รายบุคคล ให้กับผู้ป่วยที่ต้องใช้ โดยให้ศูนย์พักคนไร้บ้านและชุมชนเป็นผู้จัดการและกระจาย พร้อมเชื่อมข้อมูลการใช้และการเบิกจ่ายเพื่อบริหารงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้ป่วยควรได้รับผ้าอ้อมล็อตแรกภายใน 30 วันหลังขึ้นทะเบียน

สมาพันธ์คนไร้บ้านไทย ยังระบุด้วยว่า หากข้อเสนอเหล่านี้ได้รับการผลักดันอย่างเป็นรูปธรรม จะช่วยให้กลุ่มคนไร้บ้านสามารถเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพได้อย่างเท่าเทียม ไม่ถูกทอดทิ้งจากสิทธิพื้นฐาน และทำให้นโยบายด้านสุขภาพของรัฐ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” อย่างแท้จริง

Image Name

‘สมศักดิ์’ ชี้ต้นทางปัญหาอยู่นอก สธ.

ด้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังรับหนังสือจากตัวแทนกลุ่มคนไร้บ้านว่า ได้รับเรื่องไว้แล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาหาแนวทางแก้ไขร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับแนวทางของการแก้ปัญหานี้ ต้นทางอาจจะเป็นหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่กระทรวงสาธารณสุขโดยตรง ส่วนปลายทางเป็นเรื่องของเรา เราก็จะดูว่ามันขาดเอกสารอะไร ที่ทำให้ไม่สามารถเข้าสู่การรักษาพยาบาลได้ 

โดยเฉพาะกรณีของผู้ที่อยู่ในบ้านเช่า ซึ่งแม้จะสามารถใช้บริการกับระบบสาธารณสุขได้ แต่กลับติดปัญหาเรื่องเอกสารรับรองจากต้นทาง เช่น หนังสือรับรองการอยู่อาศัย หรือข้อมูลอื่นที่จำเป็นต่อการยืนยันตัวตนในการเข้ารับบริการ 

สมศักดิ์ บอกอีกว่า ปัญหาบางอย่าง เช่น คนไร้บ้านไม่กล้าเข้าไปใช้บริการ เพราะรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง หรือกลัวถูกปฏิเสธ ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้

“บางทีเขาบอกว่า ไม่ได้อาบน้ำ ตัวเหม็น แล้วทางหน่วยบริการทางการแพทย์ก็ไม่ให้เข้าไป แบบนี้มันก็เป็นปัญหา”  

สมศักดิ์ เทพสุทิน

รมว.สธ. บอกด้วยว่า หากระบบจะทำให้คนกลุ่มนี้เข้ารักษาได้อย่างราบรื่น ต้องแก้ตั้งแต่ต้นทาง ไม่ใช่เพียงปลายเหตุ เพราะแม้เจ้าหน้าที่จะมีเจตนาดี แต่เมื่อมีคนจำนวนมากใช้บริการ การรับผู้ที่มีปัญหาเฉพาะหน้าโดยไม่เตรียมระบบรองรับ ก็จะยิ่งเพิ่มภาระและกลายเป็นปัญหาในระบบสุขภาพ

“เราต้องมองภาพรวมและจินตนาการว่า อะไรที่มันง่าย ถ้าไปแก้ปลายเหตุ บางทีมันก็ไม่ง่ายหรอกนะ เพราะบางทีคนไปรักษาพยาบาลมีจำนวนมาก แล้วบางคนก็เหม็นเข้าไป มันก็ทำให้คนอื่นเป็นปัญหา เราต้องทำอย่างไรตั้งแต่ต้นทาง”   

สมศักดิ์ เทพสุทิน

ทั้งยังเสนอแนวคิดว่า หากสามารถออกแบบพื้นที่บริการที่รองรับคนไร้บ้านโดยเฉพาะ เช่น จุดพักพิงชั่วคราวที่มีน้ำให้ใช้อาบ มีการดูแลเบื้องต้นก่อนส่งต่อเข้าสถานพยาบาล ก็จะช่วยลดแรงเสียดทานและปัญหาการถูกปฏิเสธได้มากขึ้น 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active