“คัดกรอง วัคซีน อุปกรณ์ป้องกันโรค” ข้อเรียกร้องช่วย “คนจนเมือง”

เปิดสถานการณ์ระบาด คลัสเตอร์ “คนจนเมือง” ด้าน ภาคประชาสังคม ถอดบทเรียน กลไกภาคประชาชน ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง หยุดโควิด-19 ระบาด กทม.

เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2564 หลังพบสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 กระจายตัวเป็นคลัสเตอร์ใหม่หลายแห่งในกรุงเทพมหานคร ทั้งชุมชนแออัด แคมป์คนงาน และเรือนจำ จันทิมา ลังประเสริฐ ตัวแทนเครือข่ายบ้านมั่นคง ระบุว่า หลายชุมชนในเครือข่ายตอนนี้ พบว่ามีผู้ติดเชื้อแล้ว โดยให้สมาชิกในชุมชนที่มีการติดเชื้อลงทะเบียนกรอกข้อมูลกับทางเครือข่ายฯ เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับการช่วยเหลือ ซึ่งเครือข่ายฯ ได้มีการจัดตั้งกองทุน และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความช่วยเหลือทั้งปากท้องและด้านสาธารณสุขให้กับผู้ติดเชื้อโควิด-19

มีผู้ติดเชื้อตกค้างรอรถมารับ 2-3 วัน บางคน ไม่เกิน 24 ชม. ทางเครือข่ายก็ได้ให้คำแนะนำถึงการปฏิบัติตัว เช่น ผู้ติดเชื้ออยู่ในบ้าน แยกกันชั้นบนล่าง ฉีดแอลกอฮอล์ในจุดสัมผัสเสี่ยงต่าง ๆ หากคุยให้โทรศัพท์กัน พบว่าบางหลัง อยู่กันหลายคนแต่ไม่เกิดการแพร่เชื้อ จนได้เข้ารับการรักษาก็มี

ในส่วนของชุมชนคลองลัดภาชี เขตภาษีเจริญ ตอนนี้มีผู้ติดเชื้อรวม 14 คน และกระจายไปหลายบ้าน เครือข่ายจึงได้มีการจัดตั้งครัวกลางขึ้นมาในชุมชน เพื่อช่วยเหลือสมาชิก เนื่องจากบางคนแม้จะตรวจแล้วไม่พบเชื้อในรอบแรก แต่ก็ต้องกักตัวต่ออีก 14 วัน

จันทิมายังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า การจะให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขเข้ามาตรวจในชุมชนที่ชาวบ้านคิดว่าเสี่ยง และพบผู้ติดเชื้อแล้วก็ตาม แต่หากไม่ใช่คลัสเตอร์ใหญ่อย่างบ่อนไก่ หรือคลองเตย จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นยากมาก และไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่เคย

ความจนมันทำให้เราต้องสู้ ทำให้เราต้องออกจากบ้านไปทำงานหาเงิน แต่เมื่อออกไปแล้ว เราไม่รู้ว่าจะเอาเชื้อไปแพร่หรือไม่รับเชื้อเข้ามา ซึ่งการไม่ได้ตรวจคัดกรองก็ทำให้ไม่สามารถควบคุมการแพร่เชื้อได้ทั้งหมด จึงเป็นข้อเสนอเลยว่าอยากให้ตรวจทั้งหมด อีกอย่างหนึ่งคือพบว่าหลายชุมชนที่มีข้อพิพาทการไล่รื้อที่ดินจากการรถไฟฯ ถึงตอนนี้คดีก็ยังไม่หยุด ยังเดินหน้าต่อไป จึงขอวอนให้มีการชะลอการไล่รื้อ เพราะสถานการณ์ตอนนี้ไม่เอื้ออำนวยที่พี่น้องจะจัดการ

วรรณา แก้วชาติ เครือข่ายสลัมสี่ภาค ระบุว่า พบสมาชิกในเครือข่ายติดเชื้อโควิด-19 ทั้งหมด 5 ชุมชน ในเรื่องปากท้องมีความพยายามในการจัดการกันเอง เช่น ร้านอาหารราคาถูกในชุมชน มีการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันตัวเอง เช่น เจลแอลกอฮอล์ แต่ห่วงกังวลเรื่องการเข้าถึงการรักษาพยาบาล เนื่องจากเบอร์สายตรงต่าง ๆ ของรัฐติดต่อไม่สะดวก

ดีที่เรามี อสส. แกนนำในชุมชนและเครือข่ายที่ร่วมทำงานกัน เช่น สปสช. ก็ได้ช่วยกันประสานให้สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ และได้มีการจัดตั้งที่พักคอยในชุมชน สำหรับคนที่ต้องกักตัว แต่บ้านมีพื้นที่จำกัด ก็จะมีการเตรียมการให้ทั้งข้าวปลาอาหาร และที่หลับที่นอนให้ สามารถรองรับได้ประมาน 50 คน ทั้งนี้ พบว่าไม่มีผู้ป่วยตกค้างเพราะสามารถช่วยประสานงานได้หมด

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนออื่น ๆ คือ เรื่องการชะลอมาตรการไล่รื้อพี่น้องคนจนเมืองที่บุกรุกอยู่ในพื้นที่การรถไฟ เช่น ชุมชนริมทางรถไฟเขตราชเทวี ที่เพิ่งได้รับหมายไล่รื้อจากการรถไฟในเร็ว ๆ น้ี จึงมอว่ารัฐควรจะเลื่อนเรื่องนี้ไปก่อน เพราะเป็นการซ้ำเติมปัญหาท่ามกลางสถานการณ์การระบาดโควิด-19 และเรื่องการสนับสนุนให้เข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันตัวเอง

ถ้าเราอยากจะหยุดเชื้อ ก็จำเป็นที่ทุกคนจะต้องได้รับวัคซีน เราจึงมองว่าเรื่องนี้สำคัญ เป็นวิธีที่ป้องกันได้ดีที่สุด นอกเหนือจากนั้นคือเรื่องของอุปกรณ์ป้องกันตัวเอง เราเข้าใจว่าบางหน่วยอาจไม่มีงบประมาณแต่รัฐก็ควรจะจัดหาให้ และเรื่องปากท้อง ระยะยาวการพึ่งพาอาศัยของคนบริจาคจะไม่ยั่งยืน แต่ถ้ามีการแบ่งปันอาหารเฉลี่ยค่าใช้จ่ายกันในชุมชน

สิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา ระบุว่า การระบาดในระลอกที่ 3 นี้ คนไร้บ้านได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากการบริจาคก็มีน้อยจากผลกระทบทางเศรษฐกิจในภาพรวม และมาตรการของรัฐที่ให้ประชาชนเลี่ยงการรวมตัว ทำให้การจัดกิจกรรมช่วยเหลือไม่เกิดขึ้น

รัฐมองว่าคนไร้บ้านไม่ใช่คนสำคัญที่จะต้องรีบเข้ามาช่วยเหลือดูแล หรือผ่อนคลายบรรเทาให้กับคนไร้บ้านเลย แม้ว่าจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบก็ตาม ในเรื่องคุณภาพชีวิตของคนไร้บ้าน เมื่อเข้าไม่ถึงอาหารสุขภาพก็แย่ลงเรื่อย ๆ และหากว่าคนไร้บ้านติดโควิด-19 และมีการระบาดในกลุ่มคนไร้บ้าน อาจจะเกิดอาการรุนแรง เนื่องจากคนไร้บ้านมีโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อโรคอยู่แล้ว และยังเป็นผู้สูงอายุจำนวนมาก

สิทธิพลได้อธิบายเพิ่มว่า มูลนิธิกระจกเงา ได้มีการลงพื้นที่สำรวจคนไร้บ้าน ใน 4 พื้นที่ คือ หัวลำโพง อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ราชดำเนิน รังสิต พบว่ามี จำนวน 189 คน โดยเป็นผู้สูงอายุ 70% ขึ้นไป ซึ่งหากมีการติดเชื้อในกลุ่มคนไร้บ้าน จะไปเป็นภาระงานที่เพิ่มขึ้นของระบบสาธารณสุข และสังคมอาจรังเกียจพวกเขามากขึ้น

การช่วยเหลือ อย่างแรกคือ ที่อยู่อาศัย เพราะมีคนไร้บ้านจำนวนหนึ่งประสงค์จะมีอยู่อาศัยในช่วงวิกฤตโรคระบาด ส่วนคนที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะก็ต้องมีอุปกรณ์ป้องกันตัวเอง สามคือ เรื่องอาหารการกิน สี่คือเรื่องของรายได้ เพื่อที่จะซื้อสิ่งต่าง ๆ หรือดูแลตัวเอง สุดท้าย คือการเข้าถึงสาธารณสุข การตรวจคัดกรอง และการเข้าถึงวัคซีน ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากที่รัฐจะเข้าไปถึงเพราะคนไร้บ้านก็จะมีที่อยู่ประจำ

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้