เปิดงานวิจัยชุมนุมดินแดง “ที่มาที่ไป” อีกมุมม็อบ นักวิชาการร่วมชี้ ภาพสะท้อนปัญหาใหญ่โครงสร้างสังคมไทย

อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ เปิดข้อมูลวิจัยการชุมนุมแยกดินแดง พบผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นลูกหลานกลุ่มคนจนเมือง ที่กำลังสร้างอนาคต แต่การบริหารรัฐล้มเหลว ถูกดึงกลับไปสู่ความจนอีกครั้ง

29 ต.ค. 2564 ปรากฏการณ์ในพื้นที่ดินแดงที่เกิดขึ้นในระยะเวลา เกือบ 3 เดือนที่ผ่านมา เต็มไปด้วยคำถามจากสังคม ซึ่งมองผ้ชุมนุมในพื้นที่หลากหลายมิติ บางคนตั้งข้อสังเกตว่า เป็นพวกป่วนเมืองหรือไม่ แต่มีข้อมูลอีกด้านของนักวิชาการที่ลงพื้นที่วิจัยเรื่องนี้ ในชื่อ การก่อตัว พัฒนาการ และพลวัตรการชุมนุมดินแดง ซึ่งนำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์ ผู้สื่อข่าว Plus Seven ร่วมกับทีมนักวิชาการลงไปในพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลทำงานวิจัย

โดยกรณีศึกษาเป็นผู้ชุมนุมในพื้นที่ดินแดง 30 คน พบข้อมูลเบื้องต้น โดยสามารถแบ่งกลุ่มคนที่มาชุมนุมในพื้นที่ดินแดงออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ

กลุ่มที่ 1 คือกลุ่มลูกหลานชนชั้นล่างของสังคมหรือ bottom of the Pie ทั้งในเมืองและชนบทที่มีทุนติดลบในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การศึกษา และการเข้าถึงสวัสดิการ มากถึงร้อยละ 65

กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มเยาวชนลูกหลานชนชั้นกลางที่เข้าร่วมการชุมนุมตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่มองว่าการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์และแนวทางสันติวิธีแบบเดิมอาจจะใช้ไม่ได้ผลในการผลักดันการเปลี่ยนแปลง จึงหันไปสู่การเคลื่อนไหวแบบอื่นๆไม่ว่าจะเป็นการยกระดับสู่การกดดันรัฐบาลด้วยการเผชิญหน้าและการปะทะตอบโต้เจ้าหน้าที่อย่างที่เราเห็นกันในพื้นที่ดินแดง แต่กลุ่มนี้จะมีจำนวนน้อยกว่ากลุ่มแรก

จากข้อมูลของงานวิจัย ยังพบอีกว่ากว่าร้อยละ 80 เติบโตในครอบครัวที่พ่อแม่อยู่ภายใต้การจ้างงานแบบชั่วคราว งานบริการ ค่าจ้างต่ำ ไม่สามารถหารายได้มาเลี้ยงดูลูกหลานได้อย่างเพียงพอ กว่าร้อยละ 67 เป็นกลุุ่มคนที่ประสบปัญหาความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย อาศัยอยู่ในห้องเช่า และครอบครัวยังไม่มีความสามารถในการซื้อหรือมีรายได้ที่มั่นคงพอที่จะผ่อนจ่ายเพื่อซื้อบ้านเป็นของตนเอง มีเพียงร้อยละ 33 เท่านั้น ที่ครอบครัวมีที่อยู่อาศัยถาวร แต่ก็ยังต้องอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวขยาย โดยหนึ่งครัวเรือนอาจมีประชากรตั้งแต่ 4 – 15 คน

ทั้งนี้เมื่อตั้งคำถามไปที่การศึกษาพบว่ากว่าร้อยละ 57 จบการศึกษาเพียงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และมากถึง 16 เปอร์เซ็นต์หลุดออกจากระบบการศึกษาตั้งแต่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และกว่าร้อยละ 27 สามารถจบการศึกษาสูงสุดเพียงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า แม้กรณีศึกษาจะไม่ได้ ระบุว่า ปัญหาของระบบการศึกษาคือปัจจัยหลักที่ทำให้พวกเขาออกมาชุมนุมที่แยกดินเดิน แต่เมื่อสัมภาษณ์เชิงลึกก็พบว่า การออกจากระบบการศึกษาตั้งแต่อายุยังน้อยทำให้พวกเขาขาดโอกาสและทางเลือกในชีวิต ทั้งหมดต้องเริ่มต้นใช้ชีวิตที่ทางานหนักตั้งแต่อายุยังน้อย

แม้ว่าผู้ชุมนุมที่แยกดินแดงส่วนใหญ่จะมีภูมิหลังของชนชั้นล่าง เติบโตด้วยทุนในชีวิตที่ต่ำมากในทุกมิติ และต้องอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อันตรายและยากลำบาก แต่ผู้ให้ข้อมูลที่เข้าร่วมการชุมนุมที่แยกดินแดงกลับเป็นคนหนุ่มสาวที่พยายามก้าวข้ามอุปสรรค และในหลายกรณีก็เริ่มสามารถทำมาหาเลี้ยงชีพและเลี้ยงดูตนเองได้ จากการเก็บข้อมูล ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ออกจากระบบการศึกษาตั้งแต่อายุน้อย เข้าสู่ระบบแรงงาน และพยายามต่อสู้และปรับตัวทุกวิถีทางเพื่อยกระดับฐานะและชีวิตความเป็นอยู่ กว่าร้อยละ 73 ทำงานอย่างหนักและทำหลายงาน

การวิจัยครั้งนี้ ยังพบความแตกต่างระหว่างสองกลุ่มอย่างชัดเจน กลุ่มลูกหลานชนชั้นกลาง มีความฝันว่าอยากมีอนาคตที่ดี ขณะที่กลุ่มเยาวชนดินแดงต้องการที่จะมีปัจจุบันที่ดีกว่านี้ ส่วนภาพของอนาคต ฝั่งของคนรุ่นใหม่ 63 เขาสะท้อนว่ามองไม่เห็นอนาคต แต่ในส่วนของผู้ชุมนุมที่ดินแดง สะท้อนว่าเขาไม่กล้าแม้แต่จะคิดถึงอนาคต

ข้อเรียกร้องของกลุ่มปี 63 คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ,นายกฯลาออก,ยุบสภา,เลือกตั้งใหม่และปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ในส่วนของกลุ่มเยาวชนที่ชุมชนที่ดินแดงมีข้อเรียกร้องคือการที่นายกฯลาออก และการเปิดพื้นที่รับฟังปัญหาความคิดเห็นของพวกเขา

ส่วนกลุ่มเยาวชนปี 63 เขามีแนวทางสันติวิธี เน้นแสดงออกผ่านออนไลน์ ขณะที่กลุ่มเยาวชนดินแดงจะเน้นที่การเผชิญหน้าปะทะตอบโต้เจ้าหน้าที่รัฐ สื่อสารกันผ่านกลุ่มเครือข่ายและคนที่รู้จักกันมาก่อน

โดยกลุ่มผู้ชุมนุมในพื้นที่ดินแดงมีข้อจำกัด เรื่องของข้อมูล ความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างรัฐที่กว้างและลึกซึ้ง พวกเขาต้องการการเปลี่ยนแปลงที่ต้องเห็นผลตอนนี้และทันที ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ซับซ้อน จึงเรียกร้องให้ “นายกฯลาออก” เพราะเชื่อว่าคือผลกระทบโดยตรง การเคลื่อนไหวแบบเผชิญหน้าปะทะตอบโต้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ถือเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะเขาเผชิญกับปัญหาความเป็นความตายในชีวิตอยู่ทุกวัน

จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลนับตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2564 เป็นต้นมา งานวิจัยมีข้อสรุปและทางออกเบื้องต้น ทั้งในเฉพาะหน้าและระยะยาว 3 อย่างคือ

หยุดใช้ความรุนแรงในการจัดการชุมนุม ซึ่งผู้ทำการวิจัยมองว่านี่จะเป็นเงื่อนไขสำคัญอันดับแรกในการลดแรงกดดัน การเปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของผู้ชุมนุม และการผลักดันนโยบาย และส่งเสริมเยาวชนชนชั้นล่างในหลากหลายมิติเพราะสิ่งที่พวกเขาต้องการคือการที่มีชีวิตปัจจุบันที่ดีกว่านี้ ซึ่ง ผศ.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล ผู้ทำการวิจัยยอมรับว่า

“มันเห็นถึงลมหายใจของเขาที่มันไปต่อไม่ได้จริง ๆ ส่วนเรื่องสันติวิธีมันยากที่จะแยกแยะ ว่านี่คือสันติวิธีหรือไม่สันติวิธีเพราะเมื่อเราพูดถึงเฉพาะเรื่องความรุนแรงเราเห็นเฉพาะภาพที่เขากระทำบนท้องถนน ซึ่งพวกเขาเองก็ไม่ได้จะตระหนักว่ามันทำให้สังคมมองไม่เห็นปัญหาจริง ๆ ของเค้าซึ่งดิฉันคิดว่าเรื่องทางออกทางเลือกฉันต้องบอกว่าทางออกทางเลือกที่เขียนมันเป็นแนวทุ่งลาเวนเดอร์คือเขียนขึ้นมา เพื่อให้ฝ่ายรัฐคิดว่ามันยังมีทางออกซึ่งมันไม่ใช่ทางออก ที่ว่าฉันต้องการแต่ดิฉันคิดว่าทางออกที่มันจะเกิดขึ้นได้มันมีหลายมิติมากแล้วดิฉันเชื่อว่าการชุมนุมม็อบทะลุแก๊สที่พวกเขาจะกลับมาเค้าจะไม่ได้กลับมาแบบเดิม 

แม้รัฐบาลไทยในทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา จะอ้างอิงถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยและพยายามแก้ไข ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการผลักดันนโยบายหรือมาตรการที่ดีพอที่จะลดความเหลื่อมล้ำและช่วยยกระดับชีวิตของคนในระดับล่าง และขาดมาตรการช่วยเหลือ ปกป้อง และสร้างโอกาสให้กับชนชั้นล่างของไทยและลูกหลานของเขา นับวันความเหลื่อมล้ำ ในสังคมไทยกลับยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยถ่างออกจากกันขึ้นทุกที

ผศ.กนกรัตน์ ได้เปิดงานวิจัยฉบับนี้ ผ่านเวทีเสวนาออนไลน์ ซึ่งจัดขึ้นโดยเพจ The101.world เมื่อวันที่ 26 ต.ค 2564 ที่ผ่านมา ในชื่อ 101 Public Forum: ‘ทำไมต้องทะลุแก๊ส’ เข้าใจหลากมิติม็อบดินแดง พร้อมทั้งระดมความคิดเห็นจากนักวิชาการเพื่อเปิดมุมมองงานวิจัยและพัฒนาต่อยอดเพิ่มเติม

รศ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมเสวนา ให้ความเห็นว่า กลุ่มนี้มีการเคลื่อนไหวผ่านสิ่งที่สำคัญ คือมันเกี่ยวข้องกับโลกของชีวิต ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ ปากท้อง ของตัวเขาเอง ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องของลักษณะนิสัย แต่สัมพันธ์กับเรื่องของระบบเศรษฐกิจผู้คนต่าง ๆ

แน่นอนว่าวิกฤติในเรื่องของโควิดมันก็เป็นปัจจัยเร่งที่สำคัญ เพราะโควิดเห็นถึงความล้มเหลวของรัฐในเรื่องของการป้องกันโรค วัคซีนหรือแม้กระทั่งเรื่องของงบประมาณการฟื้นฟูเยียวยาต่าง ๆ ซึ่งมันก็ไม่ได้นำไปสู่เรื่องของประสิทธิภาพในการจัดการ และเรื่องของการสร้างรายได้ให้กับผู้คนเหล่านี้

“อาจารย์กนกรัตน์ก็พยามให้เราเข้าใจในประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ฉะนั้นเรื่องตรงนี้มันผ่านไปแล้วมันมีอีกด้านหนึ่ง ถือว่าสำคัญก็คือด้านรัฐที่ว่ามันอาจจะนำมาสู่ประเด็นที่จะพูดถึงในประเด็นสุดท้ายว่า แล้วทางออกสังคมไทยมันจะเป็นอย่างไรบ้าง

อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องของวิธีการเคลื่อนไหวแบบนี้มันจะมีลักษณะของการกีดกันผู้คนออกไป ซึ่งผมไม่ค่อยแน่ใจว่าได้ทำงานสื่อสารกับผู้คนในสังคมมากน้อยแค่ไหนในแง่ของการศึกษาด้วย มันมีลักษณะแบบนี้มากน้อยแค่ไหนเพราะผมคิดว่าถ้าเราจะประเมินผลต่างๆมันจะต้องพิจารณาเรื่องพวกนี้”

“ผมคิดว่างานของอาจารย์กนกรัตน์ ได้ช่วยให้เห็นภาพความชอบธรรมในการปราบปรามของรัฐมันลดน้อยลงไป “

รศ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ.บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า มีข้อมูลที่สอดคล้องกับข้อมูลงานวิจัยครั้งนี้คือ พวกเขาเป็นคนที่มีครอบครัวเป็นชนชั้นรากหญ้า มีประสบการณ์ที่ถูกเอาเปรียบโดยรัฐหรือตำรวจ ซึ่งอันนี้ก็เป็นลักษณะร่วมของคนจนเมือง

“ผมทำวิจัยที่มีอาจารย์ประภาสอยู่ในทีมด้วยเรื่องคนจนเมืองยิ่งพอมีปรากฏตกาลนี้เรื่องการชุมนุมที่สามเหลี่ยมดินแดงประกอบกับผมก็เป็นคนที่อ่านหนังสือเรื่องความรุนแรงมาอยู่บ้างก็รู้สึกว่าสนใจเรื่องนี้ คือภาพรวมของงานวิจัยที่ได้อ่านผมก็เห็นสอดคล้องกับอาจารย์กนกรัตน์ที่เสนอมาหลายหลายประเด็นที่สอดคล้องกับสิ่งที่ผมได้คุยได้ฟังกับน้องน้องเยาวชนที่สามเหลี่ยมดินแดงบ้างหรือที่อนุสาวรีย์บ้างถ้าคุณอยู่แนวหน้า 

โดยรวมรวมผมคิดว่าอาจารย์กนกรัตน์พยายามที่จะเก็บข้อมูล ที่หนักแน่นแล้วพยามที่จะเสนอ อย่างที่อาจารย์ประภาส บอกมันทำให้เราได้เห็นว่าพวกเขามีที่มาที่ไป มีเหตุมีผล ไม่ใช่ผู้ที่จะใช้ความรุนแรงที่ไม่มีเหตุ

ศาตราจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ กีรตยาจารย์สาขาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า สิ่งที่กลุ่มคนเหล่านี้ทำ กำลังสื่อสารกับเราว่า ทุกอย่างที่เป็นแรงกระตุ้นให้เขาออกมา การกระทำที่ถูกสื่อสารออกมา เป็นอาการของสังคมนี้ แล้วมันมีคนจำนวนมากที่ได้รับความทุกข์ทรมานจากปัญหาเหล่านี้ ที่สำคัญไปกว่านั้นพวกเขาคือคนที่สะท้อนให้เห็นปัญหาที่ลึกลงไปอีก

และแม้งานวิจัยเช่นนี้จะมีการเสนอทางออกไว้ แต่ ศาสตราจารย์ชัยวัฒน์ ระบุว่า งานของอาจารย์หลายคน ที่ศึกษาทำให้เราเห็นว่าสังคมไทยมันป่วย คนเหล่านี้เป็นเหยื่อของความรุนแรง ในการดำเนินชีวิตของพวกเขาทั้งทางโครงสร้างทั้งการถูกรังแกโดยเจ้าหน้าที่ ซึ่งนี่คือปัญหาใหญ่ของสังคมไทย และเมื่อมองถึงทางออก ศาสตราจารย์ชัยวัฒน์ ให้ความเห็นต่างจากงานวิจัยที่ได้มา ว่าการเปิดพื้นที่เจรจาอาจจะยังไม่ใช่

“ประเด็นเรื่องทางออกในกรณีนี้นะครับสำหรับพวกเขาที่อาจารย์กำลังเสนอเรื่องการเจรจาหรือเรื่องอื่น ๆ ผมไม่ค่อยแน่ใจว่ามันจะใช่ทางออกของเค้า ถ้าฟังจากอาจารย์บุญเลิศ อาจารย์ประภาสและตัวอาจารย์เอง คือทางออกในการทำให้เรื่องของเขามันปรากฏและเขาก็พร้อมที่จะจ่ายราคาซึ่งแสนแพงในความเห็นของเรา แต่สำหรับเขาต้นทุนมันมีอย่างนี้แหล่ะเขาก็ทำและพร้อมที่จะทำผมรู้สึกว่าอันนี้มันเป็นปัญหา มันเลยทำให้ทางออกที่ว่ามันยากมาก”

“สุดท้ายนี้ผมก็อยากจะตั้งโจทย์ไม่ใช่สำหรับพวกเขาและไม่ใช่สำหรับเราที่เป็นนักวิชาการแต่เป็นโจทย์ของสังคมไทยอันใหญ่นะครับว่าถ้างานของอาจารย์ชีให้เห็นได้ถึงขนาดนี้แล้ว คำถามคือจะฟื้นคืนชีวิตให้สังคมไทยเพื่ออนุญาตให้คนในสังคมไทยซึ่งมีฝันแตกต่างกันอยู่ด้วยกันได้อย่างไรผมรู้สึกว่าอันนี้มันกลายเป็นเรื่องใหญ่”

ผศ.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล ระบุว่า จะนำข้อมูลวิจัยชิ้นนี้ ไปทำให้เป็นหนังสือ โดยคาดหวังว่าเนื้อหาในนี้อาจจะสร้างมุมมองให้กับคนที่อ่าน เปลี่ยนวิธีคิดในเรื่องของสังคมและโครงสร้างการเมืองในสังคมไทยจริง ๆ ว่ามันสร้างชะตากรรมของผู้คนจำนวนมากมายและอาจทำให้เรามองม็อบที่ทะลุแก๊สแตกต่างไปจากเดิม

อ้างอิง : 101 Public Forum: ‘ทำไมต้องทะลุแก๊ส’ เข้าใจหลากมิติม็อบดินแดง