หนุนรัฐกลับเข้า “โคแวกซ์” กระจายความเสี่ยง จัดหาวัคซีน

“แพทย์ชนบท” เชื่อ ก.ค.นี้ แอสตราเซเนกาส่งมอบได้แค่ 4 ล้านโดส สธ. วิ่งหา “ซิโนแวค” เพิ่มอีก 5 ล้านโดส “สฤณี” ชี้ ซิโนแวคไม่ควรเป็นวัคซีนเพื่อการเปิดประเทศ ขอความคืบหน้าจัดหาวัคซีนยี่ห้ออื่น แบบรายวัน

เดือนกรกฎาคม 2564 รัฐบาลตั้งเป้า ได้รับวัคซีนจากแอสตราเซเนกา 10 ล้านโดส และวัคซีนซิโนแวคอีก 5 ล้านโดส รวมเป็น​ 15 ล้านโดส 

แต่แผนจัดหาวัคซีนดังกล่าวอาจไม่เป็นไปตามเป้า เพราะการผลิตวัคซีนแอสตราเซเนกาในประเทศไทย จากโรงงานสยามไบโอไซเอนซ์ มีศักยภาพกำลังการผลิตลดลงไปถึง 25%

“นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ” ประธานชมรมแพทย์ชนบท ระบุ เป้าหมายการผลิตแอสตราเซเนกา ประเทศไทย ที่ตั้งเป้าไว้ 20 ล้านโดสต่อเดือน ตอนนี้ค่อนข้างแน่นอนว่าความสามารถในการผลิตเหลือแค่ 15 ล้านโดสต่อเดือน จึง เป็นไปไม่ได้ที่จะส่งมอบวัคซีนให้ประเทศไทย ครบ 10 ล้านโดสในเดือนกรกฎาคม 

ขณะที่อีกหลายประเทศที่จองแอสตราเซเนกาจากโรงงานผลิตในประเทศไทย ก็ถูกลดจำนวนการส่งมอบวัคซีนลงเช่นกัน สำหรับประเทศไทย แอสตราเซเนกาจะสามารถส่งมอบอยู่ที่สัปดาห์ละ 1 ล้านโดส ดังนั้น เดือนกรกฎาคมประเทศไทยจะได้รับแอสตราเซเนกาเพียง 4 ล้านโดส 

“เข้าใจว่าการผลิตคงมีข้อจำกัดหลายประการ และมีความสามารถประมาณเท่านี้แล้ว ไม่มากไปกว่านี้ ที่หายไป 6 ล้าน ไม่รู้จะหาที่ไหนมาเติมให้ครบ 10 ล้านโดนต่อเดือน ก็ต้องหาวัคซีนบริจาค ตอนนี้ญี่ปุ่นอาจจะให้ 1-2 ล้านโดส อเมริกาอีก 1-2 ล้านโดส รัฐบาลก็พยายามขอวัคซีนบริจาคให้มาทันในเดือนกรกฎาคม”

“นพ.สุภัทร” บอกว่าจะ สาหัสมากถ้าประเทศไทยมีวัคซีนเพียง 4 ด้านโดส จากแอสตราเซเนกา ก็ต้องเติมด้วยซิโนแวค ที่สังคมไม่อยากได้ อย่างไรก็ตาม คิดว่ามีวัคซีนดีกว่าไม่มี ซึ่งซิโนแวคเป็นวัคซีนที่ถ้ามีเงินจ่ายจะมาเร็ว

การจัดหา และประสิทธิภาพวัคซีนมีผลต่อการเปิดประเทศ

หากกำลังการผลิตแอสตราเซเนกา ประเทศไทยเหลือ 75% การส่งมอบวัคซีนให้แต่ละประเทศจากโรงงานผลิตในไทยควรจะลดลงเฉลี่ยกันในระดับเดียวกัน ไม่ควรเกิดกรณีที่ว่าวัคซีนที่ส่งไทยหายไป 50-60%  ขณะที่ส่งมอบประเทศอื่นลดลงเพียง 25% คือ ข้อสังเกตจาก “สฤณี อาชวานันทกุล” นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ ว่าสัญญาที่เราทำ อ่อนแอกว่าสัญญาที่ประเทศอื่นทำ หรือเราเสียเปรียบเขาหรือเปล่า

ขณะที่ ซิโนแวค ก็พิสูจน์ให้เห็นชัดว่าเป็นยี่ห้อที่ส่งมอบเร็ว ไม่ใช่แค่ส่งให้ไทยได้เร็ว แต่ทุกประเทศที่สั่งก็ได้ของเร็วมาก สอดคล้องกับตัวเลขกำลังการผลิตค่อนข้างเหลืองเฟือ ถ้าจำเป็นจะต้องใช้ซิโนแวค อาจจะไม่ได้มีทางเลือกจริง ๆ แต่“สฤณี” ก็อยากจะชวนคิดไปข้างหน้า เพราะ ประสิทธิภาพวัคซีนส่งผลต่อความเป็นไปได้ที่เราจะเปิดประเทศ กลับมาทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้วย

เธอบอกว่า ในช่วงแรกของโควิด-19 ปีที่แล้ว เราก็ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ตัววัคซีนยี่ห้อต่าง ๆ ก็อาจจะยังไม่ได้มีผลที่ชัดเจนขนาดนั้น ปีที่แล้วโฟกัสที่เรื่องของการป้องกันคนป่วย อัตราการตาย แต่ว่าวันนี้โจทย์เปลี่ยนไป เพราะเราอยู่กับโควิด-19 มาเป็นปี โจทย์จึงยกระดับขึ้นให้ต้องหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพดีพอที่จะนำเราไปสู่การเปิดประเทศได้ 

“รัฐบาลประกาศ 120 วันเปิดประเทศแล้วยิ่งต้องมีแผน เพราะประสิทธิภาพวัคซีนมีผลต่อการเปิดประเทศอย่างมีนัยยะสำคัญ” 

“สฤณี” บอกอีกว่า ในเดือนกรกฎาคมไม่มีทางเลือกจริง ๆ ต้องใช้ซิโนแวค แต่ก็ ไม่น่าจะเป็นคำตอบเดียวกันของเดือนสิงหาคม กันยายน ตุลาคม ไปเรื่อย ๆ ต้องมีความชัดเจนมากขึ้น ว่าวัคซีนยี่ห้ออื่นที่รัฐบาลเจรจามีความคืบหน้าไปถึงไหน อย่างไร

“ซิโนแวคไม่ควรจะเป็นวัคซีนที่เราคาดหวังนำไปสู่การเปิดประเทศ ในมุมความโปร่งใสโดยทั่วไป วัคซีนจะต้องมาขอมติ ครม. ขอใช้งบฯ กลางหรืองบฯ เงินกู้เพื่อจัดซื้อ”

ยกตัวอย่างแอสตราเซเนกา มีมติ ครม. ชัดเจน ขณะที่ซิโนแวคมีมติ ครม. ชัดเจนแค่ 2.5 ล้านโดสแรก 27 เมษายน ราคาคือประมาณ 542 บาท ซึ่งถูกกว่าวัคซีนไฟเซอร์ 50-60 บาทเท่านั้น ถ้าเทียบกับโครงการโคแวกซ์ ราคาของไฟเซอร์ยิ่งถูก อยู่ที่ 310 บาท ขณะที่ซิโนแวค เทียบราคาที่ไทยซื้อกับประเทศเพื่อนบ้านซื้อ ก็ถูกว่าราคาประมาณ 430 -440 บาท

ด้าน “นพ.สุภัทร” กล่าวว่า ซิโนแวคที่ไทยซื้อแพงกว่าที่อื่น เพราะว่าซื้อแบบด่วน สั่งวันนี้ ต้องได้สัปดาห์หน้า ส่งผลให้ราคาสูง จึงต้องทำสัญญายาว ๆ จองครั้งละ 20 ล้านโดส ราคาก็จะลดลงมาอาจจะเหลือ 10-12 ดอลลาร์ นี่คือคำชี้แจงจากกระทรวงสาธารณสุข 

กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการจัดหาวัคซีน

จนถึงวันนี้ยังไม่มีใครที่ได้เห็นสัญญาระหว่างรัฐบาล กับ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ในการส่งมอบวัคซีน หลังจากเกิดกรณีการส่งมอบวัคซีนล่าช้า บริษัทจะต้องรับผิดชอบอย่างไรบ้าง 

กรณีนี้ “สฤณี” ยกตัวอย่าง ข้อพิพาทระหว่างแอสตราเซเนกากับสหภาพยุโรป จากการส่งมอบวัคซีนที่ล่าช้า ในสัญญาใช้คำว่า “จะใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดที่สุด ในการส่งมอบ” สะท้อนว่าการผลิตและส่งมอบวัคซีนในภาวะฉุกเฉินมีความไม่แน่นอนสูง เพราะฉะนั้นคงเป็นไปไม่ได้ที่บริษัทจะสามารถการันตีในสัญญาว่าจะส่งมอบเท่าไรในเดือนไหน ทำได้เพียงให้กรอบเวลาหลวม ๆ

โดยสัญญาจองซื้อแอสตราเซเนกา 26 ล้านโดส ก่อนที่จะมาเพิ่มอีก 35 ล้านโดส สามารถจ่ายมัดจำล่วงหน้า 2-3 พันล้านบาท ก่อนที่จะส่งมอบในอีก  4-5 เดือน สะท้อนว่าเรื่องกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ขั้นตอนราชการไม่ใช่ประเด็น ดังนั้น เห็นแล้วว่าถ้าจะเร็วก็เร็วได้

เหตุผลที่ช้าและยอมรับกันได้ คือทางผู้ขายไม่สามารถจะเซ็นสัญญาได้ด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ แต่ที่ผ่านมากรณีไฟเซอร์ กับรัฐบาลมีการเซ็น Term Sheet หรือ เอกสารที่ระบุเงื่อนไขทางธุรกิจไปแล้วเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นเอกสารข้อตกลงเงื่อนไขต่าง ๆ ตามธุรกิจปกติก็จะต้องตามมาด้วยการเซ็นสัญญาใน 30 วัน นั่นหมายความว่า ภายในวันที่ 10 กรกฎาคม หวังว่าจะได้เห็นรัฐบาลเซ็นสัญญากับไฟเซอร์ เร็ว ๆ นี้

หวังเห็นวัคซีน 15 ล้านโดสในเดือน ก.ค.​

“ทำไมวัคซีนยี่ห้ออื่นถึงสั่งยาก” คำถามคาใจ “นพ.สุภัทร” ที่ระบุต่อไปว่า รัฐบาลต้องออกมาแถลงให้ชัดเจน ทางเลือกที่จะนำเข้าวัคซีนอื่น ๆ เช่น อาจนำเข้าแอสตราเซเนกาจากประเทศอื่น ที่มีโรงงานก็ได้ หากหาไม่ทันจริง ๆ ในเดือนกรกฎาคมจะต้องใช้ซิโนแวคอีกสักเดือน แต่ไม่ใช่ใช้ซิโนแวค ไปตลอด

“การฉีดวัคซีนเป็นหัวใจมากในวงการแพทย์ พูดแบบนี้ดูเหมือนจะเข้าใจการจัดหาวัคซีนของรัฐบาล แต่จริง ๆ ก็ไม่เข้าใจ แต่ยังไงก็ได้เดือนกรกฎาคมควรจะมีวัคซีนถึง 15 ล้านโดส เพราะจำนวนวัคซีนมีความหมายในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ถ้าจำนวนน้อยได้มา 10 ล้านโดส 8 ล้านโดส ก็ทำให้ฉีดไม่ตามเป้าภายในสิ้นปี”

เราจะสับสนมาก ถ้าเรามีวัคซีนเพียง 8 ล้านโดส หรือน้อยกว่า 10 ล้านโดส หรือ10 ล้านก็ตาม เพราะ ถ้าบล็อกฉีดในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัดจะต้องรออีกหนึ่งเดือน แต่ตอนนี้ต่างจังหวัดก็มีผู้ติดเชื้อค่อนข้างมาก จากปรากฏการณ์ล็อกดาวน์มีคนออกต่างจังหวัดเยอะ แน่นอนย่อมนำโควิด-19 กลับไปด้วย 

ข้อเสนอ คือ ต้องหาวัคซีนให้มีปริมาณสูงสุด ที่ควรจะเป็นก็คือ 15 ล้านโดส จะสามารถทุ่มฉีดกรุงเทพฯ ​ได้เต็มที่ โดยต่างจังหวัดก็ไม่ได้กระทบหรือขาดแคลนวัคซีน คนที่ลงหมอพร้อม ก็จะได้ฉีด ทั้งยังเผื่อแผ่ไปยังโรงงาน แรงงานเพื่อนบ้านคนอื่น ๆ ที่ในพื้นที่ระบาดได้

ขอรัฐบาลกลับเข้าโครงการโคแวกซ์ ไม่ต้องกลัวเสียหน้า 

“สฤณี” กล่าวว่าย้อนกลับไปที่แผนจัดหาวัคซีนเดิม เรามีสูตร 40:40:20 โดย 40 จากแอสตราเซเนกา อีก 40 จากโครงการโคแวกซ์ และ 20 จากซิโนแวค ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลเคยคิดจะเข้าโครงการโคแวกซ์ แต่ด้วยเหตุผลอะไรไม่ทราบ จึงไม่เข้า ขณะที่หลายประเทศในอาเซียนได้วัคซีนแอสตราเซเนกา จากโครงการโคแวกซ์มากกว่าที่สั่งตรงจากบริษัท แสดงให้เห็นถึงอำนาจการต่อรองของโครงการโคแวกซ์ เพราะเป็นโครงการช่วยเหลือระดับโลก และตอนนี้ทยอยส่งไฟเซอร์ เราจะเห็นว่าประเทศลาวฉีดไฟเซอร์แล้ว 

“ รัฐบาลไทยที่ไม่ตัดสินใจเข้าโครงการโคแวกซ์ ตอนนี้ควรจะกลับเข้าโครงการโคแวกซ์ โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะเสียหน้าหรือเสียศักดิ์ศรี เพราะนี่คือการทำเพื่อประเทศชาติ”

ด้าน “นพ.สุภัทร” กล่าวว่า ชมรมแพทย์ชนบทอาจสนับสนุนให้รัฐบาลกลับเข้าโครงการโคแวกซ์อีกครั้ง เพื่อกระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีน และอาจเป็นอีกช่องทางในการจัดหาวัคซีนเข้ามาอย่างเร่งด่วนขณะนี้  

“โลกของการจองวัคซีนคือโลกของความไม่แน่นอน” แต่สิ่งที่พูดได้เลยคือรัฐบาลเองต้องใช้ความพยายามให้ประชาชนเห็น ว่าพยายามทำทุกวิถีทางแล้ว ก็จะเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมต้องใช้ซิโนแวค แบบนี้ประชาชนรับได้ เพราะเป็นเหตุเป็นผล 

“สฤณี” ทิ้งท้ายว่า รัฐบาลควรแจ้งให้ทราบถึงความคืบหน้ารายวัน ในการจัดหาวัคซีนอย่างโปร่งใส แม้แต่เรื่องที่ทำไปแล้วอย่างเช่น การเจรจากับไฟเซอร์ เมื่อไรจะถึงวันลงนามในสัญญา แต่ตอนนี้รัฐบาลไม่บอกเราเลยว่าเขาได้พยายามทำวิธีอะไรบ้าง มีทางเลือกจัดหาอย่างไรได้บ้าง 


หมายเหตุ

ภาพประกอบข่าวจาก UNICEF, The Creative และ The Momentum

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS