นักวิชาการด้านกระจายอำนาจ ชี้ มีหน้าที่ตามกฎหมาย ปภ. เสนอ 3 ทางออก สร้างบรรทัดฐานทางการเมือง “เพื่อความสง่างาม” สะท้อนระบอบประชาธิปไตย ที่เสียงประชาชนมีความหมาย
เหตุระเบิดและเพลิงไหม้ โรงงานผลิตเม็ดโฟมพลาสติก ของ บริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด ในซอยกิ่งแก้ว 21 อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ คือ ภัยพิบัติล่าสุดที่สร้างความตื่นตระหนกต่อสังคม เพราะมีประชาชน เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้รับผลกระทบจำนวนมาก
ทุกครั้งเมื่อเกิดวิกฤต สังคมมักเรียกหาความร่วมมือ และระดมกำลังเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งตัวแปรสำคัญ ที่จะทำให้วิธีการต่าง ๆ ประสบผลสำเร็จ คือ การทำหน้าที่ของผู้นำ เพื่อวางแผน ตัดสินใจ และแก้ปัญหาอย่างชาญฉลาด
เมื่อผู้นำในพื้นที่ไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้ จึงเกิดเป็นคำถามตามมา…
กระแสการเรียกร้องให้ “ผู้นำ” ปรากฏตัวต่อสาธารณะ เกิดขึ้นเช่นเดียวกันกับกรณีของ “นายกฯ ตู่” นันทิดา แก้วบัวสาย ผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่เกิดเหตุ ด้วยตำแหน่ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ กลายเป็นชื่อที่ถูกพูดถึงมากที่สุด ในช่วงเกิดเหตุและต่อเนื่องถึงสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย
The Active เกาะติดปรากฏการณ์นี้ ทั้งในแง่ของภัยพิบัติและเสียงจากสังคม
“ถ้าถามว่า ท่านนายก อบจ. สมุทรปราการ ทำผิดอะไร ก็ต้องตอบว่าท่านมีหน้าที่ตามกฎหมาย แต่ไม่ปฏิบัติ ลองเปิด พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยดูสิ ว่าหน้าที่ของท่านคืออะไร”
รศ.ธนพร ศรียากูล
นี่คือสิ่งที่ รศ.ธนพร ศรียากูล ในฐานะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระบุถึงบทบาทของท้องถิ่นต่อการจัดการภัยพิบัติ และบอกให้รู้ถึงอำนาจหน้าที่ของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ตาม พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 มาตรา 18 บัญญัติว่า “ให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นรองผู้อำนวยการจังหวัด มีหน้าที่ช่วยเหลือผู้อำนวยการจังหวัดในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ผู้อำนวยการจังหวัดมอบหมาย”
เมื่อพิจารณาตามกฎหมายดังกล่าว จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมีความสำคัญ รองจากผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะ “รองผู้อำนวยการจังหวัด” แต่วินาทีแรกที่มีการแถลงจากศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ดังกล่าว กลับไม่เห็นบทบาทของนายกอบจ.สมุทรปราการ ดังที่กฎหมายให้ความสำคัญไว้
นอกจากนั้น หากดูตามอำนาจหน้าที่ซึ่งกำหนดไว้ตาม พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 ยังกำหนดเอาไว้ในมาตรา 17(22) ว่าด้วย อำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเอง ได้แก่ “การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย”
เมื่อมี “ตำแหน่ง” ตามกฎหมาย แต่ “ตำแหน่ง” ที่อยู่ตามความจริง กลับไม่ชัดเจน เพราะกระทั่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ผ่านไปกว่า 30 ชั่วโมง วันอังคาร ที่ 6 ก.ค. เวลาประมาณ 13.00 น. เฟซบุ๊ก สมุทรปราการก้าวหน้า ได้โพสต์ข้อความพร้อมรูปภาพการมาถึงของ นันทิดา แก้วบัวสาย พร้อมคณะ เดินทางมาให้กำลังใจและมอบสิ่งของช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัย ณ ศูนย์ช่วยเหลือประชาชน องค์การบริหารส่วนตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมให้สัมภาษณ์ กับสื่อมวลชนว่า
“ทีมงานทำงานเป็นทีม อาจไม่เห็นตนลงพื้นที่ เพราะมีปัญหาโควิด เราทำงานตามความเป็นจริง และตนไม่ได้เล่น ไม่ได้อ่านโซเชียล แต่ก็ขอบคุณที่หลายคนแจ้งข่าวเข้ามา ยืนยันทำตามหน้าที่ของ อบจ. อะไรช่วยได้ก็ช่วย… “
นันทิดา แก้วบัวสาย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ
นอกจากนี้ยังปรากฏข้อมูลว่า นายก อบจ.สมุทรปราการ และคณะผู้บริหารท้องถิ่น มีภารกิจร่วมเป็นสักขีพยานในการมอบรถเข็นวีลแชร์ไว้สำหรับบริการพี่น้องประชาชน ณ ศูนย์ฉีดวัคซีน ปากน้ำ (หอชมเมือง) ในวันที่เกิดเหตุการณ์ จึงเกิดคำถามจากประชาชนส่วนหนึ่งในพื้นที่ว่า มีกำหนดการใดสำคัญไปกว่าสาธารณภัยครั้งนี้
โดยศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดสมุทรปราการ รายงานในเบื้องต้น เมื่อวันที่ 6 ก.ค. ว่า พื้นที่ประสบสาธารณภัย 4 ตำบล 30 หมู่บ้าน มีราษฎรที่ประสบภัยโดยรวม 80,916 คน และที่สำคัญข้อมูลจากรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ยังพบว่า มีผู้บาดเจ็บ 40 คน ผู้เสียชีวิต 1 คน
นับเป็นความสูญเสียที่ไม่อาจประเมินราคาได้ แม้เป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น และไม่ใช่ความผิดของผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่ก็ตาม แต่การทำหน้าที่เชิงรุก เข้าเผชิญเหตุอย่างทัวท่วงทีจึงเป็นหน้าที่สำคัญที่ผู้นำควรทำเป็นอันดับแรก และในขณะเดียวกันเหตุการณ์ในครั้งนี้ก็ได้สะท้อนภาพการทำงานในระดับจังหวัด ที่โครงสร้างอำนาจทับซ้อน ส่งผลให้การทำหน้าที่ไม่ชัดเจนว่า ควรเป็นหน้าที่ของ ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะราชการส่วนภูมิภาค หรือ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กันแน่
ด้วยเหตุผลนี้เอง รศ.ธนพร จึงได้เสนอทางเลือกไว้ 3 แนวทาง เพื่อส่งถึงนายก อบจ. สมุทรปราการ อันจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองในอนาคต ดังนี้
- แสดงความรับผิดชอบทางการเมือง การตัดสินใจด้วยตนเองโดยไม่ต้องรอฉันทามติจากสังคม ซึ่งเริ่มจากแสดงการขอโทษอย่างจริงใจ ไปจนถึงการประกาศลาออกจากตำแหน่ง เพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินใจอีกครั้งบนเหตุผลที่ท่านได้ชี้แจงต่อสาธารณชน
- ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ซึ่งต้องจัดให้มีการลงคะแนนเสียงถอดถอน โดยต้องมีคะแนนเสียงตามสัดส่วนที่กำหนดไว้ในกฎหมาย และหากผลออกมาว่า “เห็นด้วย” เท่ากับมีผลในการปลดผู้บริหารท้องถิ่นออกจากตำแหน่งทันที
- กระแสเรียกร้องจากสังคม โดยเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อสะท้อนการทำหน้าที่บกพร่องของนายก อบจ. หรือผู้บริหารท้องถิ่น นำไปสู่การรวมตัวของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่าง กลุ่มหมอไม่ทน เรียกร้องการจัดหาวัคซีนอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้
ข้อเสนอเพื่อเรียกร้องให้นายก อบจ. แสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ของรศ.ธนพร นี้สะท้อนให้เห็นกระบวนการทางประชาธิปไตย ที่ประชาชนมีสิทธิว่ากล่าว ตักเตือน หรือทวงถามเหตุผลจากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน ซึ่งหากในทุกครั้งที่เกิดความผิดพลาดไม่ว่าจะเรื่องเล็กน้อย หรือเรื่องใหญ่ระดับประเทศ แล้วประชาชนสามารถกำหนดการเปลี่ยนแปลงได้ ย่อมเป็นสัญญาณ ของภาพระบบการเมืองที่ดีในประเทศไทยนั่นเอง