ภาคประชาชนกว่า 20 เครือข่าย จี้ เร่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คืนเสรีภาพประชาชน ย้ำจำเป็นต้องมี สสร. มองขวากหนามไม่ใช่กฎหมายแต่เป็นฝ่ายการเมือง ชี้ ฉบับปี 60 บีบประชาชนให้อ่อนแอ สกัดรัฐบาลทำงานลำบาก ‘ยิ่งชีพ’ ระบุ เป็นกับดักทำให้ตำแหน่งนายกฯ มีความผิดได้ทุกเมื่อ
เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (CALL) ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนกว่า 20 เครือข่าย จัดแถลงข่าวภาคประชาชน “รัฐธรรมนูญ 60 คือ ทางตัน รัฐธรรมนูญประชาชน คือ ทางออก” เรียกร้องให้มีการเดินหน้าจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อแก้ไขข้อปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่บังคับใช้ในปัจจุบัน โดยระบุว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 ได้สถาปนาระบอบรัฐอำนาจนิยม ทำให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนอ่อนแอ ทั้งในเรื่องการเปลี่ยนสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้เป็นหน้าที่ของรัฐ การลดทอนสิทธิเสรีภาพในด้านการมีสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี สิทธิชุมชน สิทธิในที่ดินทำกิน สิทธิแรงงาน สิทธิสวัสดิการสังคม สิทธิความหลากหลายและความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิทำแท้ง สิทธิในกระบวนการยุติธรรม เสรีภาพในการรวมกลุ่ม และเสรีภาพในการแสดงออก

ขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญที่ใช้ในปัจจุบันได้สร้างระบบที่ทำให้ประชาชนอ่อนแอ ตั้งแต่ความไม่ชอบธรรมในการเข้าสู่อำนาจทางการเมือง เช่น การเลือกตั้ง การคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา ตลอดจนบั่นทอนสถาบันทางการเมืองที่มาจากประชาชน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล รัฐสภา ผ่านการตีความที่เรียกว่ากฎหมู่ ได้แก่ มาตรฐานจริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ถือเป็นกฎหมู่ที่คนบางกลุ่มกำหนดขึ้นมา และบังคับใช้ตีความเองตามอำเภอใจ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 บีบให้ประชาชนต้องอยู่ภายใต้ทางตัน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง และคืนสิทธิเสรีภาพอย่างแท้จริงให้กับประชาชน
สำหรับการมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ทุกเครือข่ายภาคประชาชนยืนยันตรงกันว่า จำต้องมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมและความหลากหลายของประชาชน และ สสร. ต้องมีอำนาจอย่างเต็มที่ในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ
และทางออกที่จะนำไปสู่การมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนได้ จำเป็นจะต้องอาศัยพลังประชาชนในการกดดัน สิ่งสำคัญอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่วินิจฉัยชี้ขาดเรื่องการทำประชามติ โดยขอเพียงยืนยันตามคำวินิจฉัยเดิมว่าทำประชามติ 2 ครั้ง โอกาสที่จะเดินหน้าทำรัฐธรรมนูญใหม่ภายในปี 2570 ก็จะเกิดขึ้นจริง
และขณะเดียวกัน ก็ต้องอาศัยพลังประชาชนกดดันรัฐสภา โดยเฉพาะวุฒิสภา ซึ่งจะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ มี สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง และไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับรัฐบาล ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของรัฐสภา ดังนั้น การเดินหน้าจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงไม่ใช่ปัญหาในทางกฎหมาย แต่เป็นปัญหาเจตจำนงทางการเมืองของฝ่ายการเมือง

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ระบุว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ออกแบบโดยจงใจให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีความอ่อนแอ และมีอุปสรรคในการจะคงอยู่ในอำนาจและการบริหารประเทศ วันนี้มีรัฐบาลที่มาจากพรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำโดยคนในตระกูลชินวัตร ขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ไม่สามารถดำเนินนโยบายได้ และเสี่ยงที่จะถูกปลดลงจากตำแหน่งได้ทุกเมื่อ ซึ่งเป็นสิ่งที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จงใจออกแบบเพื่อให้ออกมาในลักษณะนี้ โดยคิดไว้ตั้งแต่ปี 2559 ตอนที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่ปี 2562 กลับหากลไกอื่นทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อเนื่อง แต่ก็รู้อยู่แล้วว่าวันใดวันหนึ่งอาจแพ้เลือกตั้ง ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีพรรคสีส้ม เขาจึงมองศัตรูหลักคือพรรคชินวัตร และออกแบบรัฐธรรมนูญมาให้พรรคนามสกุลชินวัตร แม้จะสามารถชนะเลือกตั้งได้ แต่ไม่มีทางควบคุมอำนาจบริหารประเทศ และในรัฐสภาได้ ดังที่เห็นในภาพปัจจุบัน
นอกจากนี้ กลไกต่าง ๆ ที่ออกแบบมา เช่น มาตรฐานทางจริยธรรม คือสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญเขียนขึ้น โดยตามรัฐธรรมนูญกำหนดว่าให้ใช้บังคับกับศาลรัฐธรรมนูญ แต่ก็ให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถนำสิ่งนี้ไปตีความบังคับใช้กับคนอื่นด้วย ถือเป็นกับดักโดยจงใจ และในแผนมาตรฐานจริยธรรม ถ้าอ่านดูจะพบว่า นายกรัฐมนตรีทุกคน ตั้งแต่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา, เศรษฐา ทวีสิน, แพทองธาร ชินวัตร หรือใครก็ตาม ต้องมีสักข้อที่ผิดไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม และยังมีอีกกลไก คือ มาตรา 144 เรื่องการห้ามแปรญัติในการใช้งบประมาณ ก่อนหน้านี้จะถูกนำมาใช้กับ แพทองธาร แต่ระหว่างนั้นก็เกิดมีคลิปเสียงสนทนากับ ฮุนเซน ศาลจึงเปลี่ยนมาพิจารณาเรื่องมาตราฐานจริยธรรม
ขณะที่แผนยุธศาสตร์ 20 ปี และแผนปฏิรูปประเทศ ที่คอยกำกับให้รัฐบาลต้องทำ หรือห้ามทำอะไร กำลังรอวันแผลงฤทธิ์ หากรัฐบาลสามารถผ่านเรื่องมาตรฐานจริยธรรม และมาตรา 144 ไปได้ ก็จะติดกลไกหลักเกณฑ์อื่น ๆ อีกจำนวนมาก ที่สามารถหยุดพักการเมือง หรือตัดสิทธิทางการเมืองได้ โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้อ้างว่าเพื่อการปราบโกง แต่ความจริงกลับเป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนคุณสมบัติต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างละเอียดเท่าที่เคยมีมา เพื่อให้สร้างระบอบที่จะถอดถอนบุคคลทางการเมืองเมื่อไหร่ก็ได้
ส่วนผู้ที่มีอำนาจถอดถอน คือ ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.) องค์กรเหล่านี้มีที่มาไม่ได้เป็นอิสระ แม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดให้ว่าเป็นองค์กรอิสระ แต่องค์กรเหล่านี้มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และกำลังจะทยอยถูกเลือกชุดใหม่จากสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่มาจากกระบวนการเลือกที่ไม่โปร่งใส ดังนั้น องค์กรเหล่านี้มีเพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง ขัดขวางการทำงานของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
ในช่วงที่นายกรัฐมนตรีถูกหยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็ยังมีความไม่ชัดเจนว่าจะกลับมาได้หรือไม่ และจะเลือกคนใหม่อย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่คนร่างรัฐธรรมนูญออกแบบไว้ และบัญชีว่าที่นายกรัฐมนตรี ที่ต้องมาจากพรรคการเมืองเท่านั้น เสนอได้ไม่เกิน 3 คน ถือเป็นการจำกัดให้ไม่สามารถเลือกคนอื่นได้ แปลว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ตั้งใจให้บ้านเมืองเดินมาถึงทางตันทางเมือง คือ นายกรัฐมนตรีถูกตัดสิทธิได้ง่าย และบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็มีจำกัด
“เราเถียงกันว่า จะเอาคุณชัยเกษม หรือคุณอนุทิน หรือคุณประยุทธ์ อันนี้เป็นสถานการณ์ที่จงใจ รัฐธรรมนูญสร้างไว้ว่าทำให้ตัวเลือกมันไม่มี จนเราต้องเอาชื่อ คุณประยุทธ์ ขึ้นมาอีกครั้ง ในวันที่เราเดินทางกันมาไกลมาแล้ว ชัดเจนแล้วว่าสังคมไม่ได้เอาคุณประยุทธ์อีก”

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ตัวแทนจาก CALL กล่าวว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กำลังติดอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ยังไม่รู้ว่าจะเดินหน้าต่อได้เมื่อไหร่ เพราะเกิดจากสภาผู้แทนราษฎร ในช่วงที่จะมีการแก้จัดตั้ง สสร. ซึ่งกังวลว่าจะมีอำนาจทำได้หรือไม่ สส.พรรคเพื่อไทย จึงยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าสภาผู้แทนราษฎร ว่าจะต้องทำประชามติก่อนหรือไม่ จึงกลายเป็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ควรจะเป็นกลไกของรัฐสภากลับกลายเป็นของศาล เพราะติดปัญหาจากสภาที่มีความไม่มั่นใจ และกลายเป็นกลไกเตะถ่วงเวลาออกไปเรื่อย ๆ ทำให้ตนไม่มั่นใจว่าที่สภายื่นต่อศาลไปนั้นต้องการสอบถามจริงหรือไม่ อีกทั้งศาลก็ไม่ได้ตีความชัดเจนและไม่ได้เร่งรีบพิจารณาในเรื่องนี้ รวมเป็นเวลานาน 3 เดือน และวันที่ 22 ก.ค.นี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะนัดพิจารณาวินิจฉัยอำนาจสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็หวังว่าจะให้คำตอบที่ชัดเจนเพื่อให้เดินหน้าแก้ไขต่อไปได้ แต่ในความเป็นจริงหากย้อนกลับไปดูคำวินิฉัยที่ระว่าให้ทำประชามติ 2 ครั้ง ก็ควรจะยึดตามนั้น เพราะหากยังไม่เริ่มก็จะยังไม่สามารถเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ และถึงแม้ตอนนี้นายกรัฐมนตรีถูกให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ รัฐสภาก็ยังสามารถแก้ไขต่อไปได้ ไม่เช่นนั้นศาลก็จะมีผลต่อการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ต่อไป
สุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น (CPCR) ระบุว่า ในสองสามทศวรรษที่ผ่านมา ไทยอยู่ในวังวนการแก้ปัญหาทางการเมือง ระหว่างฝ่ายอำนาจที่ไม่ได้จากการเลือกตั้ง กับอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งที่มีตระกูลชินวัตรอยู่ในสมการความขัดแย้ง และกำลังวนกลับมาอีกครั้ง ซึ่งกำลังทำให้สถานการณ์อาจนำไปสู่ทางตัน ถือเป็นเรื่องที่มีนัยสำคัญ ที่ผ่านมามีการตื่นตัวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ และคนที่เห็นปัญหาทางการเมือง จึงนำไปสู่การตั้งพรรคการเมืองใหม่ อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนในการหยุดวงจรนี้ ภายใต้กระบวนการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อให้มีรัฐธรรมนูญมีฉบับประชาชนอีกครั้ง จึงจะเป็นจุดสำคัญของการเปลี่ยนแปลงที่จะถอดสลักสงครามการเมืองและนิติสงคราม ออกไปจากประเทศไทย เพื่อให้สามารถเดินหน้าไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงได้