“คณะทำงานโควิดชุมชน” แนะ รัฐเร่งสื่อสารความเข้าใจ ผู้ป่วยในระบบ HI อาจไม่ต้องได้รับบริการเหมือนกันทุกคน อิงความต้องการ และระดับอาการเป็นหลัก เพื่อเก็บทรัพยากร ให้ผู้ป่วยอาการหนัก
สถานการณ์การระบาดในระลอกนี้ ต่างจากรอบก่อน ๆ เพราะความรุนแรงของโรคน้อยลง และประชาชนได้รับวัคซีนกันครอบคลุมมากขึ้น จึงทำให้ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการ หรืออาการน้อย แนวทาง Home Isolation (HI) หรือการรักษาตัวเองที่บ้าน จึงเป็นกลไกหลักของการรักษาในเวลานี้ แต่จากการติดตามผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด พบว่าระบบนี้ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก ที่รัฐไม่สามารถให้บริการอย่างทั่วถึงได้ สวนทางกับความคาดหวังที่ผู้ป่วย ที่ต้องการได้รับการดูแลอย่างครบถ้วน
ข้อเท็จจริงในเวลานี้ พบข้อจำกัดการเข้าสู่ระบบ HI เช่น รอการตอบกลับจากสายด่วน 1330 เกิน 6 ชั่วโมง และแม้เข้าระบบแล้ว บางกรณีก็ยังต้องรอการจับคู่กับสถานพยาบาล เมื่อได้รับการจับคู่แล้ว บางกรณีก็ไม่ได้รับ ยา อาหาร และอุปกรณ์ที่จำเป็น หรือไม่มีการดูแลรักษาผ่านระบบ Tele Medicine ตามแนวทางที่ สปสช.และกระทรวงสาธารณสุขเคยประกาศไว้ ทำให้ผู้ติดเชื้อบางคนตั้งข้อสังเกตและไม่มั่นใจในการรักษาของระบบ HI
มองในอีกมุมหนึ่ง ปัญหานี้อาจคลี่คลายลง หากสร้างความเข้าใจกับผู้ป่วยอย่างชัดเจน ถึงระดับอาการของเชื้อไวรัสโควิด สายพันธุ์โอมิครอน ที่ส่วนใหญ่สามารถแยกตัวเองที่บ้าน และรักษาด้วยตนเองจนหายได้ ไม่จำเป็นต้องรับการรักษาที่โรงพยาบาล หรือไม่ต้องได้รับยาต้านไวรัส แต่ในอีกมุมหนึ่งนั้น ก็ไม่ควรผลักภาระนี้ไปให้กับประชาชน แต่ควรเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องสื่อสารข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้ประชาชนเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ในกรณีที่มีผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น จนต้องจัดสรรทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
The Active พูดคุยเรื่องนี้กับ พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ ผอ.บริหารสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) ในฐานะเครือข่ายผู้ทำงานโควิดชุมชน แสดงความคิดเห็นว่า การเข้าสู่ระบบ HI ที่ยังคงเกิดปัญหา และมีข้อจำกัด อาจเกิดจากการสื่อสารความคาดหวังที่ไม่ตรงกันระหว่างรัฐและประชาชน หรือผู้ป่วย เพราะหากรัฐสื่อสารองค์ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการระบาดครั้งนี้ และสร้างความเข้าใจต่อหน่วยบริการให้จัดลำดับความสำคัญผู้ป่วยอย่างถูกต้อง อาจทำให้ทุกฝ่ายเข้าใจสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น
“รัฐต้องกล้าพูด และสื่อสารให้ชัดเจน ว่าผู้ป่วยจะไม่ได้รับบริการเหมือนกันทุกคน แต่อิงตามความต้องการ ความจำเป็น และระดับอาการเป็นหลัก ให้ประชาชนเข้าใจว่าบริการที่คาดหวังจะได้รับเป็นอย่างไร เพราะอะไรถึงไม่ได้รับยา และอาหารที่เต็มที่ ถ้าไม่สื่อสารแบบนี้ ทุกคนไม่สบายใจทั้งนั้น เพราะไม่แน่ใจว่าตัวเองได้รับการดูแลน้อยไปหรือไม่”
นอกจากนี้ พญ.นิตยา มองว่า ยังต้องสื่อสารกับหน่วยบริการให้ชัดเจนว่า แนวทางการรักษาผู้ป่วยที่บ้านควรอยู่ในระดับใด เพราะหน่วยบริการก็ไม่กล้าให้บริการต่ำกว่าเกณฑ์เดิมที่ตั้งไว้ ยังต้องมีอาหารครบทุกมื้อ และประเมินอาการอย่างละเอียดในทุกกรณีอยู่ ซึ่งตามหลักวิชาการแล้วไม่มีความจำเป็น หากรู้ว่าผู้ป่วยที่บ้านต้องการยา และอุปกรณ์รักษาเป็นหลัก ควรมีชุดอุปกรณ์แรกรับออกไปในทันที เพื่อประหยัดเวลา
การสื่อสารในลักษณะนี้ อาจเป็นเรื่องใหม่ ที่ภาครัฐต้องกล้า และรีบทำทันที เพื่อนำไปสู่ความคาดหวังใหม่ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ นอกจากจะลดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างประชาชนกับรัฐแล้ว ยังจะช่วยลดทั้งงบประมาณและทรัพยากรเพื่อเตรียมไว้รับมือกับสถานการณ์ที่อาจรุนแรงในอนาคต