“เสนอตั้งศูนย์พักอาศัยชั่วคราวในภาวะวิกฤติ” ด้าน พม.ตอบรับเตรียมหารือ กทม.แล้ว
หลัง ศบค.ประกาศยกระดับมาตรการเข้มข้นในการควบคุม COVID -19 และวันนี้ (10 ก.ค.2564) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ข้อกำหนดดังกล่าวแล้ว หนึ่งในนั้นคือการห้ามออกนอกเคหสถานในเวลา 21.00-04.00 น.และห้ามรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมทางสังคมเกิน 5 คน ในพื้นที่ 10 จังหวัด ประกอบไปด้วย กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค.นี้เป็นต้นไป
อัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชนและเครือข่ายคนไร้บ้าน แสดงความกังวลว่ามาตรการดังกล่าวจะกระทบกับ คนไร้บ้านหรือผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะโดยเฉพาะการเข้าถึงอาหาร และการใช้ชีวิตที่จะถูกจำกัดจากมาตรการนี้
“กลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก จากการยกระดับมาตรการเข้มข้นขึ้น คือคนที่ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ หรือคนไร้บ้าน ยิ่งตอนนี้มีคนไร้บ้านหน้าใหม่เพิ่มขึ้น จากภาวะการตกงาน ขาดรายได้ หลุดจากบ้านเช่า เป็นคำถามว่าพวกเขาจะอยู่ยังไง ปัญหาตอนนี้คืออำนาจการตัดสินใจวางมาตรการต่างๆมันออกมาจากที่เดียว ไม่ได้วางแผนรองรับหาทางออกร่วมกัน กลายเป็นคำถามว่า คนไร้บ้านที่เขาไม่มีบ้านให้พักหลับนอน กักตัว เขาไปไหนไม่ได้ เขาไม่มีอาหารกิน เพราะการบริจาคช่วยเหลืออาจน้อยลง คนไม่กล้าบริจาค งานก็ไปทำไม่ได้ พวกเขาจะอยู่อย่างไร รัฐได้วางแผนรองรับเรื่องนี้หรือไม่ “
นพพรรณ พรหมศรี เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เห็นว่าผลกระทบจากมาตรการที่เข้มข้น ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่คนไร้บ้านเท่านั้น ขณะเดียวกันจะกลายเป็นข้อจำกัดที่ทำให้การช่วยเหลือของภาคประชาชนที่ทำงานกับคนกลุ่มนี้และผู้มีน้ำใจช่วยเหลือบริจาคปัจจัยต่างๆที่สำคัญต่อชีวิตรวมถึงการป้องกันโรคและการลงพื้นที่ติดตามปัญหาด้านสุขภาพของคนกลุ่มนี้เป็นไปได้ยากมากขึ้น
“ มาตรการนี้มัน จะไปปิดกั้นการทำงานของเครือข่ายด้วย ไม่ใช่แค่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแน่ๆกับคนไร้บ้าน คือหมายถึงว่ากลุ่มองค์กรที่ทำงานกับคนไร้บ้าน จะถูกจำกัดด้วยมาตรการนี้ด้วย เราจะออกมาในที่สาธารณะ มาพูดคุยดูแลเขาได้ยาก มาแจกอาหาร จะนัดประชุมกับเขาเพื่อดูแลสุขภาพเขาก็ยาก คนไร้บ้านเขาใช้ชีวิต เข้าถึงสิทธิต่างๆลำบากอยู่แล้ว ยิ่งไปเพิ่มความยากลำบากขึ้นไปอีก”
เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เสนอทุกภาคส่วนร่วมจัด สถานที่รองรับหรือที่พักอาศัยชั่วคราวให้คนไร้บ้านในช่วงภาวะวิกฤติและจัดระบบดูแลครอบคลุมทุกมิติ
“ ถ้าบอกว่าจะมีมาตรการเข้มข้น ต้องคิดด้วยว่าวิธีรองรับจะทำยังไง เช่น กทม.เป็นเจ้าของพื้นที่ ควรเป็นเจ้าภาพหลักรองรับดูแลคนเหล่านี้ ให้เขาได้มีที่อยู่พักพิงอาศัย ยิ่งช่วงนี้หน้าฝนพวกเขาลำบาก และถ้ามีที่พักพิง การจะดูแลพวกเขามันก็จะง่ายขึ้น อย่างเช่น บ้านอุ่นใจเดิมของ กทม.ที่ปิดไป สถานที่ยังมีความเหมาะสม เพราะพื้นที่รองรับได้เยอะหรือจะเป็นจุดอื่นๆก็ได้ เครือข่ายพร้อมเข้าไปสนับสนุน ในภาวะเร่งด่วนนี้ จึงต้องดำเนินการเรื่องนี้โดยเร็ว ”
เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน เสนอให้เปิดพื้นที่ สวนสาธาณะ ที่ถูกปิดไม่ได้ใช้งาน ไม่ให้ผู้คนมาออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมกันอยู่แล้ว ให้เป็นที่อาศัยของคนเหล่านี้ อย่างน้อยให้พวกเขาได้อยู่เป็นที่ ไปจนกว่าจะสามารถคุมโรคได้ทั้งภาพรวมของประเทศ ไปพร้อมๆกับการจัดระบบดูแลให้เข้าถึงปัจจัยต่างๆอย่างครอบคลุมทุกมิติ
“ อย่างเรื่องการช่วยเหลือด้านอาหาร ของคนไร้บ้านควรมีการประกาศสื่อสารให้ชัด ทั้งจุดบริจาค ช่วงเวลา หรือจะจัดเป็นลักษณะคอลเซนเตอร์ หรือศูนย์ประสานงานก็ได้ อย่างมูลนิธิอิสรชน เราประกาศชัดเลย ว่าเรารับบริจาควันอังคารไม่เกิน 500 ชุด หากอังคารนี้เต็ม เราขอให้เขามาร่วมในสัปดาห์หน้า คือในช่วงวิกฤตเช่นนี้ ต้องวางระบบการดูแลช่วยเหลือกันก่อน และอยากให้มีความชัดเจนจากทางภาครัฐ ”
อุเทน ชนะกุล ผู้อำนวยการกองคุ้มครองสวัสดิภาพและเสริมสร้างคุณภาพชีวิต ยืนยันว่า ขณะนี้ทั้งภาครัฐ คือกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และเครือข่ายประชาชน เห็นตรงกันว่าสภาวะที่โควิดระบาดรุนแรงวิกฤตอย่างมาก และฤดูกาลที่เข้าสู่หน้าฝน คนใช้ชีวิตในที่สาธารณะก็จะใช้ชีวิตยากลำบาก จึงมีการพูดคุยกันว่า จะดำเนินการให้มีที่พักอาศัยเป็นการชั่วคราวในช่วงโควิดนี้ให้กับคนไร้บ้าน ส่วนจะขยับขยายอย่างไร ต้องรอข้อสรุปหลังการหารือในครั้งต่อไป เพราะต้องขอความร่วมมือกับ กทม. ตามที่ภาคประชาชนเสนอด้วย เพราะ กทม.เป็นเจ้าของพื้นที่ มีทรัพยากรในเรื่องต่างๆ ซึ่ง พม.และภาคประชาชน พร้อมให้ความร่วมมือในการขับเคลื่อนให้คนไร้บ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดี