จับมือภาคีจิตอาสา ตั้งโต๊ะเวียนย่านราชดำเนิน-หัวลำโพง-อนุสาวรีย์ฯ ขณะที่การฉีดวัคซีนคนไร้บ้าน กทม. ครอบคลุมประชากร 70%
วันนี้ (9 ก.ย.2564) ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รวมกับภาคีเครือข่าย อาทิ กองทัพบก,กรุงเทพมหานคร,ชมรมบัณฑิตอาสาโครงการหนังสือวิเศษเพื่อน้อง จัดการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุก ให้กับคนไร้บ้านกว่า 200 คน
ปฏิบัติการในวันนี้ยังถือเป็นครั้งแรกที่มีการปรับรูปแบบตรวจหาเชื้อแบบครบวงจร เริ่มจากการซักประวัติตรวจด้วย ATK หากผลเป็นลบ เจ้าหน้าที่จะแจกยาสมุนไพร เช่น ฟ้าทะลายโจร หน้ากากอนามัย และอาหาร เพื่อใช้ดูแลตัวเองระหว่างต้องใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะต่อไป
หากผลเป็นบวก ที่จุดบริการจะมีรถจากกองทัพบก, สำนักเทศกิจ, และแท็กซี่อาสา ส่งต่อไปพักดูแลยังศูนย์พักคอยเขตสะพานสูง หากตรวจซ้ำด้วย RT-PCR พบว่าอาการอยู่ในระดับสีเหลืองขึ้นไป จะถูกส่งไปรักษาตามอาการ และตามประเภทที่ได้แจ้งยังจุดลงทะเบียนไว้
คนไร้บ้านที่มีบัตรประชาชน รักษาที่ Hospitel ซึ่งจับคู่กับโรงพยาบาลปิยเวช
คนไร้บ้านที่ไม่มีบัตรประชาชน รักษาที่โรงพยาบาลสนามสำหรับคนไร้บ้าน เขตสะพานสูง
คนไร้บ้านที่เป็นผู้ป่วยจิตเวช รักษาที่สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา
หนึ่งในคนไร้บ้านที่เข้ารับการตรวจเป็นชายวัย 40 ปี ผลตรวจ ATK ออกมาเป็นบวก เขาเพิ่งออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะได้ไม่นาน หลังต้องตกงาน และไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าห้องพัก สบายใจขึ้นเมื่อรู้ว่า หลังเข้ารับการตรวจจะถูกส่งตัวไปรักษา และจะได้รับความช่วยเหลือด้านอาชีพ
“ตกงานจากสถานการณ์โควิด-19 ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าห้อง ต้องออกมาใช้ชีวิตกิน นอนอยู่ที่ย่านถนนราชดำเนินกว่า 1 เดือนแล้ว อาศัยอาหารจากผู้ใจบุญนำมาบริจาค คิดว่าตัวเองได้รับเชื้อจากคนไร้บ้านคนอื่นๆ ระหว่างเข้าคิวรอแจกอาหาร ตอนแรกไม่กล้าตรวจเพราะกังวลว่าจะถูกส่งกลับภูมิลำเนาเพราะยังต้องการหางานทำใน กทม. แต่พอรู้ว่าจะถูกส่งไปรักษาที่ Hospitel และได้รับการช่วยเหลือด้านอาชีพก็รู้สึกสบายใจขึ้น”
ซาราห์ บินเย๊าะ รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ผลการตรวจหาเชื้อในวันนี้ พบผู้มีผลเป็นบวกจำนวน 2 คน จาก 200 คน ส่วนหนึ่งอาจมาจากคนไร้บ้านไม่ทราบข้อมูล เดินทางไม่สะดวก หรือกังวลด้านผลกระทบ แต่ได้เร่งทำงานเชิงรุกด้วยการปูพรมตรวจในสถานที่ซึ่งมีคนไร้บ้านอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น เช่น ถนนราชดำเนิน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และสถานีรถไฟหัวลำโพง เพื่ออำนวยความสะดวก ซึ่งที่ผ่านมาจะพบอัตราผู้ที่มีผลเป็นบวกประมาณร้อยละ 20
“เราปรับแผนใหม่จากเดิมเป็นการตั้งรับแล้วไม่ค่อยมีคนไร้บ้านเข้ามาตรวจเท่าที่ควร อย่างวันนี้เราก็ให้ทีมเดินไปปลุกเขาขึ้นมาตรวจเลย ผลเป็นบวกก็ให้เข้ารักษาในที่ที่เหมาะสม และเขาต้องรู้สึกว่าสบายใจด้วย ในเวลาเดียวกันเราก็ให้ความช่วยเหลือเขาด้วย เช่น ติดตามหาญาติ ส่งกลับภูมิลำเนา จัดหางานทำเราก็มีทีมสหวิชาชีพให้การสนับสนุนในส่วนนี้”
ขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนให้กับคนไร้บ้าน เฉพาะใน กทม. ดำเนินการฉีดไปแล้วกว่า 900 คน จากการสำรวจประมาณ 1,300 คน โดยตั้งเป้าฉีดให้ครอบคลุมเข็ม 2 ร้อยละ 70 เพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ตามมาตรฐานการควบคุมโรค