ทีมทนายบางกลอย หวังกรรมการสิทธิฯ กลับมาคุ้มครองสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์อีกครั้ง ‘วราวุธ’ ย้ำ สิทธิมนุษยชนไม่เกี่ยวกับมรดกโลกทางธรรมชาติ ยัน เดินหน้าผลักดันแก่งกระจานเป็นมรดกโลก
15 ก.ค. 2564 – พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ตัวแทนชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอย จ.เพชรบุรี ยื่นหนังสือผ่านภาคี #SAVEบางกลอย ไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ขอให้พิจารณาตรวจสอบเรื่องร้องเรียนในกรณีการถูกละเมิดสิทธิชุมชน สิทธิชนเผ่าพื้นเมือง สิทธิในการเข้าถึงที่ดินและทรัพยากร และสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ภายหลังถูกจับกุมดำเนินคดีเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2564
ในหนังสือดังกล่าว ระบุเกี่ยวกับข้อเท็จจริงความเป็นมาของชุมชน และปัญหาที่เกิดขึ้นกับสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านบางกลอยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บ้านบางกลอยล่าง และการจับกุมดำเนินคดีกับชาวบ้านกลายเป็นข้อพิพาทระหว่างชาวบ้านบางกลอยและหน่วยงานรัฐมาอย่างยาวนานกว่า 20 ปี
โดยระบุตั้งแต่กรณีที่ชาวบ้านได้รับคำสั่งจากเจ้าหน้าทหาร ป่าไม้ อุทยานฯ ให้อพยพลงมาอยู่ในพื้นที่บางกลอยล่าง ตั้งแต่ปี 2539 และเมื่อพบว่าสถานที่บ้านบางกลอยล่างซึ่งเป็นพื้นที่ที่รัฐจัดสรรให้นั้นไม่เหมาะสมต่อการทำการเกษตร และไม่สามารถหาเลี้ยงชีวิตตามวิถีทำกิน หรือการทำไร่หมุนเวียนได้ ชาวบ้านบางส่วนจึงอพยพขึ้นไปอยู่ในพื้นที่บ้านบางกลอยบนใกล้กับใจแผ่นดินเหมือนเดิม
กระทั่งปี 2554 เจ้าหน้าทหาร ป่าไม้ อุทยาน ได้มีการไล่รื้อที่อาศัย และสั่งให้ชาวบ้านลงมาอยู่ในบ้านบางกลายล่างเช่นเดิม ทำให้ชาวบ้านต้องเผชิญกับปัญหาเดิมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง จึงตั้งใจกลับขึ้นไปอยู่ในที่ดินเดิมอีกครั้งใน 10 ปีถัดมา
ชาวบ้านบางกลอยเริ่มเจ็บป่วย ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดสารอาหารและไม่อาจปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารเลี้ยงชีพได้ เนื่องจากพื้นที่บ้านบางกลอยล่าง-โป่งลึก ไม่มีที่ทำกินให้ ไม่เหมาะสมกับการปลูก… เพียงต้องการกลับไปทำไร่หมุนเวียนในที่ดินเดิมของบรรพบุรุษ ซึ่งการทำไร่หมุนเวียนไม่เป็นการทำลายป่า เพราะไม่ได้ทำให้ป่าไม้เสียหายไป แต่กลับทำให้ป่าไม้อุดมสมบูรณ์มากกว่าเดิม
ตัวแทนชาวบ้านบางกลอยอ่านแถลงการณ์ต่อไปว่า การกลับไปยังพื้นที่บ้านบางกลอยบนอีกครั้งในเดือนมกราคม 2564 เป็นที่มาของการจับกุมครั้งล่าสุด เมื่อเจ้าหน้าที่ได้เดินทางไปเจรจากับชาวบ้านแต่ไม่เป็นผล วันที่ 5 ก.พ. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่จึงได้จับกุมชาวบ้าน 22 คน โดยอ้างหมายจับศาลจังหวัดเพชรบุรี คุมตัวไปยังเรือนจำกลางเพชรบุรี และในวันที่ 26 มี.ค. ก็ได้มีหมายจับชาวบ้านอีก 6 คน โดยทั้งหมดถูกปล่อยตัวในภายหลัง ด้วยเงื่อนไข “ห้ามผู้ต้องหากลับเข้าไปในพื้นที่ที่ถูกจับ และพื้นที่อุทยานที่ไม่ได้รับอนุญาต” ซึ่งเป็นกระบวนการยุติธรรมที่ตัวแทนชาวบ้านและภาคีมองว่าไม่เป็นธรรม เนื่องจากไม่มีล่ามแปลภาษาเพื่อให้เข้าใจเนื้อความการจับกุมดำเนินการ ทำให้ต้องกลายเป็นผู้รับสารภาพโดยปริยาย
ขอให้ท่านได้โปรดพิจารณาตรวจสอบเรื่องร้องเรียนในกรณีการละเมิดสิทธิของข้าพเจ้ากับพวก ในเรื่องของสิทธิชุมชน สิทธิชนเผ่าพื้นเมือง สิทธิในการเข้าถึงที่ดินและทรัพยากร และสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เพื่อขอให้มีการสั่งการให้ระงับการดำเนินคดีข้าพเจ้ากับพวกต่อไป
นักกฎหมายหวังกลไก กสม. กลับมาเป็นที่พึ่งประชาชน
ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความและผู้ประสานงานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ในนามทนายความที่ช่วยเหลือด้านคดีความของชาวบ้านบางกลอย เห็นว่า จากการที่ กสม. เปิดเวทีพบภาคประชาสังคม ทำให้มีความหวังว่า กสม. จะกลับมาเป็นองค์กรคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอีกครั้ง โดยเฉพาะในกรณีการละเมิดสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ที่บางกลอยที่ กสม. มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้
“อยากให้ กสม. ตรวจสอบเรื่องการจับกุม การควบคุมตัว การฝากขัง ว่ามีการดำเนินการโดยชอบหรือไม่ แต่ที่สำคัญอยากให้ตรวจสอบเรื่องการดำเนินคดีกับชาวบ้านที่เดือดร้อนจากการไม่มีที่ดินทำกินเพระาถูกบังคับเอาตัวลงมาจากพื้นที่ดั้งเดิมของตน ซึ่งจะเป็นการรับรองสิทธิของชุมชนและชนเผ่าพื้นเมือง ที่จะต้องได้รับการคุ้มครองมากกว่าที่จะต้องมาถูกดำเนินคดี”
ด้าน ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้รับเรื่องร้องเรียนไว้ และย้ำว่าจะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต่อไปเพื่อช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง
‘วราวุธ’ ย้ำ สิทธิมนุษยชนไม่เกี่ยวกับมรดกโลกทางธรรมชาติ ยันเดินหน้าต่อ
สำหรับกรณีที่รัฐบาลมีความพยายามผลักดันการขึ้นทะเบียนผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก และ กสม. ได้มีการออกแถลงการณ์ และมีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ลงวันที่ 12 ก.ค. 2564 เสนอให้รัฐบาลชะลอการเสนอขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติออกไปก่อน จนกว่าปัญหาสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอยจะคลี่คลาย นั้น
กรณีนี้ วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้สัมภาษณ์ผ่าน มติชน ยืนยันว่าการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของป่าแก่งกระจานนั้น ไม่เกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชน และยังไม่เห็นหนังสือข้อเสนอให้ชะลอการเสนอ “แก่งกระจานมรดกโลก” ของ กสม. แต่จะรับทราบ และไปดูรายละเอียดเพื่อจะนำมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
“อย่างไรก็ตาม ขอเรียนว่า การที่ป่าแก่งกระจานจะขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกหรือไม่นั้น ไม่เกี่ยวกับประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด เพราะเรื่องการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางธรรมชาติเป็นเรื่องของการดูแลทรัพยากร สำหรับเรื่องของสิทธิมนุษยชน ก็ไม่ใช่ว่าไม่สำคัญ แต่จะอยู่อีกภาคส่วนหนึ่ง ที่ทางยูเนสโกก็ทำเช่นเดียวกัน ไม่เกี่ยวกับเรื่องมรดกโลกทางธรรมชาติ”
นอกจากนี้ รมว.ทส. กล่าวอีกว่า ทุกคนต้องทำงานในกรอบของตัวเอง กรอบของไอยูซีเอ็นคือ เรื่องของอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ในประเด็นนี้สิทธิมนุษยชนประเทศไทยก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และอยู่ระหว่างการดำเนินการที่เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และได้ชี้แจงให้ประเทศสมาชิกอื่น ๆ ทราบแล้วเป็นระยะว่าทำอะไรไปบ้าง ก็น่ายินดีว่า หลาย ๆ ประเทศก็เข้าใจในประเด็นนี้และพร้อมจะสนับสนุนประเทศไทย