‘อนุสรณ์ ธรรมใจ’ แนะ กองทัพเปลี่ยนงบฯ ซื้ออาวุธ ทำ รพ.สนามในค่ายทหาร ช่วยประชาชน รัฐบาลใช้กฎหมายความมั่นคงทางวัคซีน แก้ปัญหาเลื่อนฉีด ประเมิน “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์-สมุยพลัส” ไม่เป็นไปตามเป้า
18 ก.ค. 2564 – รศ.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต เปิดเผยถึงกรณีมาตรการขยายล็อกดาวน์ ปิดกิจกรรมเพิ่มเติม เพิ่มจังหวัด และล็อกดาวน์ยาวนานขึ้น จะได้ผลน้อยมาก อัตราการเสียชีวิตอาจจะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง พร้อมตัวเลขการติดเชื้อสูงขึ้น
โดยวิเคราะห์ ความไม่มีประสิทธิภาพของการล็อกดาวน์ในการควบคุมโรคขณะนี้ เป็นผลจากการติดเชื้อที่ลุกลามสู่ครัวเรือน และชุมชนอย่างเต็มที่แล้ว การล็อกดาวน์จะมีผลกระทบเศรษฐกิจรุนแรงและยังอาจทำให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อเพิ่มในบ้านหรือชุมชนรายได้น้อย เนื่องจากอยู่อาศัยกันอย่างแออัด
“มาตรการขยายล็อกดาวน์จะมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลก็ต่อเมื่อ คู่ขนานกับมาตรการตรวจคัดกรองเชิงรุกในครัวเรือน ชุมชนและโรงงาน และเร่งฉีดวัคซีน mRNA ควบคุมการลักลอบเข้าประเทศผิดกฎหมาย”
เขาบอกต่อไปว่าควรชะลอการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศในพื้นที่เสี่ยง ชดเชยรายได้และผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อผู้ใช้แรงงาน และผู้ประกอบการอย่างเต็มที่ ขณะที่รัฐบาลควรตัดสินใจปรับเปลี่ยนการใช้จ่ายในงบประมาณใหม่ โดยเลื่อนการจัดซื้ออาวุธทั้งหมด แล้วนำเงินมาใช้ในงบสาธารณสุข
รศ.อนุสรณ์ ย้ำว่า ไม่เช่นนั้นการล็อกดาวน์จะไม่ได้ผลอะไรมาก และจะทำให้วิกฤตเศรษฐกิจทรุดหนักลงไปอีก
แนะ กองทัพไทยเปลี่ยนงบฯ ซื้ออาวุธ ทำ รพ.สนาม ในค่ายทหาร ช่วยประชาชน
เขาเปรียบเทียบว่า หากรัฐบาลไม่ซื้อเรือดำน้ำเพิ่มอีกสองลำ จะสามารถแจกทุนการศึกษาให้เด็กยากจนทุนละ 5,000 บาท จำนวน 4.5 ล้านคน และทำให้เด็ก ๆ ไม่ต้องออกจากระบบการศึกษาจากวิกฤตเศรษฐกิจโควิด-19 หรือจะซื้อวัคซีนมาฉีดฟรีให้ประชาชนได้อย่างต่ำ 123 ล้านโดส หรือ ซื้อเครื่องตรวจแจกฟรีให้ประชาชนได้ 64 ล้านคน หรือ ซื้อเครื่องวัดออกซิเจนได้ 22 ล้านเครื่อง หรือ ชุด PPE ให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ 150 ล้านชุด โดยขอให้สมาชิกรัฐสภาและรัฐบาลตัดสินใจให้ดี ว่าเราควรเอาเงินกู้และเงินภาษีประชาชนไปทำอะไรในช่วงเวลานี้
“สิ่งที่กองทัพไทย ควรทำ ไม่ใช่การจัดซื้ออาวุธ แต่ควรนำเอาพื้นที่ของค่ายทหารมากมายและกำลังพลจำนวนมากมาจัดสร้างโรงพยาบาลสนามช่วยเหลือประชาชน รวมทั้ง การเร่งตรวจเชิงรุกในชุมชน และ จ่ายค่าตอบแทนให้กำลังพลชั้นผู้น้อยที่ได้ร่วมกันช่วยเหลือประชาชนมากกว่า”
รัฐบาลไทยไม่ร่วม โคแวกซ์ คือ ความผิดพลาดเรื่องการจัดหาวัคซีน
รศ.อนุสรณ์ ระบุถึงกรณีที่รัฐบาลไทยปฏิเสธไม่เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ (Covax) ขององค์การอนามัยโลกและพันธมิตร ว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดที่สุดเรื่องการจัดหาวัคซีน นอกจากประเทศต้องสิ้นเปลืองงบประมาณเพิ่มเติมอีกจำนวนมากแล้ว ยังเกิดข้อสงสัยว่าหากเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ จะหาประโยชน์จากเงินทอนไม่ได้หรือไม่ เพราะเป็นวัคซีนบริจาค ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนล้วนได้วัคซีนจากโครงการโคแวกซ์ ขององค์การอนามัยโลกไปแล้ว ปลายปีนี้ โครงการโคแวกซ์จะจัดวัคซีนไปทั่วโลกให้ได้ 2 พันล้านโดส แต่ประเทศไทยจะไม่ได้แม้เพียงโดสเดียวจากโครงการนี้เพราะเราตัดสินใจไม่เข้าร่วม
“การใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นทั้งหมดควรเลื่อนออกไปก่อน โดยเฉพาะการซื้อเรือดำน้ำอีกสองลำเนื่องจากไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนแต่ประการใด องค์การอนามัยโลกและโครงการโคแวกซ์ ต้องใช้เวลาอีกหลายปีในการฉีดวัคซีนให้ประชากรโลกได้ 70% จากประชากรโลกที่มีอยู่ราว 7.8 พันล้านคน อันนำมาสู่ภูมิคุ้มกันหมู่ จึงสามารถหยุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างเบ็ดเสร็จ”
ใช้ กม.ความมั่นคงทางวัคซีน แก้ปัญหาเลื่อนฉีดวัคซีน
รศ.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ความจริงแล้ว ประชาชนไม่ควรต้องเสียเงินในการเข้าถึงบริการพื้นฐานทางด้านสาธารณสุขหรือการฉีดวัคซีน ภายใต้สภาวะดังกล่าว เราต้องประเมินสถานการณ์ใหม่ด้วยการหันมาส่งเสริมการรักษาสำหรับผู้มีอาการไม่รุนแรงและป้องกันโดยใช้สมุนไพรไทยมากขึ้น
นอกจากนี้ รัฐควรแก้ปัญหาการเลื่อนการฉีดวัคซีน โดยใช้กฎหมายความมั่นคงทางวัคซีนเพื่อจำกัดจำนวนการส่งออก “แอสตราเซเนกา” เพื่อนำมาใช้ในประเทศก่อน เนื่องจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้ามีโรงงานผลิตอยู่ในดินแดนประเทศไทย และรัฐไทยมีอำนาจอธิปไตยสมบูรณ์ในการบังคับใช้กฎหมาย หากบริษัทเห็นว่าการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายวัคซีนสำคัญกว่าชีวิตคนไทย รัฐบาลสามารถใช้พระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 เพื่อกำหนดสัดส่วนการส่งออกได้เฉพาะที่เกิน 6 ล้านโดส เพื่อประเทศไทยจะได้มีวัคซีนใช้อย่างน้อย 6 ล้านโดสต่อเดือน
“แต่การตัดสินใจนี้จะอยู่ที่นายกรัฐมนตรีผู้เดียว เดิมเป็นอำนาจของรัฐมนตรีสาธารณสุข เนื่องจากมีการออกพระราชกฤษฎีกาโอนอำนาจให้นายกรัฐมนตรี และ หวังว่านายกฯ จะใช้อำนาจนี้ในการดูแลประชาชนชาวไทย และต้องดำเนินการระงับการส่งออกเกินสัดส่วนเพื่อให้วัคซีนเพียงพอใช้ภายในประเทศภายในสัปดาห์นี้ ก่อนที่จะช้าเกินไปและระบบสาธารณสุขและระบบเศรษฐกิจต้องล่มสลายลง”
ประเมิน “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” และ “สมุยพลัส” ไม่เป็นไปตามเป้า
รศ.อนุสรณ์ ได้ประเมินในเบื้องต้นจากการที่ สหภาพยุโรป (อียู) ประกาศให้ไทยเป็นประเทศเสี่ยงสูงระดับเดียวกับรวันดาในแอฟริกา จะทำให้รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติของ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” และ “สมุยพลัส” ไม่เป็นไปตามเป้าหมายและน่าจะต่ำกว่าเป้าหมาย 30-40% ค่าเงินบาทอาจจะอ่อนค่าเพิ่มขึ้น และทดสอบ 33 บาทต่อดอลลาร์จากการขยายมาตรการล็อกดาวน์เพิ่มเติม
นอกจากนี้อาจทำให้ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวลดลงทดสอบระดับ 1520-1553 จุดในสัปดาห์นี้ การทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาสสองของบริษัทจดทะเบียนในไทยยังคงปรับตัวกระเตื้องขึ้นโดยรวม แต่จะอ่อนแอลงอย่างมากในไตรมาสสาม ผลการดำเนินการของกลุ่มสถาบันการเงินชะลอตัวลงและต่อเนื่องไปยังไตรมาสสาม
ขณะที่ทิศทางของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการเงินเข้มงวดขึ้นของประเทศใหญ่ อย่าง สหรัฐอเมริกา จีน อังกฤษ หรือ กลุ่มประเทศอียู อาจเกิดขึ้นปีหน้าท่ามกลางแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น อัตราผลตอบแทนในตลาดการเงินจะลดความชันลงในช่วงครึ่งปีหลัง