‘พวงทอง’ ท้วงกองทัพใช้คลื่นวิทยุ-โทรทัศน์ไม่คุ้มค่า ส่อฮั้วประโยชน์

กมธ.ธุรกิจกองทัพฯ ถกเดือด ‘พวงทอง’ รายงานกองทัพฯ ใช้คลื่นวิทยุ-โทรทัศน์ไม่คุ้มค่า ส่อฮั้วประโยชน์กันภายใน-ไม่เปิดเผยข้อมูลการเงิน จี้กองทัพคืนคลื่นให้รัฐทำประโยชน์อื่น

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2567 คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจของกองทัพ (กมธ. ธุรกิจกองทัพฯ) ได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ภูมิธรรม เวชยชัย เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานะและบทบาทของกองทัพภายใต้ระบอบประชาธิปไตย เพื่อป้องกันการเอื้อประโยชน์ในทางธุรกิจภายในองค์กร ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการนำโดย จิรายุ ห่วงทรัพย์ และ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ

ล่าสุด รศ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาและข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับกิจการธุรกิจของกองทัพในการหารือครั้งที่ผ่านมา และวันนี้ (28 ธ.ค. 2567) ได้เปิดเผยรายละเอียดและมุมมองต่อประเด็นธุรกิจกองทัพผ่านเฟซบุ๊ก Puangthong Pawakapan

รศ.พวงทอง ระบุว่า กิจการวิทยุและโทรทัศน์ของกองทัพเริ่มต้นตั้งแต่ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบว่ามีปัญหาหลายประการ ได้แก่ ข้อกฎหมาย ความไม่มีประสิทธิภาพ และความไม่โปร่งใส นอกจากนี้ ยังมีคำถามว่ากิจการเหล่านี้ยังเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติจริงหรือไม่ หรือเป็นการใช้นิยามความมั่นคงที่ขยายความเกินจำเป็น

กิจการวิทยุ: ปล่อยเช่าเอกชนเกือบ 100% ส่อขัดระเบียบ กสทช.

รศ.พวงทอง ระบุว่า กองทัพครอบครองสถานีวิทยุ FM และ AM รวมทั้งหมด 196 สถานี โดยเฉพาะคลื่น FM ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งคาดว่ามีรายได้สูง ขณะที่คลื่น AM ในต่างจังหวัดประสบปัญหารายได้ลดลงและขาดทุน ส่วนสถานีที่ยังคงมีผู้ฟังมักดำเนินรายการโดยเอกชน ซึ่งบางแห่งปล่อยเช่าเวลาให้เอกชนเกือบ 100% ขัดต่อข้อกำหนดของ กสทช. ที่อนุญาตให้เช่าได้ไม่เกิน 40% นอกจากนี้ ยังพบปัญหาด้านงบการเงิน เช่น การใช้เงินรายได้จากสถานีวิทยุเพื่อสนับสนุนสมาคมและชมรมของกองทัพแทนที่จะนำส่งรัฐ

ในส่วนของรายได้จากกิจการวิทยุ พบว่ากองทัพมีรายได้มหาศาลจากการปล่อยเช่าคลื่นความถี่และขายเวลาโฆษณา โดยเฉพาะในคลื่น FM ที่มีการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่เมืองสำคัญ อย่างไรก็ตาม ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลการจัดสรรรายได้ที่ชัดเจน ทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับการนำเงินดังกล่าวไปใช้ในทางที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายหรือวัตถุประสงค์ขององค์กร ตลอดจนการจัดรายการวิทยุที่ไม่ตอบจุดประสงค์ด้านความมั่นคง

“สถานีที่ยังมีคนฟัง มักให้บริษัทเอกชนมาเป็นผู้ร่วมผลิตรายการ บางสถานีให้เอกชนทำเกือบ 100% ซึ่งขัดกับกฎระเบียบของ กสทช. …และหลายสถานีเปิดเพลงทั้งวัน อันนี้ทำให้ตั้งคำถามได้ว่า มันตอบสนองจุดประสงค์เรื่องความมั่นคงของชาติอย่างไร ?”

รศ.พวงทอง ภวัครพันธุ์

กิจการโทรทัศน์: กองทัพส่อฮั้วประโยชน์ให้ยืมเงิน กู้วิกฤตการเงิน

กิจการโทรทัศน์เกี่ยวข้องกับสถานีโทรทัศน์กองทัพบก (ททบ.5) เป็นหลัก โดยในแง่เนื้อหารายการพบว่าเกี่ยวกับความมั่นคงราว 8% เท่านั้น รศ.พวงทอง ระบุปัญหาว่า หนี้สินก้อนใหญ่ที่เกิดจากการกู้ยืมเงินโดยไม่มีดอกเบี้ย เพื่อช่วยเหลือธุรกิจของบริษัทในเครือ ททบ.5 (ในชื่อ RTA Entertainment) โดยกองทัพบกเป็นผู้ให้ยืมเงิน อาจส่อการดำเนินธุรกิจที่ขัดต่อกฎหมาย เนื่องจากกองทัพไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะดำเนินการในเชิงพาณิชย์หรือถือหุ้นในบริษัทเอกชน

ปัญหาเริ่มตั้งแต่ปี 2541 ททบ.5 ให้บริษัทเอกชนในเครือคือบริษัท RTA Entertainment (เดิมชื่อบริษัท ททบ.5) กู้เงินแบบไม่มีดอกเบี้ยจำนวน 1.4 พันล้านบาท เพื่อซื้อหุ้นธนาคารทหารไทยในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ แต่บริษัทกลับประสบภาวะขาดทุนจนไม่สามารถชำระคืนได้ และในปัจจุบันยังคงติดหนี้กองทัพบกกว่า 1.1 พันล้านบาท สะท้อนถึงผลประโยชน์ทับซ้อนและการดำเนินงานที่ขัดต่อกฎหมาย ซึ่งไม่ได้อนุญาตให้หน่วยงานรัฐให้เอกชนกู้เงินในลักษณะนี้

รศ.พวงทอง เผยปัญหาอีกประการหนึ่งคือ กองทัพไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการดำเนินธุรกิจหรือถือหุ้นในบริษัทเอกชน แต่กลับมีการจัดตั้งบริษัท RTA โดยกองทัพบกถือหุ้น 49.0095% และส่วนที่เหลือถือโดยนายพลในกองทัพบกหลายคน แม้ว่าตัวแทนจาก ททบ.5 จะปฏิเสธการรู้จักหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทดังกล่าว นอกจากนี้ ผลประกอบการของ RTA ก็ติดลบมาโดยตลอด แม้จะมีหน่วยงานทหารป้อนงานให้ก็ตาม

ในแง่รายได้ พบว่าสถานีโทรทัศน์ ททบ.5 ยังคงสร้างรายได้จากโฆษณาและการปล่อยเช่าช่วงเวลาให้เอกชนในวงกว้าง อย่างไรก็ตาม การใช้รายได้ดังกล่าวกลับไม่ได้สะท้อนในงบประมาณที่โปร่งใส โดยมีข้อกังวลว่ารายได้ส่วนนี้ถูกนำไปใช้ในกิจกรรมที่ไม่สอดคล้องกับภารกิจหลักของกองทัพ เช่น การสนับสนุนกิจการของสมาคมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์กร

องค์กรตรวจสอบไม่ได้ สิ้นเปลืองทรัพยากรชาติ
แนะคืนคลื่นวิทยุโทรทัศน์ให้รัฐทำประโยชน์

ในแง่รายได้ รศ.พวงทอง พบว่ากิจการวิทยุและโทรทัศน์สร้างรายได้มหาศาลจากการโฆษณาและการปล่อยเช่าช่วงเวลา อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการรายได้ดังกล่าวยังขาดความโปร่งใส และไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณ นอกจากนี้ ในกรณีของสถานีวิทยุ กองทัพยังนำรายได้ไปสนับสนุนสมาคมและชมรมที่เกี่ยวข้องกับองค์กรโดยตรง ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของหน่วยงาน

“ที่ผ่านมา ตัวแทนของ ทบ. ชี้แจงในที่ประชุม กมธ. ว่าทบ.ทำงานโปร่งใสตรวจสอบได้ เพราะส่งรายงานการเงินให้ กสทช.ทุกปี แต่กลับไม่ยินยอมส่งข้อมูลให้กับ กมธ. และกมธ. ก็ไม่สามารถขอจาก กสทช. ได้ด้วย ที่น่าประหลาดคือ ในขณะที่งบการเงินของสถานีอื่น เช่น Thai PBS และ NBT เผยแพร่บนเว็บของ กสทช. แต่ กสทช. กลับไม่เผยแพร่งบการเงินของ ททบ.5 …มีใครห้ามไว้หรืออย่างไร?”

รศ.พวงทอง ภวัครพันธุ์

รศ.พวงทอง ทิ้งท้ายว่า ด้วยข้อสังเกตที่กล่าวไป พบว่าทรัพยากรของชาติถูกใช้ในลักษณะไม่เหมาะสม และไม่เป็นธรรมกับสังคมอย่างยิ่ง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของกองทัพในสายตาประชาชนอย่างแน่นอน จึงเรียกร้องรัฐบาลและผู้นำทหารพิจารณา ข้อเสนอและแนวทางแก้ไขปัญหา ดังนี้

  1. คืนคลื่นวิทยุและโทรทัศน์ให้หน่วยงานรัฐอื่นที่มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการ และปรับบทบาทของกองทัพให้มุ่งเน้นงานด้านความมั่นคงที่แท้จริง
  2. หากยังไม่คืนทรัพยากรดังกล่าว กองทัพควรแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งให้กับรัฐบาล เพื่อสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
  3. แก้ไขปัญหาทางกฎหมาย โดยยกเลิกสิทธิ์ที่ขัดต่อกฎหมายของกองทัพในกิจการเชิงพาณิชย์ และปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริต
  4. จัดตั้งหน่วยงานอิสระเพื่อตรวจสอบการดำเนินงานของกองทัพและเสนอแนะแนวทางการแก้ไขในเชิงโครงสร้าง เพื่อสร้างความโปร่งใสและความเชื่อมั่นในบทบาทของกองทัพภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active