นักวิชาการชี้ “ป่าแก่งกระจาน” มรดกโลก เหมือนการบ้านไม่เสร็จ “วราวุธ” ย้ำเดินหน้าดูแลคนกับป่า

รมว.ทส. ขอบคุณ คณะกรรมการมรดกโลกมอบของขวัญให้ไทย ยัน ทุกฝ่ายร่วมมือแก้ปัญหาประชาชนในพื้นที่ป่าอย่างเต็มที่ ขณะที่หลายฝ่ายยังกังวล แนะให้ความสำคัญใช้วิกฤตเป็นโอกาส แก้ไขปัญหาทุกมิติ

เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2564 วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) แถลงท่าทีภายหลังคณะกรรมการมรดกโลก มีมติรับรองการขึ้นทะเบียนพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ โดยมองว่า ประเทศไทยได้รับของขวัญชิ้นใหญ่ เพราะผืนป่าแก่งกระจานที่มีพื้นที่ 2.5 ล้านไร่ ครอบคลุมผืนป่าอนุรักษ์ 4 แห่ง ใน 3 จังหวัด คือ เพชรบุรี ราชบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเรียบร้อยแล้ว ตนขอแสดงความยินดีกับเจ้าหน้าที่ พี่น้องประชาชนทุกคน เพราะ 16 ปีที่ผ่านมา ไทยได้ทำงานกันอย่างไม่หยุดหย่อน มีความพยายามเสนอกันถึง 4 ครั้ง วันนี้ครั้งที่ 4 จึงประสบความสำเร็จ ต้องขอขอบคุณเจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพยากรฯ ในการทำงานสำรวจป่า รวมถึงพี่น้องประชาชน ผู้นำชุมชน ที่สนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ สำนักงานกระทรวงการต่างประเทศ สถานทูตทั่วโลกในการพูดคุยทำความเข้าใจในการที่จะขอสนับสนุนให้ผลักดันผืนป่าแก่งกระจานให้เป็นมรดกโลก และวันนี้เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ด้วยความร่วมไม้ร่วมมือของทุกคน จึงทำให้วันนี้ประเทศไทยได้รับของขวัญที่สำคัญ

“เมื่อได้ของขวัญสำคัญนี้มาแล้ว ไม่ได้เก็บไว้เฉย ๆ ภารกิจที่ทำจากนี้ คือการรักษาผืนป่ากว่า 2.5 ล้านไร่ ให้อุดมสมบูรณ์ ประกอบกับการดูแลพี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ให้ได้รับความสมดุลทั้งการดำรงชีพ และการอนุรักษ์ผืนป่าที่ได้รับการขึ้นทะเบียน เพราะตอนนี้ไม่ใช่แค่มรดกของประชาชนคนไทย แต่เป็นมรดกของประชาชนทั่วโลก ที่ต้องอนุรักษ์ รักษาไว้ส่งต่อให้ลูกหลานของเรา”

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)

รมว.ทส. กล่าวด้วยว่า อย่างที่ทราบกันดีว่า ผืนป่าแก่งกระจานมีความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้นน้ำที่สำคัญของแม่น้ำหลายสาย เป็นผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์อย่างมากในประเทศนี้ การได้รับเกียรติจากนานาประเทศ ที่ให้ความสำคัญกับไทย ส่วนที่มีข้อสังเกต ถึงข้อกังวลที่ผ่านมา ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพยากรฯ ทุกคน ได้ดำเนินการอย่างเต็มที่

นอกจากนี้ ยังขอบคุณ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี  ที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้กำชับ เฝ้าดู เอาใจใส่ การทำงานของกระทรวงทรัพยากรฯ จนทำให้เจ้าหน้าที่มีขวัญกำลังใจ ในที่สุดสามารถขึ้นทะเบียนมรดกโลกได้ ต้องถือว่าเป็นการทำงานของทุกฝ่าย รวมทั้งภาคเอกชน ประชาชน ที่แสดงให้เห็นว่า ความพยายามนี้ได้นำประโยชน์ตกต่อประชาชนทุกคน

“แม้ว่าได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก การทำงานใน 4 ผืนป่าอนุรักษ์ยังคงต้องเดินหน้าให้ความสำคัญเข้มข้นมากกว่าเดิม รักษาสมดุล ความเป็นอยู่ของประชาชน ในพื้นที่ต้องได้รับการดูแล นอกเหนือจากการทำงานของกระทรวงทรัพยากรฯ มีงานและภารกิจที่หลายหน่วยงานต้องทำ กระทรวงฯ จะเป็นหนึ่งกลไก ประสานงาน ให้พี่น้องประชาชนมั่นใจว่าจะได้รับการดูแลให้อยู่อย่างมีความมั่นคงต่อไป”

หลายฝ่าย แนะใช้วิกฤตเป็นโอกาส ดูแล พัฒนา แก้ปัญหาทุกมิติ

ด้าน พงษ์ศักดิ์  ต้นน้ำเพชร ตัวแทนชาวบ้านบางกลอย จ.เพชรบุรี ระบุภายหลังรับทราบมติการรับรองพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ผ่านทางเวที Reaction หลังผลประชุมการพิจารณาแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ที่จัดขึ้นโดยสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม GreenNews ว่าหากการรับรองครั้งนี้ได้มาจากความภาคภูมิใจของคนไทยก็น่ายินดี แต่มีข้อสงสัย และตั้งข้อสังเกตถึงการล็อบบี้หรือไม่  ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งมีส่วนร่วมช่วยกันดูแลผืนป่ามาเนิ่นนาน ก็ยังไม่รู้จะอยู่ที่ไหน และยังมีข้อกังวลอีกหลาย ๆ เรื่อง รวมทั้งปัญหาความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้าน ตลอด 25 ปี ยังไม่ถูกแก้ไข จึงมีความกังวล ไม่รู้ว่าหน่วยงานในพื้นที่จะแก้ไขปัญหาไปในทิศทางใด

“ยังมีข้อกังวล เพราะขนาดตอนที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เราจะใช้ชีวิตที่พึ่งพาธรรมชาติตามวิถีวัฒนธรรมยังถูกจำกัด พอเป็นมรดกโลก ไม่รู้จะมีทิศทางยังไงต่อ จริง ๆ การประกาศมรดกโลก ควรเป็นความภาคภูมิใจของทั้งระดับพื้นที่ ระดับประเทศ แต่การประกาศครั้งนี้ ทั้งที่ยังมีปัญหา ชุมชนต่าง ๆ ยังไม่พร้อม เรารู้สึกว่าปัญหาต่าง ๆ ที่มีควรถูกแก้ไขก่อน พอเราเห็นท่าทีหน่วยงานที่ผ่านมาก็ไม่จริงใจ ความรู้สึกตอนนี้คือบอกไม่ถูก”

พงษ์ศักดิ์  ต้นน้ำเพชร ตัวแทนชาวบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี

พงษ์ศักดิ์ บอกด้วยว่า อาศัยอยู่ในผืนป่าแก่งกระจานมานาน อยู่ร่วมกับธรรมชาติ พึ่งพาประโยชน์จากธรรมชาติ และก็เห็นว่าธรรมชาติยังมีความสมดุล แต่คำประกาศกลับใช้ในทางของกระทรวงทรัพยากรฯ ไม่มองมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของการดูแล จึงเป็นสิ่งที่น่ากังวล พร้อมยืนยันว่า  “เราเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าแห่งนี้ เราอยู่มาก่อน”

ชญาธนุส ศรทัตต์ ตัวแทนภาคี #Saveบางกลอย มองว่า การพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกครั้งนี้ ไม่ให้ความสำคัญกับการรับฟังผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ IUCN หรือการให้รับฟังในภายหลังจากการพิจารณารับรองนั้น ถือเป็นสิ่งที่เลวร้าย และเห็นว่าความพยายามช่วยเหลือ พัฒนาคุณภาพชีวิตชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ ให้กลับไปใช้ชีวิตทำกินตามวิถีวัฒนธรรม เป็นส่วนหนึ่งของป่า อย่างการทำไร่หมุนเวียน อาจไม่สามารถทำได้ หรือแม้แต่การจะศึกษาวิจัย ก็เป็นไปได้ยาก ทั้ง ๆ ที่รู้ว่ามีปัญหาที่ชาวบางกลอยอยู่ข้างล่าง หรือพื้นที่ที่รัฐจัดสรรให้ไม่ได้ ปลูกอะไรก็ไม่ได้ เมื่อไปทำงานในเมืองก็เจอปัญหาโควิด-19 จะพัฒนาอย่างไร แทบเป็นไปไม่ได้เลย

ขณะที่ จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ นักวิชาการอิสระ ด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ บอกว่า รู้สึกทั้งดีใจ และเสียใจ ต่อผลการพิจารณาที่เกิดขึ้นครั้งนี้  ที่ดีใจ เพราะกลุ่มป่าแก่งกระจานได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลก  แต่เสียใจกับชาวบ้านในพื้นที่ เพราะรัฐบาลส่งการบ้านไม่เสร็จ นั่นหมายความว่า การบ้านยังมี ภารกิจสำคัญจากนี้ทุกภาคส่วน ทั้งรัฐบาล สังคมไทย  ภาคประชาชน ต้องดำเนินการต่อเพื่อทำให้ของขวัญมรดกโลกที่ได้มา มีคุณค่า เพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับมรดกโลกหลายแห่งที่ได้มา บางแห่งก็ถูกจัดไปอยู่ในบัญชีอันตราย ซึ่งที่ผ่านมาละเลยไม่เห็นคุณค่าวัฒนธรรม เอาพืชเอาสัตว์เป็นใหญ่

“เราต้องใช้วิกฤตเป็นโอกาสการบูรณาการกันระหว่างธรรมชาติ และวัฒนธรรมให้ปรากฏ กิจกรรมที่ต้องทำต่อจากนี้ 5 ข้อ เช่น สิทธิมนุษยชน, การให้ชุมชนมีส่วนร่วมพัฒนา, สิทธิในที่ทำกิน, ความมั่นคง, คุณภาพชีวิต และสิ่งที่ IUCN เสนอ เมื่อได้ของขวัญแล้ว ต้องให้ทุกคน ทุกกลุ่มเดินหน้าออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรม เคารพไว้ซึ่งธรรมชาติควบคู่กับวัฒนธรรม”

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ