จี้ 3 หน่วยงานรัฐ เร่งเยียวยาชาวบ้านบางกลอย หลายคนเจ็บป่วย ไร้การดูแล ขาดอาหาร ไร้ที่ทำกิน สวนทาง “วราวุธ” โชว์แนวทางแก้ปัญหาให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดี พร้อมเดินหน้าชงป่าแก่งกระจาน ขึ้นมรดกโลก 16 ก.ค. นี้
วานนี้ (2 ก.ค. 2564) ภาคี #SAVEบางกลอย ออกแถลงการณ์ เรียกร้อง 3 หน่วยงานรัฐ ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เร่งเยียวยาชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี หลังพบว่าชาวบ้าน 13 คน ป่วยหนัก คาดเกิดจากภาวะขาดสารอาหาร เนื่องจากไม่มีที่ดินทำกิน และไม่สามารถหาของป่าบริโภคในครัวเรือนได้
แถลงการณ์ ระบุว่า ขณะนี้ชาวบ้านกำลังตกอยู่ในสภาวะเจ็บป่วยที่ยังไม่ทราบสาเหตุ โดยคาดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับสภาวะขาดแคลนอาหาร มารดาไม่สามารถให้นมบุตรได้ และทารกแรกเกิดพิการจนไม่สามารถบริโภคน้ำนมแม่ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นอาจมีสาเหตุมาจากคุณภาพชีวิตของชาวบ้านที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือดูแล ชาวบ้านไร้ที่ทำกิน ขาดรายได้ หลายคนเกิดความเครียดจากการถูกดำเนินคดี
ภาคี #SAVEบางกลอย จึงเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุข จัดทีมแพทย์อาสาเข้าไปประเมินอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นของชาวบ้านโดยเร่งด่วน และให้ความช่วยเหลือใรักษาพยาบาลในกรณีชาวบ้านที่มีอาการรุนแรง ต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล
ขอให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ความช่วยเหลือด้านอาหารแก่ชาวบ้านโดยเร่งด่วน รวมทั้งให้อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีช่องทางให้ชาวบ้านสามารถเข้าถึงแหล่งอาหารจากทรัพยากรธรรมชาติได้ ตามวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยง
“เรายืนยันว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะนี้ ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยไม่เพียงได้รับผลกระทบจากการขาดรายได้ และขาดอาหาร แต่ยังได้รับผลกระทบจากอคติทางชาติพันธุ์ และการบังคับใช้กฎหมายโดยไร้มนุษยธรรมจากภาครัฐด้วย เราไม่อาจปล่อยให้เพื่อนร่วมสังคมต้องถูกเลือกปฏิบัติและตกสำรวจจากกระบวนการเยียวยาทุกรูปแบบเช่นนี้”
ด้าน ชญาธนุส ศรทัตต์ หรือ เฌอเอม อดีตผู้เข้าประกวดมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส 2020 และสมาชิกภาคี #SAVEบางกลอย กล่าวว่า กรณีนี้เป็นความรับผิดชอบของอุทยานฯ เป็นเรื่องพื้นฐานที่ต้องเห็นชีวิตมนุษย์สำคัญกว่าเขตแดน ต้นไม้ ป่า ตอนนี้ทรัพยากรถูกจำกัดไว้เพื่อคนกลุ่มเดียว เป็นความภูมิใจในการขึ้นมรดกโลก แต่ชาวบ้านกลับล้มป่วยไปที่ละคน ไม่สิทธิ์ใช้ประโยชน์จากป่า
“ตอนนี้มีคนจะตายจากการถูกบังคับไม่ให้ใช้ประโยชน์จากป่า ชีวิตคนมันเอากลับมาไม่ได้ ถ้าคุณไม่ให้เขากลับไป คุณก็ต้องให้อาหารที่กินได้เลยกับเขา ให้หยูกยากับเขา ชาวบ้านเขาไม่ได้อยากอยู่ตรงนี้ คุณอยากให้เขาอยู่ตรงนี้เอง ฉะนั้นเป็นความรับผิดชอบของอุทยานฯ โดยตรง คุณจะเมินแล้วบอกว่าไม่เกี่ยวกับคุณไม่ได้ มันเป็นเรื่องโหดร้าย เราโอเคจริงๆ หรือที่จะให้พื้นที่นี้เป็นมรดกโลกบนชีวิตของคนเหล่านี้ สมมติว่าแก่งกระจานได้เป็นมรดกโลกโดยที่ตอนนี้คุณไม่เหลียวแลเขา วันหนึ่งเขาตายไป คุณจะยอมรับได้ไหมที่มรดกโลกของคุณมันแปดเปื้อนไปด้วยชีวิตคน ทั้งที่มรดกโลกที่อื่นมีทั้งคนกับป่าอยู่ด้วยกันก็ได้”
ผู้แทนภาคี #SAVEบางกลอย ยังย้ำว่า ไม่ใช่เรื่องผิดที่จะผลักดันผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก แต่ผิดที่ออกมาบอกว่าชาวบ้านอยู่ดีกินดี เพราะผ่านมาภาครัฐไม่เคยแก้ปัญหาอะไรให้กับชาวบ้าน ทั้งยังละเมิดสิทธิ และล้ำเส้นชาวบ้านอย่างรุนแรงด้วย
ก่อนหน้านี้ วราวุธ ศิลปอาชา รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แถลงความคืบหน้าการนำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน เพื่อขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยชี้ว่ารัฐบาลเน้นแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการร่วมกันและเป็นขั้นตอน ที่ผ่านมารัฐบาล ได้แก่ปัญหาชุมชนบ้านบางกลอยมาอย่างต่อเนื่อง และมีหน่วยงานของรัฐมากกว่า 20 หน่วยงาน เข้าไปดำเนินโครงการต่างในพื้นที่ ไม่น้อยกว่า 88 โครงการ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง รวมทั้งแก้ปัญหาที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบางกลอย
โดยเวทีประชุมทางไกลของคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 44 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 – 31 ก.ค. นี้ ยืนยันว่า ประเทศไทยมีเรื่องกลุ่มป่าแก่งกระจานเรื่องเดียว ที่ขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ซึ่งมั่นใจและเทหมดหน้าตัก เวลานี้มีอย่างน้อย 7 – 8 ประเทศ ที่ให้การสนับสนุน