คาด 1 ใน 3 ของผู้พบผลบวกต้องรับยาทันที เผย ส.ค. นี้นำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์ 43.1 ล้านเม็ด ถึงไทยวันนี้ (5 ส.ค.64) ล็อตเแรก 4 ล้านเม็ด ด้าน “เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์” ห่วงเชื้อลงปอดเด็กมากขึ้น คิดค้นสูตรยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ สำหรับเด็ก เตรียมให้สถานพยาบาลลงทะเบียนขอรับยา หรือ นำไปผลิตเอง
ผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีจำนวนมาก แม้จะขยายเตียงรองรับกว่า 1.85 แสนเตียง ก็ยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะพื้นที่ กทม. ในกลุ่มผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย กระทรวงสาธารณสุขให้จัดระบบการดูแลรักษาที่บ้าน (Home Isolation) และที่ชุมชน (Community Isolation) โดยมีศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. และคลินิกชุมชนอบอุ่น ดูแลติดตามอาการ
ในช่วงล็อกดาวน์ 2 สัปดาห์นี้ ชมรมแพทย์ชนบท จัดหน่วย CCR Team โดยบุคลากรสาธารณสุขจิตอาสาหลายสาขาวิชาชีพในภูมิภาค ซึ่งมีความชำนาญในการจัดบริการปฐมภูมิ จำนวน 39 ทีมภูธร จากภาคเหนือ 7 ทีม ภาคกลาง 10 ทีม ภาคตะวันออก 2 ทีม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11 ทีม และภาคใต้ 9 ทีมร่วมดำเนินการเชิงรุกในพื้นที่ กทม. ระหว่างวันที่ 4-10 สิงหาคมนี้ และคาดว่าจะมีเพิ่มเติมอีกรวมเป็น 40 กว่าทีม ตั้งเป้าหมายตรวจคัดกรองวันละ 35,000 รายโดยภายใน 7 วันจะตรวจคัดกรองให้ได้ไม่น้อยกว่า 250,000 ราย
“นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ” รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (หัวหน้าภารกิจด้านพัฒนาการสาธารณะ เปิดเผยว่ากระทรวงสาธารณสุข ได้สนับสนุนภารกิจของชมรมแพทย์ชนบท ด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit จำนวน 3 แสนชุด โดยคาดว่าอาจพบผลบวก 15% หรือประมาณ 32,500 ราย โดยประมาณ 1 ใน 3 ต้องการยาฟาวิพิราเวียร์ จึงสนับสนุนยาฟาวิพิราเวียร์อย่างน้อย 6 แสนเม็ด ซึ่งเริ่มดำเนินการ เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 64 เป็นวันแรกโดยจัดสรรให้ 2 แสนเม็ดแรก ใช้สำหรับ วันที่ 4-5 ส.ค. โดยวันนี้ (5 ส.ค. 64) ยาฟาวิพิราเวียร์นำเข้ามาถึงไทยแล้ว 4 ล้านเม็ด จะจัดสรรให้ 4 แสนเม็ด จึงครบ 6 แสนเม็ด ตามจำนวนที่คาดการณ์ว่าจะต้องใช้ ขณะที่ตลอดเดือน ส.ค. นี้ องค์การเภสัชกรรมจะนำเข้ามารวม 43.1 ล้านเม็ด โดยเป็นการทยอยนำเข้า
ด้าน “นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี” เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในส่วนของยาฟาวิพิราเวียร์ ตามไกด์ไลน์ของ สธ. ได้กำหนดให้เริ่มใช้ยาในผู้ป่วยโควิด-19 โดยเร็วที่สุด ซึ่งมีปริมาณการใช้ประมาณ 50 เม็ดต่อผู้ป่วย 1 คนโดยขณะนี้ สธ. มีแผนจัดซื้อ ณ เดือน ก.ย. 2564 จำนวน 40 ล้านเม็ด ซึ่งคาดว่าอาจไม่เพียงพอกับปริมาณความต้องการใช้ยา ในส่วนนี้ สปสช. จึงเสนอขอเตรียมงบประมาณเพื่อจัดซื้อไว้จำนวนไม่เกิน 27 ล้านเม็ด ในวงเงิน 891 ล้านบาท โดยจะเพิ่มรายการในแผนการจัดหา เพื่อให้เครือข่ายหน่วยบริการด้านยาและเวชภัณฑ์โรงพยาบาลราชวิถี จัดหาเพิ่มเติมอย่างเร่งด่วนในปี 2564 และต่อเนื่องไปปี 2565
เผย”เชื้อลงปอดเด็ก”มากขึ้น ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ คิดสูตรยาฟาวิพิราเวียร์ ชนิดน้ำ
ขณะที่ “นพ.นิธิ มหานนท์” เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดเผยวันนี้ (5 ส.ค.64) ว่าปัจจุบันเด็กมีอัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการระบาดที่ผ่านมามีเคสเด็กติดเชื้อทางเดินหายใจมากขึ้น โดยเฉพาะเดือน ก.ค. ยอดขึ้นไป 2-3 เท่า นอกจากนี้ ยังพบว่าด้วยสายพันธุ์กลายพันธุ์ เคสเด็กก็มีอัตราการเกิดโควิดติดเชื้อ หรือเชื้อลงปอดเพิ่มมากขึ้น จากเด็กมีการติดเชื้อ 50% เพิ่มเป็น 80-90% เมื่อมีการติดตามการรักษา แต่ยังสบายใจตรงที่อาการเด็กน้อยกว่าผู้ใหญ่ โดยเด็กปอดติดเชื้อยังไม่ต้องการออกซิเจนมากเท่าไหร่ ยังคงออกซิเจนในเลือดได้เกิน 95-96%เป็นส่วนใหญ่
การใช้ยาต้านไวรัส หากได้ยาเร็วภายใน 4 วันหลังมีอาการจะลดอาการหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลและน่าจะลดการเสียชีวิตได้ โดยยาชนิดน้ำ ร่วมกับ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท เมดิกา อินโนวา จำกัด เพื่อผลิตยาในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ต้องรับประทานให้หมดภายใน 30 วัน หากใครจะนำตำรับยาไปผลิต โรงพยาบาลที่อื่นๆ โดยราชวิทยาลัยไปช่วยควบคุมมาตรฐานก็ยินดี
“พล.อ.ต.นพ.สันติ ศรีเสริมโภค” รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์กล่าวว่า การให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ชนิดน้ำ มีข้อบ่งชี้เป็นผู้ป่วยเด็ก หรือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถกินอาหารได้เอง และต้องมีผลตรวจเชื้อโควิดด้วย Antigen Test Kit ก่อน หากเป็นบวกก็ให้ยา จากนั้นค่อยยืนยันด้วยการตรวจแบบ RT-PCR แต่จะให้มีการขอยารับยาได้ในวันที่ 6 ส.ค.นี้ ผ่านเว็บไซต์ https://favipiravir.cra.ac.th โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เนื่องจากได้รับการสนับสนุนโดยมูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ ในพระอุปถัมภ์
ทั้งนี้สถานพยาบาลอื่นๆหรือแพทย์สามารถขอมาทางราชวิทยาลัยได้ แต่ระยะแรกสามารถผลิตยาได้ไม่มากประมาณ 100 คนต่อสัปดาห์ หรือ 20 คนต่อวัน และจะได้ยาภายใน 1 วัน หลังจากลงทะเบียนกรอกข้อมูลเรียบร้อย และจะจัดยาไม่เกินเวลา 20.00 น.ของทุกวัน ซึ่งค่าใช้จ่ายในการจัดส่งอาจต้องรับผิดชอบเอง หรือประสานผู้ร่วมมือจัดส่งให้