มูลนิธิดวงประทีป เสนอ การท่าเรือ ร่วมมือ กทม. เพิ่มสถานที่กักตัวให้ได้ 2,000 เตียงรองรับผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น หลังศูนย์กักวัดสะพานใกล้ล้น
วันนี้ (5ส.ค.64) ทีมแพทย์ชนบทร้อยเอ็ด และปางมะผ้า ลงพื้นที่ตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kid (ATK) ที่ชุมชนคลองเตย เขตคลองเตย กทม. พร้อมตั้งเป้าตรวจวันละ 1,000 คน รวมการตรวจตลอด 4 วัน ทั้งหมด 4,000 คน
สำหรับผู้ที่ได้รับยืนยันผลตรวจเป็นบวก จะได้รับการประเมินกลุ่มอาการ หากพบเป็นผู้สูงอายุ มีอาการไอ หอบ ไข้สูง มีโรคประจำตัว จะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ทันที แต่ติดข้อจำกัดที่ทีมแพทย์ชนบท ได้รับการจัดสรรยามาเพียง 50 ชุดต่อคนต่อวัน ดังนั้นจึงต้องเร่งลงทะเบียนให้ผู้ป่วยเข้าสู่ระบบ Home isolation และ Comunity isolation เพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าสู่กระบวนการรักษา
อภิวัฒน์ กวางแก้ว คณะทำงานโควิดชุมชน ระบุว่า การปฏิบัติหน้าที่ของทีมแพทย์ชนบทที่ชุมชนคลองเตยวันนี้ มีหลายหน่วยงานร่วมมือกันทั้ง กรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตคลองเตย ศูนย์บริการสาธารณสุข 41 รวมทั้งภาคประชาชน ยืนยันว่าจะสามารถรองรับผู้ติดเชื้อทั้งหมด เข้าสู่ระบบ Home isolation และ Comunity isolation เพื่อเข้าเข้าถึงยาและรับการรักษาทันท่วงทีเพื่อรักษาชีวิต
เขายืนยันกับผมแล้วว่าจะเอาผู้ป่วยทุกคนเข้าระบบทั้งหมด และเรามีการทำงานร่วมกันวันนี้ หนึ่ง ใครที่ต้องรับยาเราจ่ายให้ก่อนและบันทึกข้อมูลไว้ว่าคนนี้ได้รับยาแล้ว ทางสำนักอนามัยก็เอาไปเข้าระบบ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน แต่หากคนไหนต้องได้รับยาแล้วยาหมด ก็ต้องบันทึกว่าคนนี้จำเป็นต้องได้รับยาแต่ยังไม่ได้รับยา เจ้าหน้าที่จะต้องรับไปดูแล และคาดหวังว่ายาจะถึงคนไข้ทุกรายในวันถัดไป
ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ผู้ก่อตั้งและเลขาธิการมูลนิธิดวงประทีป ย้ำว่า ข้อจำกัดของชุมชนคลองเตย เป็นชุมชนแออัด หนึ่งครอบครัวอยู่กันหลายคน ไม่มีห้องแยกกัก หากมีผู้ติดเชื้ออาจเป็นอุปสรรค ต่อการเข้าสู่ระบบ Home isolation ดังนั้นการสร้าง Comunity isolation ระบบการกักตัวในชุมชน เป็นสิ่งสำคัญ เพราะชาวคลองเตยส่วนใหญ่เป็นผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียวเข้ม และเหลืองเข้ม และจุดกักตัวที่วัดสะพานมีผู้ป่วยเข้ารักษาตัวแล้ว 450 คน จากศัพยภาพการรองรับเพียง 500 คน จึงเสนอให้เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เช่น การท่าเรือ และ กทม. ให้เข้ามาสนับสนุนเพื่อยกระดับการรองรับให้ได้ 2,000 เตียง
มีเคสที่ผู้ป่วยรอเตียง รอตาย ในชุมชนจำนวนมาก บางคนตรวจพบเชื้อจาก rapid test แต่ไม่สามารถไปหาที่ตรวจแบบ RT-PCR เพราะต้องเสียเงินและยังไม่สามารถตรวจ และไม่มีที่รองรับ สถานการณ์ตอนนี้หนักมาก ที่ประชาชนจะได้เข้าสู่กระบวนการรักษา
สำหรับผลการตรวจหาเชื้อเบื้องต้น พบว่า มีผู้ติดเชื้อ 62 คนจากทั้งหมด 300 คน คิดเป็นร้อยละ 20