ภาพรวมวันที่สาม กว่า 400 ชีวิต จาก 38 ทีมกระจายทั่วกรุงเทพฯ ร่วมกับ สธ. สปสช. กทม. และภาคประชาสังคม เปรียบเป็น “โรงพยาบาลเคลื่อนที่” บางจุด เพิ่มหน่วยฉีดวัคซีนทันที หากตรวจไม่พบเชื้อ
6 ส.ค. 2564 – เป็นวันที่สามสำหรับปฏิบัติการ #แพทย์ชนบทบุกกรุง ครั้งที่ 3 จำนวน 38 ทีม กว่า 400 ชีวิต แบ่งกำลังลงกระจายในกรุงเทพฯ 23 จุด และส่ง 5 ทีมไปเป็นพี่เลี้ยงให้จ.นครปฐม
นิมิตร์ เทียนอุดม ในฐานะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สัดส่วนภาคประชาชน เปิดเผยว่า ในปฏิบัติการครั้งนี้แตกต่างจากสองครั้งแรก โดย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ออกแบบฐานข้อมูล “CCRT-HI” หรือ “นำส่งผู้ป่วยเข้าสู่บริการ Home Isolation พื้นที่กรุงเทพมหานคร” ทำให้ประชาชนที่ลงทะเบียนตรวจ Antigen Test Kit (ATK) เข้าสู่ฐานข้อมูลของ สปสช. หากใครตรวจแล้วพบว่าติดเชื้อ จะมีการตรวจ RT-PCR ยืนยัน สำหรับคนที่ติดเชื้อและมีอาการจแพทย์จากจุดตรวจจะแจกยาฟาวิพิราเวียร์ไปรักษาตัวที่บ้าน (Home Isoaltion) โดย สปสช. จะจับคู่คลินิกชุมชนอบอุ่น หรือศูนย์บริการสาธารณสุข ของ กทม. ให้ทันที ทำให้คนที่ติดเชื้อมีบุคลากรทางแพทย์ดูแล โดยไม่ต้องรอ 48 ชั่วโมง
“ฐานข้อมูลที่ออกแบบสำหรับปฏิบัติการครั้งนี้ หน่วยบริการสุขภาพสามารถเข้าไปดู และดึงรายชื่อผู้ติดเชื้อในเขตบริการไปดูแลได้ เราคาดหวังว่า ศูนย์บริการสาธารณสุข 68 เขต ของ กทม. แต่ละศูนย์ จะช่วยดูแลผู้ป่วยระดับสีเขียว หรือเริ่มจะเป็นสีเหลืองที่กำลังดูแลรักษาตัวเองที่บ้าน แล้วอย่างน้อยศูนย์ละ 200 คน และคลินิกชุมชนอบอุ่นช่วยดูแลอีกแห่งละ 100 คน จำนวนที่เกินจากนั้น โดยเฉพาะผู้ป่วยสีเหลืองค่อนไปสีแดง ทางสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) จะช่วยดูแลร่วมกับอาสาสมัครอีกจำนวนหนึ่ง”
นิมิตร์ เทียนอุดม
อภิวัฒน์ กวางแก้ว คณะทำงานโควิดชุมชน ระบุถึงข้อจำกัดเรื่องยาฟาวิพิราเวียร์ก่อนหน้านี้ พบว่า วันนี้มีแนวโน้มที่ดีขึ้นหลัง สธ. อนุมัติยาให้ชมรมแพทย์ชนบท อีก 400,000 เม็ด จนครบที่ประมาณการณ์ไว้ 600,000 เม็ด มีผลให้ผู้ติดเชื้อวันนี้จะได้รับยารักษาทุกคน ทั้งนี้ ในแต่ละจุดจะแบ่งยาฟาวิพิราเวียร์ 50 ชุด ชุดละ 50 เม็ด
นอกจากนี้ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา ในฐานะประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้สนับสนุนวัคซีนแอสตราเซเนกา จำนวน 100 ขวด (1 ขวด ประมาณ 10 โดส) คือแบ่งจุดละ 10 ขวด จึงสามารถปฏิบัติการตามแผน Rapid target vaccination ในกลุ่มเสี่ยงผู้สูงอายุ มีโรคเรื้อรัง คนอ้วน และผู้หญิงตั้งครรภ์ โดยรถขนย้ายวัคซีนจะไปส่งตามจุดต่าง ๆ ตามยุทธศาสตร์ 4R คือ Rapid test, Rapid trace, Rapid treat และ Rapid target vaccination คือ ตรวจเร็ว ติดตามผู้สัมผัส รักษาเร็ว ให้วัคซีนเร็วตรงเป้าหมาย
สำหรับภาพรวมปฏิบัติการ #แพทย์ชนบทบุกกรุง ครั้งที่ 3 ทีมโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช ลงพื้นที่ตรวจที่วัดแสมดำ เขตบางขุนเทียน โดยตรวจเชิงรุกชุมชนเอื้ออาทร แสมดำ ชุมชนเกาะโพธิ์ และชุมชนหลังวัดแสมดำ สามารถตรวจ ATK ได้ 1,436 คน พบผลบวก 203 คน พร้อมฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยงได้ 120 คน
นพ.สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ณ อำเภอนาทวี จ.สงขลา ไปปักหลักตรวจเชิงรุกที่โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เบญจมราชาลัย สามารถตรวจ ATK ได้ 1,072 คน มีผลบวกเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวอาการเล็กน้อย 106 คน และผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองจำนวน 57 คน อัตราการติดเชื้อเฉลี่ย 15.21%
“ถือว่าได้ทำหน้าที่โรงพยาบาลเคลื่อนที่ ทั้งตรวจเชื้อเชิงรุกและฉีดวัคซีนกลุ่มเป้าหมายได้เกินเป้าหมายมากถึง 120 คน”
นพ.สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ
นพ.สุวัฒน์ ระบุ นอกจากนี้ยังได้แบ่งทีมลงชุมชนไปตรวจผู้สูงอายุที่อยู่ติดบ้าน ติดเตียง คนพิการทางสายตา พระสงค์ที่วัดลำกระดาน เขตคลองสามวา พื้นที่ชายขอบของกรุงเทพฯ ระหว่างทางชาวบ้านหลายคนร้องไห้ เขาบอกว่า “ถ้าไม่มีหมอเข้ามา พวกเขาไม่มีโอกาสเข้าถึงการตรวจเชื้อ เพราะไม่มีปัญญาเดินทางเข้าไปในเมือง”
ช่วงบ่าย ทีม รพ.นาทวี ยังได้ไปฉีดวัคซีนให้สัปเหร่อที่วัดสุทธิสะอาดจำนวน 3 คน ซึ่งพวกเขาช่วยกันเผาศพผู้ติดเชื้อเฉลี่ยวันละ 2-3 ศพต่อวัน
หนึ่งในนั้นเล่าว่า ถ้าศพแรกมา 11 โมงเช้า วันนั้นก็จะได้เผา 3 ศพ แต่ถ้าศพแรกมาบ่ายสองวันนั้นก็จะได้แค่ 2 ศพ บางวันมีศพมาจากที่ไกล ๆ จากพระประแดง จากปทุมธานีมาเผาบ้าง เพราะวัดหลายแห่งปฏิเสธเผาศพผู้ป่วยโควิด-19
“ถ้าหมอไม่มาฉีดวัคซีนให้ถึงที่แบบนี้ ผมก็ไม่มีโอกาสไปฉีดแบบคนอื่น ต้องอยู่จัดการศพที่วัด” ลุงสัปเหร่อพูดน้ำตาคลอ
ทั้งนี้ วัดแถบชานเมืองจะตั้งสวดศพ ประมาณบ่ายสามโมง ถ้าจะมีเผาศพก็ต้องรีบจัดการให้เสร็จก่อน หกโมงเย็น คือ ทำให้เสร็จก่อนเคอร์ฟิว 21.00 น. ที่วัดสุทธิสะอาดเป็นวัดเดียวในเขตคลองสามวาที่รับเผาศพผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยโควิด-19
นพ.สุวัฒน์ กล่าวอีกว่า เจ้าหน้าที่วัดและสัปเหร่อเหล่านี้ ถือเป็นบุคลากรด่านหน้า เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง วันนี้นำวัคซีนแอสตราเซเนกามาฉีดเข็มแรกให้ เข็มที่สองเจ้าหน้าที่จากศูนย์บริการสาธารณสุข 64 ของ กทม. จะมาฉีดเข็มที่ 2 ให้ในเดือนตุลาคม
เป็นที่น่าสังเกต การปฏิบัติการแพทย์ชนบทรุกกรุงครั้งนี้ อาจไม่ได้ช่วยเปลี่ยนแปลงเชิงระบบในพื้นที่ของ กทม. ได้ทุกเขต เพราะกรณีพื้นที่เขตคลองสามวาเป็นพื้นที่รอยต่อติดกับ จ.ปทุมธานี มีประชากรมากกว่า 200,000 คน นับว่าเป็นเขตที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 รองจากเขตสายไหม มีเพียงศูนย์บริการสาธารณสุข และโรงพยาบาลขนาดเล็ก “คลองสามวา” ที่ดูแลแต่ผู้ป่วยนอกเท่านั้น ทำให้พื้นที่ชานกรุงนี้ เหมือนถูกทอดทิ้งจากระบบสุขภาพ
ช่วงก่อนการระบาดระลอกที่ 4 ที่เชื้อเดลตาแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว เครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่รวมตัวกันตั้งศูนย์พักคอยรอส่งตัวผู้ป่วย 4 แห่งนอกโครงการการดูแลของ กทม. คือ มัสยิดดารุ้ลอิบาดะห์ มัสยิดดารุ๊ลอีบาด๊ะห์ (สามวา) มัสยิดกมาลุ้ลอิสลาม และมัสยิดนูรุลอิสลาม (คูคต)
นอกจากนี้ ทีมแพทย์ชนบท จากโรงพยาบาลปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอนและโรงพยาบาลชุมชนจากร้อยเอ็ด ลงพื้นที่โรงเรียนชุมชนหมู่บ้านพัฒนา เขตคลองเตย ซึ่งถือเป็นวันที่ 2 ของการตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วยระบบ ATK หลังจากเมื่อวันที่ 5 ส.ค. ตรวจแล้ว 838 คน พบผู้ติดเชื้อ 147 คน จึงตั้งเป้าตรวจอีก 1,000 คน คาดว่า จะพบผู้ติดเชื้อไม่ต่ำกว่า 100 คน
ขณะที่ทีมจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี ปักหลัก วัดสาครสุ่นประชาสรรค์ ลาดพร้าว เป้าหมาย 800 คน มีกลุ่มอาสาสมัครเส้นด้ายมาช่วยโดยการนำรถเอกซเรย์ปอดเคลื่อนที่มาด้วย
ส่วนทีมแพทย์ชนบทจากโรงพยาบาลมาบตาพุด ที่ปักหลักตรวจ ณ ลานจอดรถ หลังอาคารพุทธวิชชาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เพื่อตรวจประชาชนทั้งในเขตหลักสี่ ดอนเมือง ทำงานอย่างลำบาก เพราะฝนเทลงมาอย่างหนัก น้ำระบายไม่ทัน ท่วมลานที่ประชาชนรอคอยจนถึงตาตุ่ม จนเจ้าหน้าที่ต้องจัดจุดตรวจใหม่ แต่ทีมแพทย์ก็ไม่หยุดตรวจ เพราะมีเป้าหมายต้องตรวจให้ได้ 1,200 คน
ทั้งนี้ #ปฏิบัติการแพทย์ชนบทบุกกรุง เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือจากหลายฝ่ายที่รวมพลังกันสู้ภัยโควิด-19 กรุงเทพมหานคร อันได้แก่ ชมรมแพทย์ชนบท กระทรวงสาธารณสุข สปสช. กทม. รวมทั้งทีมอาสาจากภาคประชาชน คือ ทีมโควิดชุมชน (Com-Covid) เครือข่ายแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และ IHRI และอีกหลายองค์กร เป็นความร่วมมือที่มหัศจรรย์ภายใต้เงื่อนเวลาที่เร่งรัดและทุกคนต่างก็มีภารกิจประจำอันมากมาย ระหว่างวันที่ 4-10 ส.ค. 2564
สปสช. สรุปภาพรวมการนำส่งผู้ป่วยเข้าสู่บริการ Home Isolation พื้นที่กรุงเทพมหานคร มีผู้ป่วยรายใหม่ 6 ส.ค. รวมจำนวน 3,132 คน ยอดสะสมจำนวน 65,470 คน ทั้งหมดถูกจับคู่กับสถานพยาบาลในกรุงเทพฯ แล้ว ดูรายระเอียดได้ที่ ภาพรวมการนำส่งผู้ป่วยเข้าสู่บริการ Home Isolation พื้นที่กรุงเทพมหานคร ของ สปสช.