เปิดรายชื่อคณะกรรมการจัดหาวัคซีนฯ “วิโรจน์” ชี้ กฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่ง “อนุทิน” แจงสร้างความมั่นใจคนทำงาน เผยทุกวิชาชีพเห็นพ้องมีร่างกฎหมายคุ้มครองในสถานการณ์ฉุกเฉิน พร้อมรับฟังทุกความเห็น
จากความผิดพลาดในการบริหารจัดการโควิด-19 และการจัดหาวัคซีนของรัฐบาล กลายเป็นหนึ่งในโจทย์ท้าทาย “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ที่อาจต้องร่วมรับผิดชอบ เหตุเพราะยึดอำนาจการบริหารจัดการโรคระบาดมาไว้กับตนโดยมี “นพ.ปิยสกล สกลสัตยาธร” เป็นคู่คิดคนสำคัญ
การจัดหาวัคซีนแบบแทงม้าตัวเดียว ข้อกล่าวหาที่ตอนแรกไม่มีใครเชื่อกระทั่งวันนี้มีข้อสังเกตว่า เกิดความผิดพลาดจริง กว่าจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขก็ช้าไปเพราะโรคระบาดแพร่กระจายไปทั่วประเทศ
สภาพคนตกงาน หลายกิจการต้องปิดตัว คนป่วยไม่มีเตียง รอตายข้างถนนสะท้อนว่าการบริหารภายใต้ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ล้มเหลวหรือไม่
หากพบความผิดจริงก็ไม่สามารถปฏิเสธบทลงโทษตามกฎหมาย ทว่าขณะนี้ปรากฎเอกสารร่าง “พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พ.ศ….”
โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ อ้างถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด- 19 มีความรุนแรงและแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วทั่วประเทศและทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากขึ้น ส่งผลต่อการให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ ในการดูแลผู้ป่วยภายใต้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด ทั้งคน งบประมาณ ยาและเวชภัณฑ์ รวมถึงการบริหารจัดการ การจัดซื้อจัดหายา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องมือแพทย์ และวัคซีน เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ซึ่งสภาพความเป็นจริงมีข้อจำกัดและเงื่อนไขต่างๆ ส่งผลให้ไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้ เนื่องจากปัจจัยในการผลิตวัคซีนและเงื่อนไขในการเจรจาในขณะนั้น
“อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยอมรับว่ามีการเสนอร่างกฎหมายนี้จริง และอยู่ระหว่างการรับฟังความเห็น โดยบอกถึงความจำเป็นที่ออกกฎหมายฉบับนี้ว่า เป็นการให้ความมั่นใจกับผู้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ให้คลายความกังวล เช่น การวินิจฉัยโรคและรักษาพยาบาล ก็ต้องทำความมั่นใจว่าเขาจะได้รับความเป็นธรรม โดยเฉพาะเรื่องของการฟ้องร้อง หากทำโดยเจตนาสุจริต ศาลก็ไม่เคยลงโทษ เราไม่ต้องการให้บรรดาแพทย์ พยาบาล มีความวิตกกังวลหากถูกฟ้องร้อง แม้จะมั่นใจว่าชนะก็ยังมีความวิตกกังวลระดับหนึ่ง
“เราต้องการให้แพทย์ พยาบาล มีขวัญกำลังใจเต็มที่ จะได้ทุ่มเทในการรักษาพยาบาล วัคซีนก็ต้องจัดหาเข็มสาม เพื่อความปลอดภัยในการไปรักษาคนไข้ มีความกังวลให้น้อยที่สุด สุดท้ายประชาชน คนไข้ก็ได้ประโยชน์”
“วิโรจน์” ชี้ กฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่ง จัดหาวัคซีนพลาดไม่ผิด
“วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล มองว่าโดยหลักการแล้ว ในสถานการณ์โรคระบาดเช่นนี้ การจำกัดความรับผิดทั้งทางอาญาและแพ่ง ให้กับแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข ที่ปฏิบัติด่านหน้า ที่ทำงานเต็มความสามารถ โดยสุจริต และไม่ได้เลือกปฏิบัติภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด นั้นเป็นสิ่งที่ควรทำอยู่แล้ว
แต่ข้อเท็จจริงหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือ การที่สถานการณ์การแพร่ระบาดเกิดขึ้นรุนแรงอยู่ในทุกวันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนหนึ่งมาจากการตัดสินใจเชิงนโยบาย ทั้งๆที่ควรจะคาดการณ์ได้ล่วงหน้าอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น
1) การไม่กระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีน
2) การจัดฉีดวัคซีนที่ล่าช้า ขาดการวางระบบในการจัดการ และการบริหารฐานข้อมูลที่ดี
3) การเบิกจ่ายงบประมาณในการเตรียมความพร้อม ทั้งด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยา และเวชภัณฑ์ต่างๆ ที่จำเป็น ที่ขาดประสิทธิภาพ ดูเบาต่อสถานการณ์
ซึ่งควรต้องมีการสอบสวนข้อเท็จจริง ไม่ควรที่จะออกกฎหมาย “นิรโทษกรรมแบบกึ่งเหมาเข่ง”
ในข้อที่ 7. ที่จะคุ้มครองให้บุคคล และคณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้ง หรือมอบหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดหา หรือบริหารวัคซีน ซึ่งควรจะต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นอย่างมหาศาล ประชาชนทุกข์ยากแสนสาหัส นั้นมีความเกี่ยวข้องกับบุคคล หรือคณะบุคคลเหล่านี้หรือไม่
ข้อยกเว้น ที่ระบุเอาไว้ ซึ่งมีอยู่แค่ 3 ข้อ ได้แก่
– การกระทำเป็นไปโดยไม่สุจริต
– การกระทำเป็นไปโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
– การกระทำเกิดจากการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม
เป็นข้อยกเว้นที่กว้างเกินไป “วิโรจน์” แนะว่าควรจะเขียนเพิ่มเติม ให้เฉพาะเจาะจง และรัดกุมมากขึ้น เช่น “การกระทำ และการตัดสินใจใดๆ ที่ไม่สอดคล้องกับหลักวิชา หรือผลการศึกษาวิจัย ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองให้ปราศจากความรับผิดจาก พ.ร.ก.ฉบับนี้”
“วิโรจน์” ระบุอีกว่า หากมีการสอบสวนข้อเท็จจริงในภายหลัง แล้วพบว่าการตัดสินใจของบุคคล หรือคณะบุคคลเหล่านี้ ในการจัดหา และจัด หรือบริหารวัคซีน หากเป็นไปโดยขัดกับหลักวิชา หรือตัดสินใจโดยที่ไม่มีผลการศึกษาวิจัยที่ทำอย่างเป็นระบบมาอ้างอิง หรือเป็นการตัดสินใจโดยขัดกับผลการศึกษา และงานวิจัยที่ปรากฎในแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ บุคคลเหล่านี้ ก็ควรต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ศาลยุติธรรมวินิจฉัยว่าควรได้รับโทษทางอาญา หรือทางแพ่ง หรือไม่ ผิด หรือถูก ก็ควรให้กระบวนการยุติธรรมเป็นผู้ตัดสิน โดยพิจารณาจากพยานหลักฐาน ที่รอบคอบรอบด้านไม่ควรที่จะออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบกึ่งเหมาเข่งแบบนี้
สธ.เผยทุกวิชาชีพเห็นพ้องมีกฎหมายคุ้มครองคนทำงานโควิด-19
โรคโควิด -19 เป็นโรคใหม่ มีองค์ความรู้ใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา ทั้งการรักษาไวรัสเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ แต่ทรัพยากรต่างๆ ไม่เพียงพอ ข้อจำกัดต่างๆทำให้ไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึงทั้งหมด จึงจำเป็นต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยเฉพาะการป้องกันการถูกฟ้องร้อง จะทำให้มีขวัญกำลังใจในการทำงาน ซึ่งองค์กรวิชาชีพ สภาวิชาชีพต่างๆ และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ก็เสนอให้มีกฎหมายนี้
“นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์” อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แถลงที่กระทรวงสาธารณสุข วันที่ 9 ส.ค.64 โดยยืนยันเดินหน้าเสนอร่าง พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พ.ศ…. และพร้อมรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย
นพ.ธเรศ ยกตัวอย่าง โรงพยาบาลสนาม ที่ต้องรับผู้ป่วยจำนวนมาก อุปกรณ์มีจำกัด รวมถึงสถานที่ และแนวทางการรักษา เช่นเรื่องยาในการรักษา และเรื่องวัคซีน
“ผมคิดว่าเรื่ององค์ความรู้ วัคซีนเราบอกว่าต้องฉีด 2 เข็ม ต่อมา เราพบว่าสามารถฉีดไขว้ได้ ต่างๆเหล่านี้ ความรู้จะปรับเปลี่ยนตลอดเวลา การปรับเปลี่ยนวิธีการรักษามีความจำเป็นมาก ถ้าไม่มีการปรับเปลี่ยนวิธีการรักษา ความรู้ในขณะนั้น สิ่งนี้จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีความมั่นใจในการปฏิบัติงานอย่างเต็มความสามารถขณะนั้นๆ” นพ.ธเรศ กล่าว
สำหรับผู้ที่จะได้รับความคุ้มครองโดยไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย ซึ่งครอบคลุมความผิดทางแพ่ง ทางอาญา ความรับผิดชอบทางวินัย และความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ประกอบด้วย
- บุคลากรทางด้านสาธารณสุข ทั้งผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบโรคศิลปะในแขนงต่าง ๆ
- อาสาสมัครสาธารณสุข และอาสาสมัครต่าง ๆ
- บุคคลหรือคณะบุคคลที่มีส่วนในการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมไปถึงยารักษาโรคและวัคซีน
ใครบ้างที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาวัคซีน และกำหนดสูตรวัคซีน
ย้อนกลับ วันที่ 14 ก.ค. 64 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการด้านวิชาการตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ครั้งที่ 23/2564 โดยมี “ศ.นพ.สมหวัง ด่านชัยวิจิตร” เป็นประธานคณะกรรมการด้านวิชาการ
ที่ประชุมประกอบด้วย
ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
Dr.Renu Madanlal GARG Acting WHO Representative to Thailand
ซึ่งสนับสนุน การฉีดวัคซีนโควิดสลับชนิด เข็มแรกเป็นซิโนแวค ตามด้วยเข็ม 2 เป็นแอสตราเซเนกา ห่าง 3-4 สัปดาห์ ใช้ข้อมูลผลการศึกษาวิจัยในประเทศไทยรองรับ ขณะที่ WHO ย้ำหน่วยงานสาธารณสุขดำเนินการได้ด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์
ขณะที่ รายชื่อ “คณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)” หลัง นายกรัฐมนตรี ลงนามคำสั่งแต่งตั้ง โดยมี “ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยสกล สกลสัตยาทร” ที่ปรึกษาศูนย์ ศบค. เป็นประธานร่วมกับ ข้าราชการ ก.สาธารณสุขโดยมีรายชื่อและคณะกรรมการ รวม 18 คนมาจากทีมคณะแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุข องค์การเภสัชกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน โดยคำสั่งคณะทำงานชุดดังกล่าวฯ มีหน้าที่ในการจัดหาวัคซีนเพื่อใช้ในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน และดำเนินการอื่นๆ ตามที่นากยกรัฐมนตรีมอบหมาย
ทั้งนี้ ไม่ปรากฏชื่อของ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในคณะทำงานชุดดังกล่าว
รายชื่อ คณะทำงาน ดังนี้
ประธานคณะทำงาน
ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อดีต รมว.สาธารณสุข , ที่ปรึกษา ศบค.
รองประธานคณะทำงาน
นพ.โสภณ เมฆธน ผช.รมว.สาธารณสุข
คณะทำงาน
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด ก.สาธารณสุข
นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการ อย.
นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
ศ.พิชัย สนแจ้ง ผอ.สำนักพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์
ศ.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคม รพ.เอกชน
ผช.ศ.นพ.ก่อพงศ์ รุกขพันธ์ รอง ปธ.อาวุโสฯ ด้านการแพทย์ รพ.บำรุงราษฎร์
พญ.เมธินี ไหมแพง ผอ.รพ.กรุงเทพ
นพ.ไพบูลย์ เอกแสงศรี ผอ.รพ.วิภาราม
นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช ผอ.รพ.มหาชัย
นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผอ.สถาบันระบบสาธารณสุข
นพ.บุญ วนาสิน ปธ.กก.บริษัท ธนบุรี เฮลแคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
พญ.เจรียง จันทรโกมล ปธ.บริหาร รพ.ในเครือบางปะกอก – ปิยะเวท
เลขานุการคณะทำงาน
นายประทีป กีรติเรขา กรรมการ ศบค.
นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.องค์การเภสัชกรรม
มีผลตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2564 เป็นต้นไป
ที่มา: ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 (ศบค.) เมื่อวันที่ 9 เม.ย.2564