ผลการศึกษา “กรมวิทย์ฯ – ศิริราช” หนุนมติคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติฉีดวัคซีนสลับ ซิโนแวค-แอสตราฯ เสริมภูมิคุ้มกันโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาสูง ด้าน “หมอธีระวัฒน์” เปิดอีกผลวิจัยโต้ ภูมิที่สูงเป็นภูมิรวม ไม่ใช่ภูมิยับยั้งไวรัสชี้สูตรที่ได้ผล คือ ซิโนแวค 2 เข็มตามด้วยแอสตราฯ
นับตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค.2564 ประเทศไทยเริ่มต้นสูตรฉีดวัคซีนแบบผสม ซิโนแวค-แอสตราเซเนกาห่างกัน 4 สัปดาห์ นับเป็นประเทศแรกในโลกที่ตัดสินใจให้ฉีดผสมชนิดเชื้อตาย และไวรัลเวกเตอร์ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างภูมิคุมกันหลังโควิด-19 กลายพันธุ์
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงร่วมทำการศึกษาระดับภูมิคุ้มกันในซีรั่มของคนที่ได้รับวัคซีนสูตรผสมกับ ศิริราชพยาบาล โดยใช้ไวรัสสายพันธุ์จริงที่กำลังระบาดในประเทศไทย คือ สายพันธุ์เดลตา ซึ่งพบในการติดเชื้อกว่า 90% ทำการทดสอบโดยวิธีมาตรฐานที่ยอมรับกันทั่วไปคือวิธี Plaque Reduction Neutralization Test (PRNT) ปฏิบัติในห้องชีวนิรภัยระดับ 3 เพื่อความปลอดภัยเพื่อหาค่าที่ไวรัสสายพันธุ์เดลตาถูกทำลาย 50% (Neutralizing Titer 50%, NT50) โดยแอนติบอดีที่เกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีน ในอาสาสมัคร 6 กลุ่ม ประกอบด้วย
กลุ่มที่ 1 ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม (SV+SV)
กลุ่มที่ 2 ได้รับ วัคซีนแอสตราเซเนกา 2 เข็ม (AZ+AZ)
กลุ่มที่ 3 ได้รับ วัคซีนซิโนแวค ตามด้วยแอสตราเซเนกา (SV+AZ)
กลุ่มที่ 4 ได้รับ วัคซีนแอสตราเซเนกา ตามด้วยซิโนแวค (AZ+SV)
กลุ่มที่ 5 ได้รับ วัคซีนซิโนแวค 2 เข็มและตามด้วยซิโนฟาร์ม 1 เข็ม (SV+SV+Sinopharm)
กลุ่มที่ 6 ได้รับ วัคซีนซิโนแวค 2 เข็มและตามด้วยแอสตราเซเนกา 1 เข็ม (SV+SV+AZ)
วันที่ 19 ส.ค. 2564 นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยผลการศึกษาพบว่า ระดับภูมิคุ้มกันในกลุ่มต่างๆ หลังการได้รับวัคซีนครบโดส 2 สัปดาห์ ต่อเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์เดลตา มีค่าเฉลี่ยระดับภูมิคุ้มกันที่สามารถลบล้างฤทธิ์ไวรัส ดังต่อไปนี้
ข้อสรุปผลการศึกษา
- การให้วัคซีนสลับแบบ (SV+AZ) มีภูมิคุ้มกันสูงกว่าการให้วัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม (SV+SV)
- การให้วัคซีนสลับแบบ (SV+AZ) เทียบเท่ากับการให้แอสตราเซเนกา 2 เข็ม (AZ+AZ) แต่ใช้เวลาสั้นลง
- ไม่แนะนำให้ฉีดแอสตราเซเนกา เข็มแรกและตามด้วย ซิโนแวค (AZ+SV)
- การกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วยวัคซีนแอสตราเซเนกา หลังฉีดซิโนแวคครบ 2 เข็ม (SV+SV+AZ) สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพิ่มมากขึ้นถึง 11 เท่า
- การกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วยวัคซีนซิโนฟาร์ม หลังฉีดซิโนแวคครบ 2 เข็ม (SV+SV+ Sinopharm) ซึ่งเป็นวัคซีน เชื้อตายเหมือนกัน ให้ภูมิคุ้มกันสูงขึ้นเพียง 2.5 เท่า
จากข้อมูลทั้งหมดแสดงให้เห็นว่านโยบายของรัฐบาลแผนการให้วัคซีนมีความเหมาะสม โดยให้ฉีดแบบสลับ (SV+AZ) และให้ฉีดเข็ม 3 ด้วย AstraZeneca (SV+SV+AZ) การศึกษาต่อไป กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะทำการตรวจสอบระดับภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เบตา โดยใช้ไวรัสจริงเพื่อสร้างความมั่นใจ ต่อการใช้วัคซีนสลับและการฉีดกระตุ้นเข็ม 3 และเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนการให้วัคซีนที่เหมาะสมโดยให้ประสิทธิภาพสูงสุดแก่ประชาชนต่อไป
เนื่องด้วยมติของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ที่แนะนำให้ฉีดวัคซีนสลับ (SV+AZ) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ทำการวิจัยในกลุ่มอาสาสมัครที่มารับวัคซีนในศูนย์ฉีดวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุขโดยได้ติดตามผู้ได้รับวัคซีน ทำการศึกษาผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค 3 สัปดาห์ โดยได้รับเข็มสองเป็นแอสตราเซเนกาทั้งหมด 125 ราย (ชาย 61 หญิง 64 อายุ 18-60 ปี) พบว่า มีระดับภูมิคุ้มกัน Quantitative Anti-S RBD เฉลี่ยที่ 716 (399-1127) สูงกว่ากลุ่มที่ได้รับ SS 117 (58-204), AA 207(123-338)
ภายหลังการฉีดวัคซีนเข็ม 2 พบ มีไข้ 66% ปวดศีรษะ 33% อ่อนเพลีย ไม่มีแรงง่วงซึม 28% ใกล้เคียงกับอาการจากการฉีดแอสตราเซเนกา 2 เข็ม เป็นการศึกษาที่สนับสนุนมติของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติและกระทรวงสาธารณสุขกำลังติดตามประสิทธิผลของการฉีดวัคซีนสูตรนี้อย่างใกล้ชิด
ฉีดไขว้ SV+AZ ภูมิที่ขึ้นสูงไม่ใช่ภูมิยับยั้งไวรัส
วันเดียวกัน นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดงานวิจัยผลลัพธ์การฉีดวัคซีนผสม ซิโนแวค-แอสตราเซเนกาอีกด้าน แม้ภูมิที่วัดจะดูสูงกว่าฉีดซิโนแวค 2 เข็ม หรือ ฉีดแอสตราเซเนกา 2 เข็ม แต่ภูมิที่เห็นนั้นเป็น “ภูมิรวม” ไม่ใช่ภูมิที่ยับยั้งไวรัส
และเมื่อดูภูมิเฉพาะเจาะจงที่ยับยั้งไวรัสเดลตานั้น ที่ดีที่สุดคือซิโนแวคสองเข็มตามด้วยแอสตราเซเนกาเข็ม 3 (SV+SV+AZ)
ดังนั้น ประสิทธิภาพของการไขว้ เข็ม 1 ซิโนแวค และเข็ม 2 แอสตราเซเนกา (SV+AZ) นั้นไม่ได้ทำให้มีกำไรขึ้น และไม่ข้ามไปคุ้มกันสายพันธุ์เดลตาดีโดยมีข้อสังเกตอีกประการ คือ แอสตราเซเนกา 2 เข็ม (Az+AZ) ทำไมระดับต่อเดลตาไม่สูงเหมือนรายงานในต่างประเทศทั้งหมดเป็นเพราะคนสูงอายุมากหรือไม่