‘ตระกูล มีชัย’ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อธิบายระบบการแต่งตั้งโยกย้ายมหาดไทย “ล็อตหนึ่ง ล็อตสอง” เชื่อ มีการเจรจาพูดคุยจนลงตัว ถือว่ากระทรวงฯ ทำเหมาะสมแล้ว
วันนี้ (24 ส.ค. 2564) มีรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงในสังกัดกระทรวงมหาดไทย จำนวน 3 คน หนึ่งในนั้น คือ วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร โดยให้ไปดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ส่วน ขจรเกียรติ รักพานิชมณี ให้พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการอ่างทองไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี และ ให้ ณรงค์ ร้อยรัก พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี ไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร แทน
ก่อนหน้านี้ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 3 สิงหาคม 2564 ไม่ปรากฏชื่อ วีระศักดิ์ ในการแต่งตั้งโยกย้าย หลังจากนั้น ในวันที่ 16 สิงหาคม ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร ได้ยื่นใบลาออกจากราชการแม้จะเหลืออายุราชการเพียงปีเดียวก่อนเกษียณ โดยภายหลัง พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ออกมาเปิดเผยในวันเดียวกันว่า คำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดจะมีลอตสอง
The Active สอบถามไปยัง รศ.ตระกูล มีชัย รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงกรณีดังกล่าว
“ถือเป็นทางเลือกที่ดี ให้ท่านไปปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดซึ่งเหมาะสมกับสุขภาพและข้อจำกัดของท่าน และกระทรวงยังคงรักษาบุคลากรของตัวเองเอาไว้ได้ “
ความแตกต่างระหว่าง “ล็อตแรก” กับ “ล็อตสอง”
รศ.ตระกูล กล่าวว่าโดยกระบวนการแต่งตั้งโยกย้ายที่ปฏิบัติกันมาของกระทรวงมหาดไทยนั้น ใน “ล็อตแรก” จะเป็นการพิจารณาแต่งตั้งในตำแหน่งสำคัญในกระทรวงมหาดไทย ได้แก่ ปลัดกระทรวงฯ รองปลัดกระทรวงฯ อธิบดีกรมสำคัญ เช่น กรมการปกครอง กรมที่ดิน หรือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นต้น และยังรวมถึงการแต่งตั้งโยกย้ายผู้ว่าราชการในจังหวัดใหญ่ ๆ อีกด้วย
หลังจากนั้นจะมีการพิจารณาใน “ล็อตสอง” โดยอาจเป็นการทดแทนตำแหน่งที่ว่างอยู่ อันเกิดจากการเกษียณอายุราชการไป และรวมถึงเหตุผลในการขอโยกย้ายของผู้นั้นเองอย่างกรณีของ ผู้ว่าฯ วีระศักดิ์ ซึ่งได้มีการขอย้ายไปจังหวัดอ่างทองก่อนหน้านี้นั่นเอง ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกกรณีที่จะได้รับความเห็นชอบตามที่ขอ กรณีของผู้ว่าฯ วีระศักดิ์ นั้น มีประเด็นที่แตกต่างกว่ากรณีอื่นไม่น้อย ทั้งการทำหน้าที่ และปัญหาสุขภาพ
รศ.ตระกูล ยังกล่าวต่อว่าโดยธรรมเนียมการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายในล็อตสองนี้ หากมีการแต่งตั้งปลัดกระทรวงคนใหม่ไว้แล้วตั้งแต่ล็อตแรก ว่าที่ปลัดกระทรวงคนใหม่จะมีส่วนเข้ามาพิจารณาด้วย เพื่อถามถึงความเหมาะสม และการทำงานร่วมกันต่อไปในอนาคต จะไม่ใช่มีเพียงปลัดกระทรวงที่กำลังจะเกษียณอายุราชการเท่านั้น โดยส่วนตัว รศ.ตระกูล มองว่า คงมีการเจราจาพูดคุยกันระหว่างผู้บริหารของกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าฯ วีระศักดิ์ จนลงตัวแล้ว ก่อนจะมีการนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวันนี้
จาก “สมุทรสาคร” สู่ “อ่างทอง” ตัวเลือกที่เหมาะสม
เมื่อถามในเชิงพื้นที่รับผิดชอบนั้น รศ.ตระกูล มองว่า เป็นตัวเลือกที่เหมาะสม และตรงกับความต้องการของผู้ว่าฯ วีระศักดิ์ ตั้งแต่แรก เนื่องจากจังหวัดอ่างทองเมื่อเทียบกับสมุทรสาครนั้น ภาระงานต่างกันมาก งานไม่หนักเท่าสมุทรสาคร สอดคล้องกับข้อจำกัดด้านสุขภาพของท่าน และยังเป็นถิ่นภูมิลำเนาที่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตราชการช่วง 1 ปีก่อนเกษียณ
ในขณะเดียวกันเมื่อถามว่าผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทองท่านเดิม ต้องย้ายไปจังหวัดอุทัยธานี ถือว่าเหมาะสมหรือไม่ รศ.ตระกูล กล่าวว่าทั้งสองจังหวัดนั้นมีความใกล้เคียงกัน ในเมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทองไม่ได้มีความบกพร่องในเรื่องใด การย้ายไปดำรงตำแหน่งในจังหวัดที่มีระดับใกล้เคียงกันจึงเหมาะสม และไม่ทำให้สังคมเข้าใจว่าเป็นการลงโทษ เพียงเป็นไปตามวาระการโยกย้ายปกติ
สำหรับมติคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้ เห็นชอบแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง สังกัดกระทรวงมหาดไทย จำนวน 3 คน ประกอบด้วย
1. ให้นายณรงค์ รักร้อย พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดอุทัยธานี สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดสมุทรสาคร
2. ให้นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดสมุทรสาคร สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดอ่างทอง
และ 3. ให้นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดอ่างทอง สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดอุทัยธานี
ในส่วนของหนังสือลาออกจากราชการของผู้ว่าฯ วีระศักดิ์ จะมีผลหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับผู้บริหารของกระทรวงมหาดไทย เพราะมีอำนาจในการอนุมัติหรือยับยั้งได้ เพราะฉะนั้นหากมีการพูดคุยกันแล้ว สามารถตกลงกันได้ทั้งสองฝ่ายย่อมมีการยับยั้งหนังสือลาออกนั้นไว้ และให้ทุกคนปฏิบัติหน้าที่ตามตำแหน่งที่ได้รับใหม่ต่อไป