“แฮกเกอร์ระบาด” เจาะระบบโรงแรม ASQ หลอกโอนเงินจองห้องพัก สุดท้ายไม่มีที่กักตัว

ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม 19 แห่ง ร้องเรียนรัฐมนตรี “ดีอีเอส” ให้เร่งดำเนินคดี แฮกเกอร์หลอกโอนเงินซ้ำเติมปัญหาธุรกิจโรงแรม และทำลายภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทย

วันนี้ (27 ตุลาคม 2564) ตัวแทนผู้ประกอบการโรงแรมกักตัวยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้ดำเนินคดีกับกรณีแฮกเกอร์หลอกโอนเงินลูกค้า เรียกร้องให้มีการเร่งรัดดำเนินคดี ณ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า วันนี้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหายกลุ่มธุรกิจโรงแรม ASQ สถานที่กักตัวของชาวต่างชาติ หรือคนไทยที่กลับมาจากต่างประเทศ โดยใช้การจองห้องพักผ่านระบบออนไลน์ โดยพบว่ามีแฮกเกอร์ปลอมตัวเป็นพนักงานโรงแรม ใช้อีเมล์หรือที่อยู่โรงแรมติดต่อกับลูกค้า หลอกให้โอนเงินเข้าบัญชีแฮกเกอร์ ทั้งนี้กระทรวงดิจัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้มีการประสานงานร่วมกับกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เพื่อดำเนินคดีด้วย

กระทรวงให้ความสำคัญเรื่องนี้ เพราะโรงแรมเป็นธุรกิจท่องเที่ยวที่สำคัญ นักท่องเที่ยวที่จองโรงแรมมารออยู่ที่สนามบินไม่มีคนไปรับ เพราะโรงแรมไม่ทราบว่ามีการจองมา หลายรายเสียเงินหลักแสนบาท แต่ก็ฝากไปถึงโรงแรมต่างๆ ด้วยให้ปรับปรุงระบบคอมพิวเตอร์ให้สามารถแอนตี้ไวรัสได้ทันสมัย การทำอีเมล์ต้องมีระบบที่รัดกุมมากขึ้น เช่น มี OTP หรือ การยืนยันตัวตนสองชั้น เพื่อป้องกันแฮกเกอร์เจาะระบบ และหลอกนักท่องเที่ยว แต่ทางกระทรวงยืนยันว่าจะเร่งรัดออกมาตรการ และเข้าไปส่งเสริมให้ธุรกิจโรงแรมมีความรู้ และปรับตัวได้เร็วยิ่งขึ้น แต่ก็ฝากเป็นอุทาหรณ์ให้ผู้ประกอบการ ส่วนผู้ใช้บริการก็ต้องมีการตรวจสอบให้ดีด้วยเช่นกัน

ด้านตัวแทนผู้ประกอบการโรงแรมที่ได้รับความเสียหาย ชี้แจงว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา พบว่ามีแฮกเกอร์เข้ามาแฮกระบบข้อมูลของโรงแรม 19 แห่ง หลอกให้นักท่องเที่ยวจองที่พักและโอนเงิน รวมมูลค่าความเสียหายหลายล้านบาท และเสียภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศ ประธานชมรมธุรกิจท่องเที่ยวไทยมิติใหม่ จึงได้มายื่นเรื่องให้กับรัฐมนตรี “ชัยวุฒิ” เพื่อให้ดำเนินคดีในเรื่องนี้

สถานการณ์ปัจจุบันโรคโควิด-19 ทำให้โรงแรมหลายแห่งมีปัญหาในการจัดการรายได้ สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการ กรณีการถูกแฮกเกอร์ แฮกระบบของโรงแรม หรือ Spyware ด้วยการปลอมแปลงเป็นเจ้าหน้าที่และหลอกลวงให้ผู้ที่เดินทางเข้ามากักตัวในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นชาวไทย นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเพื่อท่องเที่ยวหรือเพื่อประกอบธุรกิจ โอนเงินเข้าบัญชีของแฮกเกอร์แทนที่จะเป็นปัญชีของโรงแรม และเมื่อผู้เสียหายเดินทางเข้ามาถึงโรงแรมจึงจะทราบว่าตนโอนเงินผิด ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย ทั้งแง่ของธุรกิจ และความปลอดภัย ที่สำคัญคือภาพลักษณ์ธุรกิจท่องเที่ยวไทย ที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของชาวต่างชาติ จึงหวังว่าทางรัฐมนตรีจะช่วยประสานงาน ทำให้แฮกเกอร์ถูกปราบปราม และดำเนินคดี เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและลดความเสียหายจากการท่องเที่ยวไทย

ด้าน พล.ต.ต.รณชัย จินดามุข ผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 (ผบก.สอท.1) กล่าวถึงความคืบหน้าในการดำเนินคดี โดยระบุว่า ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ และได้มีการขอศาลออกหมายจับผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว 2 ราย โดยผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย ให้การที่เป็นประโยชน์ต่อคดี พบว่าเป็นแฮกเกอร์ชาวต่างชาติที่เข้ามาแฝงตัว ตีสนิทรู้จักกับคนไทย และใช้บัญชีคนไทยเพื่อเอาไปใช้หลอกให้โอนเงิน ซึ่งในขณะนี้กำลังขยายผลผู้อยู่เบื้องหลัง พร้อมย้ำว่าพยามยามเร่งรัดในการติดตามนำคนร้ายทั้งหมดมาดำเนินคดี รวมถึงเรียกคืนเงินทั้งหมดที่สูญเสียไปเพราะเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อกิจการโรงแรม 

หากโรงแรมไหนที่พบความผิดปกติ หรือถูกแฮกในกรณีนี้ให้ส่งเรื่องมาที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ผ่านทางช่องทางออนไลน์ต่างๆ หรือสายด่วน 1212 ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 1599 ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ และ 1441 ตำรวจไซเบอร์ ช่องทางไหนก็ได้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่เร่งรัดดำเนินการ แต่แนะนำให้ทางโรงแรมพยายามติดตั้งระบบ anti spyware เพื่อเช็คความผิดพลาดในระบบทุกๆ วัน หากไม่แน่ใจให้หยุดใช้คอมพิวเตอร์เครื่องเดิม และหาคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่มาใช้แทน หรือเปลี่ยนอีเมล์ เพื่อแก้ไขสถานการณ์ในเบื้องต้น ส่วนในระยะยาวสามารถมาพบกับเจ้าหน้าที่ เพื่อให้คำปรึกษาได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้