เชื่อ ทุกคนอยากได้นายก-สมาชิก อบต. คนดี แต่อาจไม่มีผู้นำสร้างการเปลี่ยนแปลงเข้าเป้า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะส่วนกลางทำงานซ้อนท้องถิ่น แนะ เพิ่มอำนาจ อบต. ปิดช่องโหว่จัดการงบฯ
28 พ.ย. 2564 – มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (PNET) ร่วมกับ สภาองค์กรชุมชน และคณะอนุกรรมการด้านเครือข่าย และการมีส่วนร่วม องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย(Thai PBS) เปิดเวทีเสวนาออนไลน์ “จับตาเลือกตั้ง อบต. 2564 สร้างอำนาจอธิปไตยชุมชน” ซึ่งมีเครือข่ายประชาชน นักวิชาการ นักขับเคลื่อนวาระทางสังคมเข้าร่วมแสดงความเห็น และรายงานสถานการณ์เลือกตั้ง อบต. จากทั่วประเทศ
เรืองฤทธิ์ โพธิพรม ตัวแทนเครือข่าย We Watch รายงานสถานการณ์จากหน่วยเลือกตั้งแห่งหนึ่งใน จ.สกลนคร ระบุว่า พบทั้งคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ออกมาใช้สิทธิ์คึกคัก โดยประเมินว่าคนในหมู่บ้านน่าจะออกมาเลือกตั้ง 100% ส่วนคนอยู่นอกพื้นที่โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร อาจมาใช้สิทธิ์ไม่ถึง 80% จากอุปสรรคเรื่องการเดินทาง
“มีหลายคนบอกว่าอยากเลือกตั้ง อบต. แต่เดินทางกลับภูมิลำเนาลำบาก สะท้อนถึงความอยากเลือกตั้งแต่มีอุปสรรคที่ กกต. ไม่สามารถจัดการได้ เป็นเรื่องที่เราต้องผลักดันให้เกิดการแก้ไขพัฒนากระบวนการที่จะทำให้ทุกคนใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้ง่ายขึ้น”
สอดคล้องกับมุมมองของ สมศรี หาญอนันทสุข เครือข่ายภาคประชาชน จ.นนทบุรี ที่ตั้งข้อสังเกตว่า กกต. อยากให้คนมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง อบต. แต่ทำไมไม่ทำเหมือนระบบเลือกตั้งระดับชาติ หรือใช้วิธีการเลือกตั้งนอกเขตทางไปรษณีย์ ซึ่งไม่น่าเพิ่มงบประมาณมากนัก
ขณะที่สถานการณ์ซื้อสิทธิ์ขายเสียง ตัวแทนเครือข่าย We Watch กล่าวว่า ได้รับรายงานจากหลายพื้นที่ มีผู้สมัครจ่ายเงินซื้อเสียงเฉลี่ย 100-1,000 บาท เป็นปัญหาที่พบทุกครั้งช่วงการเลือกตั้ง ซึ่งอยากชวนสังคมทำความเข้าใจเหตุผลการรับเงินของชาวบ้านว่า ที่ผ่านมาเท่าที่ได้สัมผัสและพูดคุยกับหลายคน พบว่าทุกคนเห็นความสำคัญของการเลือกผู้บริหาร อบต. ที่ดี แต่เพราะไม่มีผู้แทนเข้าไปทำงานโดยไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทน ทำให้ยังมีการรับเงิน
“คนที่จะเข้าไปเป็นผู้แทน ยังไม่ทำให้รู้สึกว่าเข้าไปแล้วจะไม่กอบโกย และอำนาจของ อบต. เอง ก็ยังมีน้อยกว่าความต้องการของประชาชน ตอนนี้ไม่ใช่แค่เรื่องถนนหนทาง ยังมีเรื่องอื่น ๆ ที่ประชาชนต้องการ แต่เกินอำนาจขอบเขต อบต. ทำให้เรื่องการรับเงินยังมีอยู่ นี่เป็นเหตุผลเบื้องต้นที่เรานำมาพิจารณาได้ มาหาทางออกกันหน่อยว่าจะทำอย่างไร ไม่ใช่แค่ปัญหาประชาชนรับเงิน”
นิกร วีสเพ็ญ เครือข่ายภาคประชาชน จ.อุบลราชธานี กล่าวเพิ่มเติมว่า อำนาจ อบต. มีส่วนสำคัญต่อความเชื่อมั่นของประชาชนอย่างมาก ย้อนไปช่วงการยกระดับสุขาภิบาลเป็น อบต. เมื่อปี 2537 รัฐบาลบอกว่าจะอุดหนุนงบประมาณให้ อบต. 40% แต่ปัจจุบัน พบว่า อบต. ได้รับงบประมาณสนับสนุนไม่เกิน 20% ทำให้กิจกรรมการพัฒนาต่าง ๆ ที่ อบต. วาดฝันไว้ไม่สามารถทำได้ครบ โดยตั้งข้อสังเกตว่าที่ผ่านมาอำเภอและจังหวัด ซึ่งเป็นหน่วยบริหารส่วนภูมิภาคทำงานซ้ำซ้อน อบต. หรือไม่ เพราะตามหลักการกระจายอำนาจ ส่วนกลางต้องเล็กแล้วทำให้หน่วยบริหารท้องถิ่นเติบโต
“ผมยังเห็นการเลือกตั้งครั้งนี้ หาเสียงแบบเก่า ๆ ใช้รถเครื่องเสียงเปิดวนไปวนมา ไม่มีพื้นที่กลางแถลงนโยบายตอบคำถามพี่น้องในตำบลว่าคุณจะแก้ปัญหาต่าง ๆ อย่างไร ตรงนี้ผมคิดว่าเราต้องมาพูดคุยกันถึงการมีพื้นที่กลาง Town meeting จริงจังได้แล้ว ให้คนในพื้นที่มายื่นปัญหาของตัวเองต่อผู้สมัคร ทำให้การเมืองเป็นเรื่องของประชาชน ไม่ใช่เรื่องของผู้สมัคร”
ศรีสะเกษ สมาน เครือข่ายภาคประชาชน จ.ลำปาง กล่าวเสริมว่า อำนาจ อบต. ยังทำงานพัฒนาท้องถิ่นได้น้อยกว่าที่ควร แม้ดูเหมือนว่ามีงบประมาณมาก แต่ส่วนใหญ่ถูกไปกับค่าใช้จ่ายประจำ
“ถ้าเราสังเกตดี ๆ 3-5 ปีที่ผ่านมา กำนันผู้ใหญ่บ้านมีเงินพัฒนามากกว่า อบต. รัฐบาลออกงบฯ กลุ่มจังหวัด งบฯ พัฒนาจังหวัด ลงไปที่ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และกำนันผู้ใหญ่บ้าน แต่คนไปตำหนิ อบต. การถ่ายโอนอำนาจ เช่น การพัฒนาเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ เป็นงบฯ ประจำ แต่งบฯ ที่จะนำมาพัฒนาสร้างสรรค์อะไรใหม่ ๆ เช่น ชาวบ้านอยากฝึก IT อยากทำนั่นทำนี่ วิจัย การตลาด อบต. มีงบฯ น้อยมาก ต้องโทษการบริหารงบประมาณของรัฐบาลกลาง ที่ทำให้การทำงานของ อบต. อ่อนแอลง”
ทั้งนี้ เครือข่ายประชาชนและทุกภาคส่วนที่เข้าร่วมเวที “จับตาเลือกตั้ง อบต. 2564 สร้างอำนาจอธิปไตยชุมชน” เห็นตรงกันว่า การเลือกตั้ง อบต. ครั้งนี้ มีคนหน้าใหม่ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ลงสมัครนายก อบต. และสมาชิกมากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ เป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาประชาธิปไตยท้องถิ่น กดดันกลุ่มอำนาจเดิมให้พัฒนาตนเอง นำไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตยในระดับใหญ่ขึ้น