1 สิทธิ์ พลิกชีวิตมหาศาล โพล ชี้ ‘First voter – ประชาชน’ ไม่เลือกคนโกง แม้มีผลงาน

‘ม.หอการค้าไทย’ – ‘องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน’ คาดเลือกตั้ง ‘เทศบาล’ เงินสะพัด 20,000 – 40,000 ล้านบาท ย้ำคนไทยปฏิเสธคนโกง เพราะกระทบการพัฒนาประเทศทุกมิติ ฝากจับตาหน่วยเลือกตั้งเทศบาล หวั่นทุจริตสนามเล็ก ยิ่งเสี่ยงหนักสนามเลือกตั้งใหญ่

วันนี้ (2 พ.ค. 68) รศ.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุในการแถลง ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล และนายกเทศมนตรี โดยย้ำว่า ผลการสำรวจพบชัดเจนว่าประชาชน ปฏิเสธผู้นำ และสมาชิกเทศบาลที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริต ไม่ยอมรับผู้นำที่ไม่โปร่งใสแต่ทำผลงาน และพร้อมจะร่วมมือกับทุกภาคส่วนหากมีแนวทางร่วมจัดการคอร์รัปชัน

รศ.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ขณะเดียวกัน ผลสำรวจ ยังบอกว่า การซื้อเสียง อยู่ที่ 1,100 บาทต่อหัว ทั้งที่ในสนามจริงพบการซื้อเสียงมากกว่า 2,000 บาทต่อหัว จึงฝาก กกต.ตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเข้มข้นในช่วงการเลือกตั้ง

วิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิ “เพื่อคนไทย” ระบุ ผลงานสำรวจตัวอย่างประชากรเป็นข้อมูลที่น่าสนใจ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ไม่พอใจกับการทุจริตคอร์รัปชัน เวลานี้มีการมีความพยายามตั้งชื่อโครงการร่วมกันว่า “1 สิทธิ์ พลิกชีวิตมหาศาล” แต่ต้องการหลาย ๆ สิทธิ์ และเห็นพัฒนาการแนวโน้มที่ดูดีมากขึ้น มีความหวังมากขึ้นในระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะกับเด็กรุ่นใหม่ที่กำลังจะกลายเป็น First voter ก็มีทิศทางที่ต้องกันป้องกันทุจริตคอร์รัปชัน เช่นกัน

ขณะที่ มานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) มองว่า รูปแบบการทุจริตการเลือกตั้งท้องถิ่นระดับเล็ก มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด แต่รูปแบบการโกงเหล่านั้นเหมือนกันทั้งหมด 4 อันดับแรก คือ พฤติกรรมการโกงในภาครัฐ ในหน่วยงานต่าง ๆ และใน กทม. ไม่แตกต่างกัน เป็นวิธีการเรียกรับสินบนกันแบบง่ายๆ พฤติกรรมนี้ มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ที่ทำลายโอกาส การพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว การคดโกงเหล่านี้บั่นทอนทั้งหมด

ขณะที่ผลการสำรวจนั้น รศ.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาประจำสภามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า ได้สำรวจจากกลุ่มเป้าหมาย : ประชาชน 1,020 ตัวอย่างทั่วประเทศ (สำรวจระหว่างวันที่ 16-25 เมษายน 2568) ประกอบด้วย

  • กลุ่มประชาชนทั่วไปผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง จำนวน 711 ตัวอย่าง

  • กลุ่มประชาชนที่ยังไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง (อายุ 15-17 ปี) ที่จะเป็น first voter จำนวน 309 ตัวอย่าง
รศ.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาประจำสภามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

รับไม่ได้! นายกเทศมนตรี-สมาชิกเทศบาล มีผลงานแต่ ‘โกง’

โดยสรุปจากผลโพล พบว่า ประชาชน และเยาวชน ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล และนายกเทศมนตรี มากที่สุดอยู่ในระดับปานกลาง และส่วนใหญ่ 80.3% ไปใช้สิทธิ์ในครั้งที่ผ่านมา รวมถึงทราบชื่อของ นายกเทศมนตรี / สมาชิกสภาเทศบาลชุดปัจจุบัน แต่ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในการทำงานของ นายกเทศมนตรีคนปัจจุบัน และสมาชิกสภาเทศบาลชุดปัจจุบัน อยู่ในระดับปานกลาง

เมื่อถามถึงความโปร่งใสในการบริหารงานของ นายกเทศมนตรีคนปัจจุบัน และสมาชิกสภาเทศบาลชุดปัจจุบัน พบว่าโปร่งใสอยู่ในระดับปานกลาง มากกว่า 66.1% เคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับ การทุจริตของนักการเมืองท้องถิ่น

หากสมาชิกสภาเทศบาล และนายกเทศมนตรี มีการทุจริตคอร์รัปชันบ้าง แต่มีผลงานและทำประโยชน์ให้พื้นที่เป็นเรื่องที่รับได้ หรือไม่ ? ส่วนมากรับไม่ได้ อยู่ที่ 65.9%

ประชาชนอยากมีส่วนร่วมแก้โกงระดับท้องถิ่น

และผลสำรวจสูงกว่า 94.7% อยากมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในระดับท้องถิ่น เพราะเป็นการช่วยให้เกิดการตรวจสอบ/สร้างความเท่าเทียมและยุติธรรม สร้างความเชื่อมั่นในระบบการเมือง เกิดการใช้งบประมาณมีความโปร่งใส แสดงความเป็นพลเมืองที่ดี

รูปแบบทุจริตคอร์รัปชันในเทศบาล ที่เจอบ่อยทั้งได้ยิน และพบด้วยตัวเอง

  • เรียกสินบนแลกออกใบอนุญาตต่างๆ 18%

  • เรียกเงินทอนจัดซื้อ จัดจ้างกับผู้รับเหมา/รับจ้าง 17.8%

  • รับส่วนธุรกิจสีเทา ให้ดำเนินกิจการในท้องถิ่นได้โดยไม่ถูกตรวจสอบ 14.7%

  • เรียกรับเงินจากคนสอบเข้าบรรจุพนักงาน ลูกจ้างในเทศบาล 11.5%

  • รับเงินแลกกับใช้อำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขจากผิดเป็นถูก 11.2%

  • ทุจริตค่าใช้จ่ายเงินอุดหนุน /ค่าอาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียน 8.2%

  • ตัดถนนเข้าไปพื้นที่ของนักวิชาการและพวกพ้อง 6.8%

  • ทำป้ายขึ้นภาพตนเองด้วยงบเทศบาล 6.7%

  • ทุจริตจัดซื้อถุงยังชีพ care set 5.1%

ผลงานของนายกเทศมนตรีที่ประทับใจมากที่สุด แบ่งเป็น

  • สิ่งแวดล้อม 16.8% (เช่น การจัดการขยะ พื้นที่สีเขียว คุณภาพอากาศ)

  • เศรษฐกิจ 16% (เช่น ตลาดชุมชน การส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็ก)

  • โครงสร้างพื้นฐาน 15.5% (เช่น ถนน ทางเท้า ไฟฟ้า ประปา ระบบขนส่ง)

  • การศึกษา 13.5%

  • ความปลอดภัย 12%

  • สาธารณสุข 10.7%

  • การบริหารงานที่โปร่งใส เป็นธรรม 10.7%

  • สวัสดิการประชาชน 4.8%

ชี้ ‘ซื้อเสียง’ ยังคงมี แม้ยอมรับเงิน แต่ส่วนใหญ่ไม่เลือก คนโกง!

ส่วนใหญ่มองว่า การซื้อเสียงจะยังเกิดขึ้น ประมาณ 1,110 บาท/คน และบางส่วนมองว่าการซื้อเสียงเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นทุกครั้งในการเลือกตั้ง โดย การซื้อเสียงสูงสุดประมาณ 4,000 บาท/คน และ การซื้อเสียงต่ำสุดประมาณ 120 บาท/คน

เมื่อถามประชาชน ว่า รับเงินมาแล้วยังจะไปเลือกตั้งอยู่หรือไม่ ส่วนใหญ่ถึง 90.9% ตอบว่า รับเงินแล้วยังคงไปเลือกตั้ง เพื่อใช้สิทธิ์ตามหน้าที่และความรับผิดชอบ รวมถึงเหตุผลกลัวถูกตัดสิทธิ์ หรือสวมสิทธิ์หากไม่ไปเลือก ขณะที่อีก 9.1% ไม่ไปเลือกตั้ง เพราะไม่เชื่อมั่นในระบบการเมืองและการทุจริต และเลือกไปก็ไร้ประโยชน์เพราะได้คนที่ไม่ดี ไม่ตรงใจ

ขณะที่ 84.2% ยอมรับการซื้อเสียงไม่ได้ เพราะเกลียดการโกง ไม่ยอมรับคนไม่ซื่อสัตย์, บิดเบือนเจตนารมณ์การเลือกตั้ง, การซื้อเสียง คือการเริ่มต้นของการทุจริตคอร์รัปชันและผิดกฎหมาย, การใช้เงินผิดวัตถุประสงค์หากได้รับเลือกตั้ง ประโยชน์ส่วนตัว หรือพรรคพวก

86.4% ไม่สามารถชักจูงประชาชนได้จากการซื้อเสียง โดยพบว่า 86.1% ที่ตอบว่ารับเงินแล้วก็จะไม่เลือกคนที่ซื้อเสียง ขณะที่ 13.9% รับเงินแล้วยังคงเลือกคนที่ซื้อเสียง เพราะการตัดสินใจรับเงิน ตั้งใจที่เลือกบุคคลนั้นอยู่แล้ว ต้องการรักษาสัจจะ รวมถึงการตอบแทนบุญคุณ ขณะที่บางคนรู้จัก คุ้นเคยบุคคลและผลงานของคนคนนั้น

‘First voter’ ไม่เลือก คนโกง และต้องชู ‘นโยบายต้านโกง’

ส่วนการสำรวจ ข้อมูลทั่วไปกลุ่ม 15-17 ปี รู้สึกอย่างไรกับการเลือกตั้งเทศบาลครั้งนี้ พบว่า เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ รู้บทบาทหน้าที่ของสมาชิกสภาเทศบาล และนายกเทศมนตรีอยู่ในระดับปานกลางมากที่สุด ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจนายกฯ และสมาชิกเทศบาลชุดปัจจุบันอยู่ในระดับน้อย เด็กและเยาวชน ให้คะแนนความไม่โปร่งใสในการทำงาน (มากกว่าระดับประชาชนทั่วไป)

แต่ หากไม่มีนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน กลุ่มตัวอย่างที่เป็นเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ 77.3% ตอบว่าไม่เลือก (สูงกว่าผู้ใหญ่อยู่ที่ 69.8%) เพราะมีค่านิยมไม่เลือกพรรคการเมืองที่ไม่ให้ความสำคัญกับการต่อต้านคอร์รัปชัน เพราะส่งผลเสียต่อประเทศและทำลายเศรษฐกิจ

โดย 3 ปัจจัยแรกที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ เด็กและ เยาวชน สูงสุด

  • 15% เลือกคนที่ซื่อสัตย์สุจริตไม่โกงกิน

  • 13.6% -ความน่าสนใจของตัวผู้สมัคร

  • 13.2% -กระแสของกลุ่มการเมืองคนรุ่นใหม่ / ประวัติทำงานที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ม.หอการค้าไทย ยังคาดการณ์เงินสะพัดในช่วงการเลือกตั้ง สมาชิกสภาเทศบาล และนายกเทศมนตรี จากจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 48,997,167 คน (48 ล้านคน)

  • กรณีมาใช้สิทธิ์ 87.90% เงินสะพัด 42,786,411,260 บาท

  • กรณีมาเลือกตั้ง 66.51% เงินสะพัด 32,374,564,495 บาท

  • กรณีมาเลือกตั้ง 50% เงินสะพัด 24,338,118,275 บาท


    *คาดการณ์ว่าจะมีการซื้อเสียงประมาณ 1,110 บาทต่อคน (ประชาชน 89.5%)

รศ.ธนวรรธน์ ยังทิ้งท้าย ถึงแนวทางในอนาคต ตัวเลข CPI  ไทยอันดับ 108 คะนน 34คะแนน ในรอบ 20 ปีที่ผานมา ประเทศไทยไม่เคยทำคะแนนได้เกิน 38 คะแนน ส่งผลต่อ ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ นักลงทุนส่วนใหญ่จะมองเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันเป็นพื้นฐานสำคัญของไทย ดยยกตัวอย่างเวียดนาม ที่มีคะแนน CPI สูงแซงไทยไปแตะที่ 40 คะแนน ส่งผลต่อความเชื่อมั่นและการลงทุนที่เพิ่มขึ้น และเป็นเสน่ห์ที่สำคัญของประเทศเวียดนาม

พร้อมทั้งย้ำว่า การจับตาหน่วยเลือกตั้งระดับท้องถิ่นที่เล็กที่สุดอย่างเทศบาลมีความสำคัญ เพราะหากยังเกิดการทุจริตขึ้น ในระดับการเลือกตั้งที่ใหญ่ขึ้น ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงต่อการทุจริตเช่นกัน

สำหรับการสำรวจความคิดเห็นประชาชนครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย), มูลนิธิ “เพื่อคนไทย” ขยายขอบเขตการต่อต้านคอร์รัปชัน ถึงหน่วยเลือกตั้ง โดยเริ่มจากการเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้ง อบจ. และ เทศบาล

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active