ฝาก กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ ตรวจสอบกระบวนการแก้ไขปัญหา กรณีนิคมอุตสาหกรรมจะนะ หลังผ่านมา 1 ปี รัฐบาลไม่ทำตามสัญญา ปล่อยหน่วยงานรัฐ-เอกชน เดินหน้าโครงการฯ ไม่สนใจข้อตกลงร่วม ด้าน กมธ. รับปากเร่งตรวจสอบตามข้อเรียกร้อง ภายใน 13 ธ.ค.นี้
วันนี้ (3 ธ.ค.64) ไครียะห์ ระหมันยะ พร้อมด้วยตัวแทนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อขอให้ตรวจสอบกระบวนการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญากรณีนิคมอุตสาหกรรมจะนะ
สืบเนื่องจากข้อตกลงที่รัฐบาลให้ไว้กับชาวบ้าน ที่จะชะลอโครงการฯ แต่กลับพบว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ยังมีความพยายามทั้งจากหน่วยงานรัฐ และ เอกชน เดินหน้าหลายกระบวนการเพื่อเปิดทางให้โครงการนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.63 ที่ผ่านมา เครื่อข่ายจะนะรักษ์ถิ่นได้ทำบันทึกข้อตกลง กับรัฐบาลเพื่อหาทางออกโดยมีสาระสำคัญ 3 ประการ คือ
- รัฐบาลตรวจสอบการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
- รัฐบาลต้องจัดให้มีการศึกษาเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) แบบมีส่วนร่วม เพื่อประเมินความเหมาะสมของโครงการอย่างรอบด้าน
- ระหว่างนี้ให้ยุติการดำเนินการทุกอย่าง ในโครงการเอาไว้ก่อนจนกว่า กระบวนการในข้อ 1 และ 2 จะแล้วเสร็จ
หลังจากตัวแทนรัฐบาล ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับชาวบ้าน ให้ชะลอโครงการไปก่อนในครั้งนั้นชาวบ้านก็เชื่อว่า จะได้เริ่มนับหนึ่งกันใหม่ จากวันนั้น-จนถึงวันนี้ ผ่านมากว่า 1 ปี เรื่องราวของจะนะแทบไม่ถูกพูดถึง และดูเหมือนทุกอย่างจะคลี่คลายด้วยความพยายามหาทางออก แต่การลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวทวงสัญญารัฐบาลรอบนี้ ของลูกสาวแห่งท้องทะเลคงพอจะเป็นคำตอบได้ว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ทำตามข้อตกลงจริงหรือไม่
ส่วนการเคลื่อนไหวของ ไครียะห์ วันนี้ (3 ธ.ค.64) เข้าสู่วันที่ 5 ของการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อทวงถามสัญญาจากรัฐบาลด้วยการนั่งรอคำตอบหน้าทำเนียบตั้งแต่ช่วงเวลา 16.00 น. – 18.00 น. ของทุกวัน
สำหรับหนังสือที่ยื่นต่อ กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ ระบุว่า บริษัทเอกชนเจ้าของโครงการ ประกาศเดินหน้าเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชน หรือพร้อมเดินหน้าการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และผลกระทบด้านสุขภาพ (EIA, EHIA) ในโครงการย่อยจำนวน 4 ฉบับรวด ระหว่างวันที่ 13 – 23 ธ.ค.นี้
ขณะเดียวกัน ศอ.บต. ยังได้มอบหมายให้ อบจ.สงขลา ดำเนินการเปลี่ยนสีผังเมืองจะนะ เพื่อรองรับโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ จ.สงขลา
เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เห็นว่าการดำเนินการดังกล่าว ยังไม่เหมาะสม และไม่เป็นไปตามข้อตกลงที่รัฐบาลเคยทำไว้ ที่สำคัญคือ ระหว่างนี้กระบวนการต่าง ๆ ไม่ได้ยุติลงตามที่ทำข้อตกลงกับชาวบ้านไว้
ทั้งนี้เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ยื่นข้อเสนอต่อ กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ โดยขอให้ตรวจสอบการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจสอบโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้นก่อนหน้านี้ เนื่องจากทางเครือข่ายฯ มองว่า กลไกดังกล่าวขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน พร้อมขอให้ตรวจสอบกระบวนการขอปรับแก้ไขผังเมือง รวมถึงการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA และการจัดทำ SEA อย่างเหมาะสมด้วย
ด้าน กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ รับปากจะเร่งดำเนินการตรวจสอบตามข้อเรียกร้อง ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 13 ธ.ค.นี้