หญิงมุสลิมเปิดใจทั้งน้ำตา ยอมทิ้งบ้าน ทิ้งครอบครัว กับฟางเส้นสุดท้ายมุ่งหน้าเข้ากรุง หลังเอกชนเดินหน้าเวทีรับฟังความเห็น และไม่มีสัญญาณ SEA จากรัฐบาลตามคำสัญญา
“เหนื่อย ร้อนก็ต้องทน พ่อป่วย แฟนเป็นอัมพฤกษ์ เราก็ยอมตัดใจมา ตั้งใจมาจากบ้านว่า ต้องชนะเท่านั้น เราสละทุกอย่างมาแล้ว แฟนเราบอกอยู่ได้ และให้ไปสู้”
“ก๊ะนิหยาด” นิสากร นุ้ยประสิทธิ์ วัย 52 ปี เปิดใจกับ The Active ทั้งน้ำตา หลังวันนี้ (12 ธ.ค. 2564) มีโอกาสได้คุยกับสามี ซึ่งป่วยเป็นอัมพฤกษ์อยู่ที่บ้านใน ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา
นี่เป็นเพียงครั้งที่ 2 ที่เธอได้ถามไถ่ทุกข์สุขจากคนในครอบครัว หลังตัดสินใจขึ้นมาต่อสู้ร่วมกับ “เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น” ที่กรุงเทพฯ เมื่อต้นสัปดาห์ก่อน เพื่อทวงสัญญาจากรัฐบาล และคัดค้านนิคมอุตสาหกรรมจะนะ
ยอมทิ้งบ้าน ทิ้งครอบครัวมาว่าเหนื่อยแล้ว แต่ที่ต้องเจ็บปวดมากกว่า คือ การต้องตกเป็นหนึ่งในชาวบ้าน 37 คน ที่ถูกควบคุมตัว จากการสลายชุมนุมหน้าทำเนียบฯ เมื่อกลางดึงวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา แม้เหตุการณ์คืนนั้นผ่านมาเกือบสัปดาห์ แต่ ณ วันนี้ เธอยอมรับว่ายังกลัว ตกใจ และเสียใจที่รัฐบาลมองไม่เห็นประชาชน
“ถ้าเราไม่ลุกขึ้นมา รัฐบาลก็ไม่เห็นเราเลย เรารู้สึกถูกกระทำ สู้จนหลังชนฝาแล้ว ก็ต้องลุกขึ้นมาสู้ที่ศูนย์กลาง เพราะเขาจะทำเวทีให้ได้ รัฐบาลรับปากแล้วแต่เขาไม่ทำตามสัญญา ผังเมืองก็จะเปลี่ยน…”
ฟางเส้นสุดท้าย ที่ทำให้เธอตัดสินใจทิ้งครอบครัว ที่มีทั้งพ่อที่ป่วยติดเตียง และสามีที่เป็นอัมพฤกษ์ คือ เอกชนเจ้าของโครงการที่พยายามเดินหน้าเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น “ค.1 – ค.2 – ค.3” ภายในวันที่ 13 – 23 ธันวาคม นี้ แม้ก่อนหน้านี้พยายามคัดค้านถึงที่สุด ยื่นเรื่องที่ศาลากลาง จ.สงขลา มาไม่รู้กี่ครั้ง แต่ทุกอย่างไม่เป็นผล
เธอจึงตัดสินใจเดินทางไกลกว่า 1,000 กิโลเมตร มาร่วมกับเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ปักหลักต่อยู่อยู่ข้างถนนในเมืองกรุงฯ เพราะเชื่อว่า การมาส่งเสียง ยืนยันสิทธิ์การปกป้องทรัพยากรที่ศูนย์กลางอำนาจ จะเป็นความหวังได้มากกว่าการเรียกร้องอยู่ในพื้นที่เพียงอย่างเดียว
ก่อนถึงวันเคลื่อนไหวใหญ่ไปที่ทำเนียบรัฐบาลอีกครั้งของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และเครือข่ายภาคประชาชน อีกหลายองค์กรในวันพรุ่งนี้ (13 ธ.ค.) ก๊ะนิหยาด บอกกับ The Active ถึงความตั้งใจของการลุกขึ้นมาปกป้องบ้านเกิดของเธอครั้งนี้
“เราแข็งแรงที่สุด อายุ 50 กว่าปี อยู่แถวแรกเลย ป้องกันคนแก่ข้างหลังไว้ ตอนนั้นแบ่งกลุ่มกันกินข้าว กลุ่มแรกยังไม่ได้กินข้าวเลย ตำรวจก็เข้ามา เขาไม่ถามเราสักคำ คิดอะไรไม่ออกพยายามดูว่า เพื่อนเรามีใครบาดเจ็บ เราต้องสู้ให้กำลังใจกัน เราได้แต่จับมือกันไว้บอกอย่าปล่อยมือกันนะ เราไม่เคยเจออะไรแบบนี้มาก่อน เขาจับคนแก่ไปด้วยจนถึงตอนนี้ก็ยังกลัว ยังตกใจ”
“เรามีพ่อป่วยติดเตียง แต่เมื่อจำเป็นต้องขึ้นมาก็ต้องทิ้งพ่อไว้กับน้องสาว เพราะปกติเรามีกัน 3 พี่น้องจะแบ่งกันดูแลพ่อ ส่วนสามีก็เป็นอัมพฤกษ์ ป่วยมานาน 10 ปี มีลูกสาวเรียนอยู่กรุงเทพฯ เป็นนักศึกษาปี 3 พอรู้ว่าจะต้องขึ้นมาที่กรุงเทพฯ เราก็ต้องรีบวิ่งงานในตลาดให้ถี่ขึ้น จะได้มีเงินพอให้ลูก และครอบครัวเพราะไม่รู้ว่าจะต้องมาอยู่ที่กรุงเทพฯ นานแค่ไหน”
“ไม่ต้องเป็นห่วง ปลอดภัยดี ขอบคุณที่ให้มานะ”
ประโยคสนทนาสั้น ๆ เพียงไม่กี่นาที ที่ได้คุยกับสามี มีทั้งรอยยิ้ม และน้ำตา เพราะชะตากรรมที่เธอ และครอบครัวต้องเจอ หลังสามีล้มป่วย ถือว่าสาหัสไม่น้อย ก่อนหน้านี้ครอบครัวเคยมีรายได้หลักแสนต่อวัน ด้วยอาชีพประมงพื้นบ้าน และรับปู รับกั้งมาขาย แต่ทุกอย่างหายไปกับตา เมื่อสามีป่วย ทำให้เธอต้องเป็นเสาหลักของครอบครัว ทำงานขายผ้าในตลาดส่งลูกสาวเรียน และดูแลพ่อที่ป่วยติดเตียงด้วย
เธอยิ่งเครียด และกังวลมากขึ้นถ้านิคมอุตสาหกรรมจะเกิดขึ้นจริง ๆ เพราะทุกอย่างในพื้นที่จะหายไป วันนี้เธอเปลี่ยนความเครียด ปรับบทบาท มาทำหน้าที่คิดละคร แต่งเพลง เพื่อสื่อสารสะท้อนความเป็น “จะนะ” ในที่ชุมนุม แม้จะเป็นกิจกรรมเล็ก ๆ แต่ก็ช่วยให้เพื่อน ๆ ของเธอผ่อนคลายความเครียด และมีเสียงหัวเราะร่วมกันในช่วงเวลาสั้น ๆ
“หลายคนถามว่า นอนอยู่บ้านดี ๆ มานอนอยู่ข้างถนนในเมืองทำไม อากาศไม่ดี มลพิษเยอะ แต่ถ้าที่จะนะมีนิคมอุตสาหกรรม อากาศเสีย มลพิษจะมากกว่านี้ เราไม่สามารถลบล้างมันได้แล้ว ที่ผ่านมา รัฐบาลมองไม่เห็นเราเลย ไม่ถามเราสักคำ…ดังนั้นถ้าไม่ชนะ เราไม่กลับ เพราะเราแลกกับการที่ต้องทิ้งครอบครัวมาแล้ว”