เครือข่ายรัฐสวัสดิการฯ สรุป 7 สถานการณ์ที่สุดแห่งความถดถอยนโยบายสวัสดิการสังคม “แก้จน เหลื่อมล้ำ” เลวร้ายลง หลายนโยบายเอื้อทุนใหญ่ “คนรวยยิ่งรวย คนจนยิ่งจน” วิจารณ์ 7 รัฐมนตรี “ด้อยค่าประชาชน” ทำงานล้าหลัง ไม่มืออาชีพ ไม่รักษาคำพูด
วันที่ 30 ธ.ค. 2564 เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม หรือ We Fair จัดแถลงข่าว “สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำและความถดถอยสวัสดิการสังคมไทย ปี 2564 พร้อมวิจารณ์ 7 รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง” ประเด็นเงินเยียวยาและการจัดการวัคซีนโควิด-19, กฎหมายบำนาญผู้สูงอายุ, เงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้า, การกระจายอำนาจด้านสาธารณสุข, แรงงานในสถานการณ์โควิด-19, ระบบการศึกษา, งบประมาณ 2565 สวัสดิการที่เหลื่อมล้ำ โดยมี นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์, นุชนารถ แท่นทอง, เกรียงไกร ชีช่วง, ชุลีพร ด้วงฉิม และ ธนพร วิจันทร์ ร่วมแถลง
เครือข่าย We Fair ระบุว่า สถานการณ์สังคมไทยปี 2564 ภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา พบว่า สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และความเปราะบางของประชาชน เลวร้ายลง มีคนจนเพิ่มขึ้น 5 แสนคน จากปี 2563 ที่มีคนจน 4.8 ล้านคน ข้อมูลจากเส้นความยากจน 2,762 บาทต่อเดือน แบ่งเป็นคนยากจนมาก 1.61 ล้านคน เพิ่มจากปีก่อนหน้า 26% คนยากจนน้อย 3.14 ล้านคน และคนเกือบจน 5.14 ล้านคน สถานการณ์คนว่างงาน 8.7 แสนคน นับเป็นสถิติสูงสุดนับตั้งแต่มีสถานการณ์โควิด-19
ด้านสถานการณ์หนี้สิ้นครัวเรือน พบว่า ขยายตัวต่อเนื่อง มีมูลค่า 14.24 ล้านล้านบาท คิดเป็นเกือบ 90% ของ GDP สูงติดอันดับ 17 ของโลก จากข้อมูลปี 2564 ครัวเรือนต้องใช้เวลาโดยเฉลี่ยกว่า 10 ปีถึงจะชำระหนี้หมด แต่ถึงแม้ในปีนี้จะมีคนจนเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ในทางกลับกัน ประเทศไทยมีมหาเศรษฐีที่มีทรัพย์สินมากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ (32,800 ล้านบาท) จำนวน 52 คน เป็นอันดับ 10 ของโลก โดยที่มหาเศรษฐี 50 ลำดับแรก มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นรวมกันมากกว่า 20% คิดเป็นมูลค่าเกือบ 2.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (9.15 แสนล้านบาท)
“สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำปี 2564 ถือว่ายังต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ หากมาตรการการช่วยเหลือของรัฐหมดลงในช่วงที่เศรษฐกิจและการจ้างงานยังไม่ฟื้นตัว สถานการณ์จะยิ่งรุนแรงมากขึ้น จากข้อมูลที่พบหากไม่มีมาตรการการช่วยเหลือเยียวยา คนยากจนในปี 2563 จะมีจำนวน 11.02 ล้านคน หรือมีคนยากจนเพิ่มขึ้นกว่า 6 ล้านคน ขณะที่สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำจะถดถอยเทียบเท่ากับปี 2557 ดังนั้นแล้ว สวัสดิการสังคมและการเยียวยาจึงเป็นตาข่ายรองรับวิกฤตการณ์ได้อย่างมาก”
นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้ประสานงานเครือข่าย We Fair กล่าว
เครือข่าย We Fair ระบุต่อไปว่า เข้าใจวิกฤตที่เกิดขึ้น มีสาเหตุหลักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ไม่อาจละเลยที่จะกล่าวถึงการบริหารประเทศว่าไร้ประสิทธิภาพในการรองรับสถานการณ์ การเข้าถึงสวัสดิการสังคมและการเยียวยาซึ่งมีบทบาทสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำและความยากจน ไม่เป็นสิทธิเสมอกัน เน้นระบบสงเคราะห์ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ การผลักดันนโยบายสวัสดิการสังคมและการรวมตัวของเครือข่ายประชาชนเป็นไปอย่างจำกัด จากการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการจับกุมผู้เห็นต่าง ละเมิดสิทธิเสรีภาพการแสดงออก
นอกจากนี้ สิ่งที่แสดงถึงความไม่จริงใจของรัฐบาล คือ พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ไม่ดำเนินนโยบายสวัสดิการตามที่หาเสียงในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ทั้งที่ผ่านมา 2 ปีเศษแล้ว โดยสรุปสถานการณ์สวัสดิการสังคมปี 2564 มีลักษณะถดถอยลง 7 ประการ ดังนี้
1. เงินเยียวยาไม่ถ้วนหน้าและการจัดการวัคซีนล้มเหลว
การจัดสวัสดิการสังคมในสถานการณ์โควิด-19 มีความล้มเหลวในมาตรการเยียวยา ไม่เป็นสิทธิถ้วนหน้า เน้นพิสูจน์ความยากจน ไม่ทันสถานการณ์ จัดสรรภายใต้ระบบอุปถัมภ์ เงินไม่เพียงพอต่อผลกระทบ การช่วยเหลือเยียวยาระบุว่าครอบคลุมมากกว่า 40 ล้านคน แสดงให้เห็นว่ามีคนยังเข้าไม่ถึงจำนวนมาก
ขณะที่โครงการช่วยเหลือเยียวยาต่าง ๆ ที่เข้าถึงโดยการลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันสมาร์ตโฟน ในขณะที่ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยเข้าถึงสมาร์ตโฟน 75.25% เข้าถึงอินเทอร์เน็ต 54.22% นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบางส่วนผูกโยงการเยียวยา ไม่สามารถนำเงินไปใช้ตามความจำเป็น ส่วนมาตรการเยียวยาผู้ประกันตนประกันสังคมบางมาตรการ มีการนำเงินสมทบของผู้ประกันตนมาใช้ ถือเป็นการเบียดบังทรัพย์สินผู้ประกันตน ทั้งยังนำมาโฆษณาว่าเป็นผลงานของรัฐบาล
ส่วนการบริหารจัดการวัคซีน ในระยะเริ่มภาครัฐขาดมุมมองว่าการเข้าถึงวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและการตรวจคัดกรองเป็นสิทธิสวัสดิการของประชาชน ในขณะที่การบริหารจัดการขาดประสิทธิภาพ ความล้มเหลวในการควบคุมการแพร่ระบาด ความสับสนในการบริหารสถานการณ์ไม่สามารถประสานการทำงานร่วมของหน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความล้มเหลวในการบริหารจัดการวัคซีน ไร้วิสัยทัศน์พึ่งพาวัคซีนบางยี่ห้อในสัดส่วนที่สูง และวัคซีนมีประสิทธิผลต่ำในการสร้างภูมิคุ้มกันการติดเชื้อสายพันธ์เดลตา การกระจายวัคซีน ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงและบุคลากรการแพทย์ เกิดขึ้นล่าช้าจากระบบอภิสิทธิ์ชน
“เมื่อพิจารณาผลงานนายกรัฐมนตรีจึงแสดงถึงการขาดวิสัยทัศน์ ขาดประสิทธิภาพ ล้มเหลวในการบริหารสถานการณ์ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 21,578 คน (ณ วันที่ 30 ธ.ค.2564 นับแต่ระลอก เม.ย.2564) ในขณะที่รัฐมนตรีสาธารณสุข มักใช้คำพูดที่ทำให้เกิดความสับสน ขาดความยั้งคิด เช่น กระจอก วัคซีนเต็มแขน ทำให้ประชาชนต้องขวนขวายหาวัคซีนกันเอง แม้ว่าการจัดหาวัคซีนจะเริ่มมีมากขึ้นแต่ถือว่าล่าช้า และไม่มีการเปิดเผยงบประมาณการจัดซื้อวัคซีน”
นุชนารถ แท่นทอง เครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าว
2. คว่ำกฎหมายบำนาญประชาชน 5 ฉบับ
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่รับรองกฎหมายระบบบำนาญประชาชน 5 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ เสนอโดยเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ, พ.ร.บ.เงินบำนาญประชาชน พรรคเสรีรวมไทย, พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ พรรคประชาชาติ, พ.ร.บ.บำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า พรรคก้าวไกล และ พ.ร.บ.บำนาญผู้สูงอายุขั้นพื้นฐาน พรรคไทยรักธรรม
สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงถึงการขาด Mindset ในการสร้างระบบสวัสดิการบำนาญประชาชนถ้วนหน้าเพื่อเป็นหลักประกันรายได้รายเดือนของผู้สูงอายุ นอกจากนี้มีการดำเนินการที่มีแนวโน้มนำไปสู่การยกเลิกเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้าให้เป็นแบบสงเคราะห์ และเน้นการออมด้วยตนเอง จากการที่คณะอนุกรรมการกำหนดนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุชุดใหม่ มีการพิจารณาแนวทางเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุใหม่แบบกำหนดกลุ่มเป้าหมาย เฉพาะผู้มีรายได้น้อยหรือเฉพาะผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้จัดทำร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. … ที่เน้นให้ประชาชนออมเงินเพื่อมีเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยไม่คำนึงถึงสิทธิสวัสดิการที่ควรได้รับเสมอกัน
“การที่นายกรัฐมนตรีไม่รับรองกฎหมายบำนาญประชาชน ถือเป็นความไม่รับผิดชอบต่อหลักประกันรายได้ของผู้สูงอายุ ในขณะที่ จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีก็ไม่ส่งเสริมสวัสดิการถ้วนหน้า ปฏิบัติตนราวกับเป็นอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ และมีแนวโน้มจะทำให้เบี้ยผู้สูงอายุกลับไปใช้สวัสดิการแบบสงเคราะห์ เสมือนเป็นการลบผลงานของนายกรัฐมนตรีพรรคประชาธิปัตย์ด้วยเท้า จากที่ดำเนินการเป็นแบบถ้วนหน้าไว้”
นุชนารถ แท่นทอง เครือข่ายสลัม 4 ภาค
3. เบี้ยวเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดถ้วนหน้า
เครือข่าย We Fair ได้ดำเนินการเรียกร้องสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดถ้วนหน้า มาตั้งแต่ปี 2558 จนกระทั่งคณะกรรมการส่งเสริมเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) มีมติเห็นชอบในหลักการและแนวทางการจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กอายุ 0-6 ปี แบบถ้วนหน้า เดือนละ 600 บาท โดยเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2565 เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2563 และวันที่ 29 กันยายน 2563 แต่ใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ไม่พบการตั้งงบประมาณจากกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในขณะที่รัฐมนตรี พม. ก็ไม่นำเรื่องนี้เข้าสู่คณะรัฐมนตรี
“การดำเนินงานของรองนายกรัฐมนตรี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ และรัฐมนตรี พม. เป็นความล้มเหลว ไร้ความสามารถในการผลักดันสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าเข้าสู่คณะรัฐมนตรี แม้จะมีมติคณะกรรมการ กดยช. รองรับ ทั้งนี้ เมื่อกลับไปพิจารณาถึงนโยบายหาเสียงด้านเด็กของพรรคประชาธิปัตย์ ได้แก่ เกิดปั๊บรับแสน แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ ทั้งที่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เงินอุดหนุนเด็กถือเป็นสวัสดิการสังคมที่สำคัญ และจะทำให้เด็กได้รับการเสริมสร้างพัฒนาการได้”
เกรียงไกร ชีช่วง เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย กล่าว
4. การศึกษาออนไลน์ หายนะภัยของอนาคต
การศึกษาภายใต้สถานการณ์โควิด-19 นักเรียนนักศึกษาต้องปรับเข้าสู่การเรียนการสอนในระบบออนไลน์ ทำให้ค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในด้านการศึกษาเพิ่มสูงขึ้น ครัวเรือนรายได้น้อยจำเป็นต้องซื้ออุปกรณ์เพื่อให้เด็กเรียนออนไลน์ มีภาระค่าใช้จ่ายค่าเล่าเรียน ค่าอาหาร รวมทั้งค่าใช้จ่ายด้านการสื่อสารที่จำเป็น เช่น ค่าโทรศัพท์ ค่าบริการอินเทอร์เน็ต กลุ่มครัวเรือนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำสุดยังขาดอุปกรณ์การเรียน มีเด็กตกหล่นในการเรียนรู้นอกห้องเรียนประมาณ 8 หมื่นคน นโยบายลดหรือผ่อนผันค่าเทอมระดับอุดมศึกษาไม่เพียงพอกับรายรับที่ลดลงอย่างกะทันหัน นักเรียนนักศึกษาต้องออกจากระบบการศึกษา เพราะไม่ได้รับหรือเข้าไม่ถึงสิทธิเยียวยาอย่างทั่วถึงต้องออกมาทำหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว
การเรียนออนไลน์ต่อเนื่องเป็นเวลาหลายชั่วโมงต่อวันและต่อเนื่องหลายวันต่อสัปดาห์ รวมทั้งการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้มาเป็นที่บ้านที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ เช่น ผู้ปกครองตกงาน ครอบครัวรายได้ลดลง ทำให้เด็กได้รับผลกระทบด้วย ทั้งนี้ การที่นักเรียนนักศึกษาไม่สามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ส่งผลให้ความรู้ที่ขาดหายไป ซึ่งจากรายงานผลกระทบของ COVID-19 ด้านสังคมของประเทศไทย โดย Oxford Policy Management และ United Nation ระบุถึงผลกระทบว่า การที่เด็กไม่ได้เรียนเป็นระยะเวลา 3-4 เดือน จะเกิดการสูญเสียทักษะทางการศึกษาเป็นเวลาถึง 1-1.5 ปี ขณะเดียวกันอาจทำให้เด็กมีทักษะลดลงด้วย ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนได้จากคะแนนเฉลี่ยการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (ONET) เปรียบเทียบในปี 2562 และ 2563 ของนักเรียนในระดับชั้น ม.3 มีคะแนนเฉลี่ยลดลงเกือบทุกสาขาวิชา
“เมื่อพิจารณาผลงานของรัฐมนตรีศึกษาธิการ สะท้อนถึงการขาดวิสัยทัศน์ในการบริหารจัดการการศึกษาในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้มีเด็กตกหล่นในการเรียนรู้นอกห้องเรียนจำนวนมาก (1) การอำนวยการในการเข้าถึงวัคซีนสำหรับเด็กล่าช้า ส่งผลถึงคุณภาพการเรียนของนักเรียน (2) ผู้ปกครองและครอบครัวรับภาระการเรียนออนไลน์ มีรายจ่ายและรายได้ในการครองชีพลดลง (3) รูปแบบการเรียนการสอนขาดการเตรียมการที่มีคุณภาพ ทำให้เด็กนักเรียนเข้าไม่ถึงระบบการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ ขาดการติดตามเสริมหนุนไม่ครอบคลุมเด็กนักเรียนแต่ละช่วงวัย”
เกรียงไกร ชีช่วง เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย กล่าว
5. ยับยั้งการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุข
จากประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 มีคำสั่งถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จากระบบราชการที่อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขไปให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นับเป็นก้าวสำคัญในการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุขและการบริการสุขภาพไปยังท้องถิ่น แต่ทว่าคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ได้ออกมายับยั้งการโอนย้าย รพ.สต. โดยให้เหตุผลว่า การรวบรัดดำเนินการถ่ายโอน รพ.สต. อาจสร้างปัญหาต่อระบบสาธารณสุข จากปัญหาความพร้อมของผู้รับการถ่ายโอนของท้องถิ่น และความสมัครใจของผู้ที่จะถ่ายโอน
“ปรากฎการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ซึ่งมาจากการแต่งตั้งได้ใช้บทบาทของวุฒิสภาในการเป็นกลไกสืบทอดอำนาจของ คสช. เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย ขัดขวางการกระจายอำนาจของท้องถิ่น เพื่อยกระดับระบบการให้บริการด้านสาธารณสุขให้ประชาชนในพื้นที่เข้าถึงได้มากขึ้น และเป็นการพัฒนาบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในสวัสดิการด้านสาธารณสุข ซึ่งปัจจุบันระบบการให้บริการด้านสาธารณสุขที่มีความพร้อมที่ดีจะกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ การเข้าถึงของประชาชนยังมีความเหลื่อมล้ำไม่ทั่วถึงแท้จริง”
ชุลีพร ด้วงฉิม เครือข่ายสุขภาพ กล่าว
6. แรงงานเปราะบางในสถานการณ์โควิด-19 คนว่างงานเกือบ 9 แสนคน
สถานการณ์แรงงานได้รับผลกระทบรุนแรงจากมาตรการโควิด-19 จากข้อมูลในไตรมาส 3 ปี 2564 ผู้มีงานทำ 37.7 ล้านคน ผู้ว่างงาน 8.7 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานที่ร้อยละ 2.25 เป็นการว่างงานเพิ่มขึ้น “สูงสุด” ตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 โดยเป็นผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน 5.8 แสนคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.6 จากปีก่อน และเด็กจบใหม่มีจำนวน 2.9 แสนคน เพิ่มขึ้นร้อยละ10 ผลกระทบแรงงานภาคอุตสาหกรรมถูกเลิกจ้าง ตกงาน ลดชั่วโมงการทำงาน แรงงานนอกระบบสูญเสียอาชีพ รายได้ ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันสูงขึ้น การคมนาคม ค่าเลี้ยงเด็กจากศูนย์เลี้ยงเด็กถูกสั่งปิด คนว่างงานเพิ่มและว่างงานยาวนานขึ้น ส่งผลทั้งการขาดรายได้ และความสามารถในการหางานในอนาคต
“การดำเนินงานของรัฐมนตรีแรงงาน ขาดมาตรการรองรับสถานการณ์การว่างงาน การจัดการปัญหาการสูญเสียทักษะจากการว่างงาน และการพัฒนาทักษะความสามารถการทำงานในอนาคตที่ต้องปรับเปลี่ยนหลังสถานการณ์โควิด-19 ในขณะที่การเยียวยาไร้มาตรการเชิงรุก เน้นการช่วยเหลือแรงงานเฉพาะกลุ่ม มีการนำเงินกองทุนประกันสังคมกรณีว่างงานซึ่งเป็นสิทธิของผู้ประกันตนมาอ้างเป็นผลงานรัฐมนตรี เช่นเดียวกับโครงการเรารักกันสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 เป็นสิทธิที่แรงงานต้องได้รับ การกำหนดเกณฑ์การคัดกรองด้วยเงินฝากในบัญชีธนาคารแต่ไม่มีการพิจารณาหนี้สินและสินทรัพย์ ส่วนการให้แรงงานอิสระลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 เพื่อเข้ารับการช่วยเหลือเยียวยา แสดงถึงการขาดความเข้าใจเรื่องฐานการคุ้มครองทางสังคม (Social Protection Floors)”
ธนพร วิจันทร์ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน กล่าว
เครือข่าย We Fair กล่าวต่อไปว่า การมีแรงงานอิสระสมัครมาตรา 40 กว่า 7 ล้านคน ยังไม่เห็นแนวทางในการรักษาสถานะผู้ประกันตนไว้ รวมทั้งไม่มีการพัฒนาสิทธิประโยชน์เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเข้าสู่มาตรา 40 ด้วย นอกจากนี้ การบริหารงานของรัฐมนตรียังถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงการสร้างอาณาจักร มีการตั้งกลุ่มก๊วนแรงงาน และใช้อำนาจจัดการใส่ร้ายป้ายสีแรงงานที่เห็นต่าง
7. งบประมาณ 2565 สวัสดิการที่เหลื่อมล้ำ
การจัดสรรงบประมาณ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 ขาดเป้าหมายในการรองรับสถานการณ์โควิด-19 ไม่ตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ความยากจนเรื้อรัง ตลอดจนครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง
(1) งบประมาณสวัสดิการประชาชน 361,521.16 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11.66 ของรายจ่ายงบประมาณ ถูกปรับลดลง 24,728.16 ล้านบาท อาทิ ประกันสังคม 44,091.0760 ล้านบาท ปรับลด 19,519.824 ล้านบาท กองทุนการออมแห่งชาติถูกปรับลดลง 305 ล้านเหลือเพียง 300 ล้าน การเคหะแห่งชาติเหลือ 731.4436 ล้านบาท ปรับลดไป 829.8282 ล้านบาท กองทุน สปสช. 140,550 ล้านบาท ปรับลด 1,814.61 ล้านบาท
(2) งบประมาณสวัสดิการข้าราชการ 473,447.32 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15.27 ของรายจ่ายงบประมาณ เพิ่มขึ้น 8,156.71 ล้านบาท หากรวมเงินเดือนข้าราชการ 770,160 ล้านบาท จะเท่ากับร้อยละ 40.11 การจัดงบประมาณสวัสดิการสะท้อนความเหลื่อมล้ำ อาทิ เงินบำนาญข้าราชการ 870,000 คน ได้รับ 310,600 ล้านบาท ขณะที่เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 10,330,213 คน ได้รับ 75,321.8 ล้านบาท ในส่วนสวัสดิการการรักษาพยาบาล ข้าราชการได้รับการจัดสรรงบประมาณรายหัวสูงกว่าประชาชนและประกันสังคมเกือบ 4 เท่า
(3) งบประมาณกระทรวงกลาโหม 203,282 ล้านบาท เป็นงบบุคลากร 105,034 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,741 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับงบบุคลากรสาธารณสุข ลดลง 1,549.4 ล้านบาท งบบุคลากรศึกษาธิการ ลดลง 13,557 ล้านบาท แสดงถึงการให้ความสำคัญของกำลังพลกองทัพ มากกว่ากำลังคนในภาคสาธารณสุขและการศึกษา
เมื่อพิจารณาจาก พ.ร.บ.งบประมาณ 2565 สะท้อนได้ว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไม่มีการจัดลำดับความสำคัญในการสร้างรัฐสวัสดิการ เพื่อยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ในทางกลับกันระบบสวัสดิการสังคมมีลักษณะถดถอย ขาดมิติในการแก้ไขวิกฤตการณ์ปัญหาโควิด-19 การลดความเหลื่อมล้ำและความเปราะบางทางสังคม ไม่ปรากฎนโยบายสวัสดิการสังคมที่พรรคการเมืองได้หาเสียงไว้ อาทิ มารดาประชารัฐ เกิดปั๊บรับแสน การปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและคนพิการ ในทางกลับกันยังเป็นสร้างความเหลื่อมล้ำจากระบบสวัสดิการแบบอภิสิทธิชนข้าราชการ อันเป็นการตอกย้ำสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำ และทำให้การเลื่อนลำดับชั้นทางสังคมไม่เกิดขึ้น เป็นการส่งต่อมรดกความยากจนจากรุ่นสู่รุ่น
“สรุปภาพรวมนักข่าวให้สมญานามนายกรัฐมนตรีว่า ชำรุดยุทธ์โทรม แต่สำหรับพวกเราชำรุดทรุดโทรมทั้งคณะ ไม่เฉพาะคุณประยุทธ์ เพราะชัดเจนว่าทำให้สวัสดิการสังคมเกิดความถดถอยทั้ง 7 ด้านที่กล่าวมา ถือว่าเป็นการทำงานที่ชำรุดทรุดโทรม สอบตกทั้งคณะ”
นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้ประสานงานเครือข่าย We Fair กล่าว