เตือนจ้างเด็กเอนฯ ติดเชื้อโควิด-19 หวังรับเชื้อเพื่อเคลมประกัน ไม่คุ้มเอาร่างกายไปเสี่ยง ด้าน ปลัด สธ. แจงโรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นได้ หากทุกภาคส่วนและประชาชนร่วมมือกัน
12 ม.ค.2565 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในบางรายผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายดีไม่มีเชื้อไวรัสในร่างกายแล้ว อาจมีอาการหลงเหลืออยู่เรียกว่า ภาวะลอง โควิด (Long COVID) หรืออาการหลงเหลือของเชื้อโควิด-19 ระยะยาว ซึ่งเกิดขึ้นได้ในช่วง 1-3 เดือนแรก
ส่วนผู้ป่วยกลุ่มป่วยรุนแรงอาจส่งผลต่อเนื่องยาวนาน 3-6 เดือน กว่าที่ร่างกายจะกลับมาเป็นปกติ เพราะมีปัจจัยเรื่องความเครียดสะสมมาตั้งแต่ช่วงที่ป่วย ซึ่งจะมีอาการที่แสดงออกได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ สำหรับอาการทางกาย เช่นไอ มีไข้ ปวดศีรษะ การรับรู้กลิ่นหรือรสชาติลดลง เจ็บหน้าอก หายใจไม่อิ่มเหนื่อยล้า ปวดข้อหรือกล้ามเนื้อ ท้องเสีย อันเนื่องมาจากภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง
ส่วนอาการทางจิตใจ เช่น วิตกกังวล สมาธิสั้นลง หรือซึมเศร้าร่วมด้วย จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงและรักษาอย่างต่อเนื่อง จึงขอย้ำอีกครั้งเรื่องมาตรการป้องกันตนเองขั้นสูงสุด ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา หมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล 70% เว้นระยะห่าง และไม่ไปสถานที่เสี่ยงสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ตามที่มีข่าวในโซเชียลมีเดียเป็นภาพแชตประกาศตามหาเด็กเอนฯ ที่ติดเชื้อโควิด-19 โดยคาดว่า ลูกค้าต้องการติดเชื้อโควิด-19 เพื่อเบิกประกันเจอ-จ่าย-จบนั้น เป็นเรื่องที่ได้ไม่คุ้มเสียในการนำร่างกายเข้าไปเสี่ยงได้รับเชื้อ เพราะการติดเชื้อโควิด-19 มีอาการรุนแรงได้หลายระดับ ตั้งแต่อาการทั่วไป ได้แก่ อาการระบบทางเดินหายใจ มีไข้ ไอ หายใจถี่ หายใจลำบาก แต่ในรายที่อาการรุนแรงมากอาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม ปอดอักเสบ ไตวายรุนแรงได้ถึงขั้นเสียชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว
ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์โรคโควิด-19 ของประเทศไทยเริ่มทรงตัว หลังจากมีการติดเชื้อสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นได้ภายในปี 2565 นี้ โดยพิจารณาจาก 3 ปัจจัย คือ
- ตัวเชื้อโรคมีความรุนแรงลดลง สอดคล้องกับการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนในขณะนี้ ที่เชื้อมีความรุนแรงลดลง เห็นได้จากแม้จะมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แต่จำนวนผู้ป่วยอาการหนัก ใส่เครื่องช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิตมีทิศทางลดลง
- ประชาชนมีภูมิคุ้มกันต่อโรคมากขึ้น
- ระบบบริหารจัดการ การดูแลรักษา ที่มีประสิทธิภาพ และควบคุมการระบาดได้ดี
ทั้งนี้ การที่โรคโควิด-19 จะเข้าสู่โรคประจำถิ่นได้ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงสาธารณสุขจะพยายามชะลอการระบาดของโรค พร้อมไปกับการเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับประชาชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน จึงขอให้ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนและผู้ที่ถึงกำหนดรับวัคซีนเข็มกระตุ้น ติดต่อขอรับวัคซีนได้ที่สถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน หรือตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกำหนด และขอให้ยังคงเคร่งครัดมาตรการป้องกันส่วนบุคคล ใส่หน้ากากตลอดเวลา เว้นระยะห่าง ล้างมือ หลีกเลี่ยงสถานที่เสี่ยง ตรวจคัดกรองด้วย ATK เมื่อมีความเสี่ยง ส่วนสถานประกอบการต้องเข้มการปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting
“ที่สำคัญคือต้องทำความเข้าใจว่า เมื่อครั้งนี้โรคโควิด-19 เปลี่ยนไปจากเดิม มีความรุนแรงลดลง ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยมาก รูปแบบการดูแลรักษาจึงต่างจากการระบาดระลอกก่อน โดยเปลี่ยนมาใช้การดูแลที่บ้าน (Home Isolation) หรือในชุมชน (Community Isolation) เป็นลำดับแรกมียา เวชภัณฑ์ มีทีมบุคลากรสาธารณสุขติดตามอาการต่อเนื่อง และมีการเตรียมเตียงในโรงพยาบาลไว้รองรับหากอาการมากขึ้นพร้อมส่งต่อทันที จึงวางใจได้ว่าหากติดเชื้อก็ยังได้รับการดูแลตามมาตรฐานเช่นเดิม”
นพ.เกียรติภูมิกล่าว
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า สำหรับการระบาดของโรคติดต่อ มี 4 ระดับ ได้แก่
- โรคประจำถิ่น (Endemic) คือ โรคที่เกิดขึ้นประจำในพื้นที่ อาจเป็นเมืองประเทศ กลุ่มประเทศ หรือทวีป มีอัตราป่วยคงที่และคาดการณ์ได้ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออกในประเทศไทย
- การระบาด (Outbreak) คือ เหตุการณ์ที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นผิดปกติ ทั้งกรณีโรคประจำถิ่นที่มีจำนวนผู้ป่วยมากกว่าที่คาดการณ์ หรือกรณีที่เกิดโรคอุบัติใหม่
- โรคระบาด (Epidemic) คือ มีการแพร่กระจายโรคกว้างขึ้นในเชิงภูมิศาสตร์อย่างฉับพลัน จำนวนผู้ติดเชื้อเกินกว่าที่คาดการณ์ได้
- การระบาดใหญ่ (Pandemic) คือ ระดับการระบาดที่แพร่ไปทั่วโลก เช่น การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และล่าสุดคือการระบาดของโรคโควิด-19