Connect Fest 2 ตัวแทนเพื่อไทย ก้าวไกล เห็นด้วย “รัฐสวัสดิการ” นักวิชาการ ย้ำ สวัสดิการถ้วนหน้า ทางออกลดความยากจน ขณะภาคประชาสังคมวอนเห็นหัวประชาชน หลังเลือกตั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมวางนโยบาย
วันนี้ (23 ม.ค.2565) โครงการ Connect Fest 2: Social Movement week for all โดยเครือข่ายนวัตกรรมคนรุ่นใหม่ สมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม จัดเวทีเสวนา “บำนาญ รัฐสวัสดิการและสังคมประชาธิปไตย” เป็นไปได้หรือไม่ ?
นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบุ สังคมไทยอยู่กับเงินบำนาญหลักร้อยมา 29 ปี แล้ว นับตั้งแต่ปี 2536 เขาเชื่อว่าวันนี้สังคมตื่น และพร้อมที่จะหยุดส่งต่อความยากจนด้วยการทำให้ประเทศไทยเป็นสังคมรัฐสวัสดิการ และมีบำนาญถ้วนหน้า ขณะที่ พรรคร่วมฝ่ายค้าน เห็นตรงกันว่า สิ่งที่เสนอโดยพรรคฝ่ายค้าน รัฐบาลมักจะไม่รับฟัง เช่นเดียวกับประเด็นรัฐสวัสดิการที่ กฎหมายบำนาญแห่งชาติ ถูกปัดตกมาแล้วอย่างน้อย 5 ฉบับ การสร้างสังคมประชาธิปไตย และทำให้พรรคการเมืองเห็นความสำคัญของการมีสวัสดิการเพื่อประชาชน จึงมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนนโยบายรัฐสวัสดิการ ภายในเวทียังมีการพูดคุยผ่านทาง Zoom โดย รศ.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ติงว่า บรรดาพรรคการเมือง และ ส.ส. ที่ทำงานในสภาฯ ไม่มีความพยายามผลักดันเรื่องนี้มากพอ ทำให้ตลอด 3 ปี ของสถานการณ์โควิด-19 ยังคงเห็นผู้คนเจ็บป่วย ล้มตายส่วนหนึ่งมาจากปัญหาไร้ตาข่าย หรือเบาะรองรับทางสังคมที่ดีพอกับคนทุกคนในสังคม
รศ.ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า ตลอด 3 ปีที่ต้องเจอกับ สถานการณ์โควิด-19 ยังเห็นนักการเมือง ประชาชนเสียชีวิต และต้องเจอกับความเจ็บปวด สูญเสีย ส่วนหนึ่งก็มาจาก ส.ส.กว่า 100 คนที่นั่งอยู่ในสภาฯ ไม่ได้พยายามผลักดันรัฐสวัสดิการมากพอ คนที่จุดประเด็นเหล่านี้กลับเป็น เด็ก นักศึกษา ที่ได้ค่าขนมจากผู้ปกครอง ไม่ใช่ ส.ส. ที่รับเงินเดือนหลักแสน แต่กลับไม่เคยเห็นการส่งสัญญาณความเจ็บปวดออกมาจากทั้ง 2 พรรคการเมือง และมีแต่เสียงสะท้อนจากผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่บอกว่า รัฐสวัสดิการ เป็นไปไม่ได้ เป็นสิ่งที่จะฉุดรั้งให้ประเทศล่มสลาย ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาและเครือข่ายรัฐสวัสดิการต้องเจอกับคำพูดเหล่านี้มาโดยตลอด
“3 ปี โดยเฉพาะโควิดที่ผ่านมา ความตายส่วนหนึ่งมาจาก ส.ส. 100 กว่าคน ไม่ได้พยายามเรื่องนี้มากพอ
คนที่นำพาเรื่องนี้ไม่ใช่ ส.ส.เงินเดือน แต่เป็นเด็ก นักศึกษา ที่ได้ค่าขนมจากพ่อแม่ ที่พยายามพูดความไม่เป็นธรรมในเรื่องนี้มาตลอด 3 ปี
ผมยังไม่เห็นสัญญาณความเจ็บปวดจาก 2 พรรคนี้”
รศ. ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
รศ.ษัษฐรัมย์ ทิ้งท้ายว่า “ผมยืนยันระบบที่จะลดความยากจนมากที่สุด ไม่ใช่การควานหาคนจนที่สุด แต่คือระบบที่สามารถคาดเดาและวางแผนได้ว่าชีวิตจะเป็นอย่างไร ไม่ใช่การตั้งคำถามว่าเรามีเงินหรือไม่ แต่จะคาดหมายให้เสียภาษีได้อย่างไรถ้าต้องขับแกร็บ ทำงานในโรงงาน และรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าจะสามารถส่งเงิน ส่งผลประโยชน์ต่อคนจนได้มากที่สุด ระบบถ้วนหน้า จึงดีกว่าระบบสงเคราะห์ ”
ขณะที่พรรคฝ่ายค้าน จากเพื่อไทย และก้าวไกล ส่งตัวแทนมาชี้แจง และนำเสนอความก้าวหน้าการผลักดันเรื่องนี้ในสภาฯ โดยทั้ง 2 คน คือ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.พรรคก้าวไกล เห็นตรงกันว่า ข้อเสนอจากฝ่ายค้าน รัฐบาลมักจะไม่รับฟัง และเมื่อประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย การต่อสู้ก็จะดุเดือด เพราะไม่มีเหตุจำเป็นใดที่รัฐบาล จะต้องฟังเสียงคนที่ไม่เลือกเขา ดังนั้นประชาธิปไตย 1 สิทธิ์ 1 เสียง ยังคงจำเป็น และมีส่วนทำให้การผลักดันนโยบายโดยภาคประชาชนเกิดขึ้นได้จริง
จุลพันธ์ ชี้แจงว่า พรรคเพื่อไทย ไม่ปฏิเสธรัฐสวัสดิการ และเดินตามแนวทางนี้มาตลอด โดยยืนยันว่าทางพรรคกำลังดูกระบวนการใช้งบประมาณที่จะเกิดประโยชน์สูงสุด โดยยอมรับว่า พรรคเพื่อไทย ยังไม่พร้อมการให้เงินแบบถ้วนหน้า ปูพรม หรือการให้ในลักษณะ UBI: ประกันรายได้ถ้วนหน้า แต่อีกด้านหนึ่งพรรคก็ยังมีความเชื่อว่า “ทุนนิยม” ยังคงเป็นจุดอ่อน ที่ทำให้คนไม่พร้อม ขาดโอกาส ไม่สามารถก้าวยืนได้ “รัฐสวัสดิการ” จึงเป็นเรื่องหลักที่ทางพรรคกำลังติดตาม แต่อาจจะนำเสนอในระยะสั้น กลาง ยาว ตามความเหมาะสมและเป็นไปได้ โดยย้ำว่าพรรคเพื่อไทย ชนะการเลือกตั้งมาได้ทุกครั้งเพราะนโยบาย วันนี้แม้จะยืนยันว่ามีแนวคิดเรื่องรัฐสวัสดิการอยู่แล้ว แต่ต้องยอมรับว่า การแตะไปถึงจุดที่ให้ทุกคนถ้วนหน้าโดยใช้งบประมาณ 4 แสนล้านบาทต่อปี (ซึ่งมาจากการคำนวณผู้สูงอายุ 3 ล้านคน คนละ 3,000 บาทต่อปี) นั้นถือว่า ตึงตัว เพราะงบประมาณวันนี้รัฐบาลมีอยู่ที่ 3.33 ล้านบาท เป็นงบประมาณข้าราชการประจำส่วนใหญ่ เหลือจริงๆ เพียง 4 แสนล้านนิดๆ ซึ่งต้องไม่ลืมว่า รัฐเองก็ยังมีมิติอื่นที่ต้องพัฒนา แต่ย้ำว่า มีความเป็นไปได้ และพรรคเพื่อก็เห็นว่าการดูแลผู้สูงอายุเป็นสิ่งจำเป็น ขณะที่รัฐบาลก็จำเป็นต้องหารายได้เข้ารัฐ ด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดี ให้เกิดภาษีเข้ารัฐอย่างต่อเนื่อง
วรรณวิภา ส.ส.พรรคก้าวไกล ระบุว่า พรรคมองเห็นประเด็นนี้เป็นวาระสำคัญ และย้ำในทุกรัฐบาลให้แก้ปัญหาทั้งเรื่องแรงงาน และประกันสังคมมาอย่างยาวนาน และมีความเชื่อเรื่องนี้มาตั้งแต่ก่อนจะเป็นนักการเมือง แต่ตลอดการผลักดันก็ไม่เคยเห็นนโยบายภาคแรงงานเปลี่ยนแปลงเลย ทั้งที่บริบทของสังคมไทยเปลี่ยนไปอย่างมาก ขณะที่ความคืบหน้าของการเสนอ กฎหมายบำนาญผู้สูงอายุ ก็ถูกปัดตกไปถึง 5 ฉบับ ทั้งที่เป็นของพรรคการเมือง และภาคประชาชน งบฯเงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้าก็ยังไม่ครอบคลุม ฯลฯ
นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวบนเวทีว่า ภาคประชาชน ได้เรียกร้องหน่วยงานรัฐที่เก็บภาษี ทั้งหมดแล้วถามว่า ถ้าจะใช้ปีละ 4 แสนล้าน รัฐมีเงินหรือไม่ คำตอบจากหน่วยงาน คือ ถ้ารัฐมีเจตจำนง และอยากเห็นประชาชนมั่งคั่ง สามารถทำได้ ล่าสุดที่ดูจะมีความคืบหน้ามากที่สุดคือ กฎหมายที่จะเปลี่ยนเบี้ยผู้สูงอายุ เป็นบำนาญถ้วนหน้า โดยจะใช้เงินงบประมาณราว 4 แสนล้านบาท โดยการผลักดันครั้งนี้จำเป็นต้องนำเสนอเข้าสภาฯ หากทุกพรรคฯ เห็นชอบ ก็มีโอกาสที่รัฐบาลจะนำไปสานต่อได้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับ หลายนโยบายที่ออกมาจากภาคประชาชน ผลักดันได้ยาก เพราะ การเมืองแบบเสรีนิยมประชาธิปไตย มักดำเนินนโยบายตามนายทุนใหญ่ ดำเนินกิจกรรมของรัฐโดยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่
ถ้าจะเขย่า จำเป็นต้องทำให้เกิดสังคมประชาธิปไตย ให้รัฐรู้หน้าที่และเห็นความสำคัญต่อประชาชน เพราะรายได้ส่วนใหญ่ที่รัฐใช้จ่ายมาจากคนส่วนใหญ่ของประเทศ “อนาคตข้างหน้าอยากจะดัน เรื่องรัฐสวัสดิการ บำนาญถ้วนหน้า อยากจะบอกเพื่อไทยกรุณาชวนประชาชนไปออกแบบด้วย…” นิมิตร กล่าวทิ้งท้าย ใกล้เลือกตั้งแล้ว อย่าให้ประชาชนต้องช้ำใจ เลือกคนผิด เลือกแล้วต้องเห็นหัวประชาชน และชวนประชาชนไปร่วมวางนโยบาย ฟังนายทุนให้น้อยลง ฟังประชาสังคมให้มากขึ้น ….