พ.ร.บ.ซ้อมทรมาน – อุ้มหาย ผ่านสภาฯ กมธ. ห่วง ส.ว. แก้ไขกลับไปร่างเดิม ครม.

กฎหมายอุ้มหาย ผ่านวาระ 3 ที่ประชุมสภาฯ ถกเดือด ขอลดสัดส่วน คกก. โดยตำแหน่งลง ‘โรม’ ห่วงชั้น วุฒิสภาอาจกลับไปหาร่าง ครม. เดิม ทำให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองลดลง

ในที่สุดเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2565 สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ 359 เสียง เห็นชอบในวาระที่ 3 ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ภายหลังจากการพิจารณาในวาระที่ 2 (ลงมติรายมาตรา) โดยประชุม ส.ส. ได้ลงมติเห็นชอบกับร่างฉบับที่ปรับปรุงโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญในทุกมาตรา

นับเป็นความคืบหน้าครั้งสำคัญ ที่ประเทศไทยจะมีกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับการป้องกันการซ้อมทรมาน และอุ้มหาย หลังจากได้เข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิกในอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันการซ้อมทรมาน และอนุสัญญาว่าด้วยป้องกันการกระทำให้บุคคลสูญหายมาแล้วหลายปี แต่ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะเพื่ออนุวัติให้เป็นไปตามอนุสัญญา อีกทั้งยังมีข้อสังเกตถึงการใช้อำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ในอันที่อาจเข้าข่ายการกระทำในลักษณะดังกล่าวมาโดยตลอด

“คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ชุดนี้ มีตัวแทนจากทุกพรรคการเมือง คัดสรรผู้ที่มีความสนใจในสิทธิมนุษยชน จึงถือเป็นความตั้งใจของทุกพรรค ที่จะปฏิรูปกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาที่ไทยเป็นรัฐภาคี ภายใต้องค์การสหประชาชาติ ดังนั้นร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ จึงคำนึงถึงผู้เสียหาย และเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มุ่งหวังให้เกิดการป้องกันและปราบปรามการกระทำทรมาน การลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการกระทำให้บุคคลสูญหายอย่างเป็นธรรม และโปร่งใส ภาตใต้กลไกทางกฎหมายที่รอบคอบ และรัดกุม จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดนำเสนอที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อดำเนินการต่อไป…”

ชวลิต วิชยสุทธิ์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวนำเสนอกฎหมายต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่าได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็น ศึกษา และรวบรวมข้อมูลในทุกมิติ เพื่อให้ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวครอบคลุมฐานความผิด และมีกลไกที่สามารถบังคับใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ เพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองผู้เสียหาย ประชาชนทั่วไป รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายนี้ด้วย

ในขณะที่เมื่อวานนี้ ประเด็นซึ่งถูกแปรญัตติ และมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสงวนความคิดเห็นไว้ คือ สัดส่วนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการกระทำทรมาน และบังคับบุคคลสูญหาย โดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ไปอภิปรายเสนอว่าควรปรับสัดส่วนของคณะกรรมการฯ 15 คนนี้ โดยเพิ่มสัดส่วนของคณะกรรมการที่มาจากการสรรหา เป็น 9 คน จากเดิมที่มีเพียง 7 คน และลดสัดส่วนของคณะกรรมการโดยตำแหน่ง ที่เป็นผู้บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมักเป็นที่กล่าวหาว่าใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบออกไป

“ผมไม่มีความเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง มาโดยตลอด บางครั้งเรามีกฎหมายที่ดีแล้ว แต่ส่งไปอยู่ในอุ้งมือของคนเพียง 15 คน ที่ต้องไปดูแลสิทธิ เสรีภาพของประชาชน และยิ่งเป็นเรื่องที่ประเทศไทยถูกตราหน้าว่าเป็นประเทศที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุดประเทศหนึ่ง ผมเห็นว่าสัดส่วนของคณะกรรมการ 15 คน ไม่เป็นหลักประกันถึงการคุ้มครองสิทธิของประชาชนได้ จึงอยากให้มีการปรับปรุง…”

โดยที่ประชุมยังให้คงสัดส่วนกรรมการตาม ร่าง พ.ร.บ. ฉบับปรับปรุงโดยคณะกรรมาธิการ ซึ่งกำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย จำนวน 15 คน โดยประกอบด้วย กรรมการโดยตำแหน่ง 8 คน ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (ประธาน) ปลัดกระทรวงยุติธรรม (รองประธาน) ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ (กรรมการและเลขานุการ)

นอกจากนั้นยังประกอบด้วยกรรมการที่ได้รับการสรรหา 7 คน โดยสรรหามาจาก ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ ในด้านสิทธิมนุษยชน 2 คน ได้แก่ ด้านกฎหมาย ด้านนิติเวชศาสตร์ ด้านจิตเวชศาสตร์ และผู้เสียหายหรือผู้แทนผู้เสียหาย หมายถึง บุคคลที่เคยมีประสบการณ์ในการถูกกระทำผิดตาม พ.ร.บ. นี้ หรือผู้แทนของบุคคลดังกล่าว 2 คน

ด้าน รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานกรรมาธิการวิสามัญฯ เปิดเผยกับ The Active ว่า เป็นไปตามที่คาดหมายไว้ว่าในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ไม่น่าจะเกิดปัญหา เนื่องจากทุกพรรคการเมืองมีความคิดเห็นตรงกันในการผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ แต่ส่วนตัวมีความกังวลกับการพิจารณาในชั้นสมาชิกวุฒิสภา เนื่องจากมองว่าสมาชิกอาจไม่มีส่วนเชื่อมโยงกับผู้เสียหาย และอาจขาดความเข้าใจ หรือมีความพยายามที่จะกลับไปหาร่างกฎหมายเดิมของคณะรัฐมนตรี ที่ให้การคุ้มครองประชาชนได้น้อยกว่าฉบับนี้

“ผมหวังว่า ส.ว. ทั้งหลายจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันปราบปรามการทรมาน-อุ้มหายฉบับนี้โดยคำนึงถึงชีวิตของประชาชนชาวไทยทุกคนที่ไม่ควรต้องมาพบเจอกับอาชญากรรมอันโหดเหี้ยมเช่นนี้ ให้กฎหมายนี้จะจุดเริ่มต้นของการปกป้องทุกคน และป้องปรามการใช้อำนาจเถื่อนต่อประชาชนจากนี้เป็นต้นไป”

หลังจากการลงมติเห็นชอบของ ส.ส. ในครั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว จะเข้าสู่การพิจารณาในชั้นของ ส.ว. ต่อไป ในสมัยประชุมหน้า ซึ่งหากผ่านความเห็นชอบก็จะได้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย แต่หากไม่ผ่านการเห็นชอบของ ส.ว. จะต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม ซึ่งจะใช้เวลาในการพิจารณาในประเด็นซึ่งมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน และอาจต้องกินเวลายาวนานออกไปนั่นเอง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้