2 ปี พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานอุ้มหายฯ การปฏิบัติยังล่าช้า คณะกรรมการป้องกัน การทรมาน อุ้มหายฯ แห่งสหประชาชาติ แสดงข้อกังวล ชี้เป็นความท้าทายของรัฐ ขณะญาติผู้เสียหายยื่นจดหมายตัวแทนภาครัฐ เรียกร้องทำให้พระราชบัญญัติมีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ
วันนี้ (1 มี.ค. 2568) ที่ Slowcombo กรุงเทพฯ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF), คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (ICJ), กลุ่มด้วยใจ และคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกันจัดงาน “Echoes of Hope; ให้กฎหมายทำงาน ให้ความยุติธรรมเป็นจริง” เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ติดตามความคืบหน้าของการบังคับใช้กฎหมายพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2566 หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานอุ้มหาย” และสะท้อนเสียงของผู้ได้รับผลกระทบ

อังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา บอกว่า ขอบคุณที่ให้โอกาสตนได้พูดในฐานะของเหยื่อ และญาติของผู้ถูกบังคับสูญหาย ขอชื่นชมญาติทุกคนที่ต่อสู้อย่างยากลำบาก
ในทางสากลการบังคับสูญหายถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรงทีสุด ทำให้เหยื่อถูกทำลายอัตลักษณ์และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ส่งผลกระทบต่อสิทธิ วัฒนธรรม สังคมของเหยื่อด้วย
แม้วันนี้จะมีกฎหมาย แต่ครอบครัวของคนหาย รัฐยังไม่สามารถทำให้เห็นได้ว่าเขาเป็นคนหาย เป็นอุปสรรคอย่างมากต่อครอบครัวที่ยังดำเนินชีวิตอยู่
“การบังคับสูญหายไม่ใช่เพียงแค่ทำให้ใครหายไปตลอดกาล แต่ทำให้ครอบครัวที่ยังอยู่ทุกข์ทรมานอย่างไม่มีที่สิ้นสุด”
ข้อท้าทายกฎหมายจะคืนความเป็นธรรมให้กับครอบครัวอย่างไร พบว่า อย่างน้อย 15 ครอบครัวที่ถูกเจ้าหน้าที่ขอร้องให้ถอดถอนเรื่องออกจากสหประชาชาติ เพื่อให้รายชื่อของคนหายลดลง
2 ปีที่ผ่านมามีแต่ความว่างเปล่า ทำไมรัฐไม่ทำหน้าที่ ทำไมต้องให้ครอบครัวเรียกร้องเอง แม้จะมีกฎหมายออกมาแล้วแต่ไม่มีการปฏิบัติ และขอเรียกร้องสิทธิความทรงจำของเหยื่อ ที่รัฐพยายามทำลายไป เชื่อมั่นว่าการต่อสู้ของผู้หญิงและครอบครัวจะนำมาสู่ความจริงให้ปรากฏ
ต่อด้วยวงเสวนาในหัวข้อ “ข้อเสนอแนะคณะกรรมการป้องกันการทรมาน อุ้มหายฯ แห่งสหประชาชาติ ความพร้อม ข้อท้าทาย รัฐไทย” โดยมีเครือข่ายที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนร่วมแลกเปลี่ยน
สัณหวรรณ ศรีสด คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (ICJ) แสดงความกังวลว่า เป็นที่น่าเสียดายที่สองปีผ่านไปแต่การบังคับใช้พระราชบัญญัติยังเป็นไปอย่างล่าช้า ทั้งด้านการนำตัวผู้กระทำความผิดมารับโทษและการเยียวยาแก่ผู้เสียหายและครอบครัว
อีกทั้งมีข้อห่วงใยในเรื่องอายุความ กลไกการป้องกันที่ยังไม่เหมาะสม การนิรโทษกรรม การบังคับใช้กฎหมายของคณะกรรมการ คดีที่มีข้อกล่าวหามีขั้นตอนที่ล่าช้า การคุ้มครองพยาน และรัฐจะทำอย่างไรให้การสืบหาข้อมูลผู้สูญหายมีประสิทธิภาพ
ด้าน ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล พูดถึงการใช้สปายแวร์โจมตีนักกิจกรรม อาจเข้าข่ายการทรมานในด้านจิตใจ ซึ่งถือเป็นประเด็นใหม่ที่ควรให้ความสำคัญ นอกจากนี้ยังหยิบยกข้อกังวลและข้อเสนอความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ ว่ามีข้อกังวลต่อพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว ออกมาในปี 2019 แต่ถูกเลื่อน บังคับใช้ไปเรื่อยๆ และกฎหมายที่มีอยู่ตั้งแต่ปี 2007 กำหนดให้เน้นการประนีประนอม และบังคับใช้ยื่นเรื่องร้องเรียนภายใน 3 เดือน
โดยมีข้อเสนอแนะปรับปรุงกฎหมายและเร่งบังคับใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว และริเริ่มสืบสวนด้วยตัวภาครัฐเอง ในกรณีความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศและความรุนแรงในครอบครัวลงโทษผู้กระทำผิด และเยียวยาผู้รอดชีวิต
ชนาธิปได้พูดในหลายประเด็น ทั้งการใช้กำลังเกินกว่าเหตุในที่ชุมนุม การพ้นผิดลอยนวล การเยียวยาเหยื่อ และโทษการประหารชีวิตโดยชี้ว่าประเด็นต่าง ๆ ที่เสนอไป ในจักรวาลของสิทธิมนุษยชน มีหลากหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน เป็นเหมือนกับเครื่องเตือนใจให้กับรัฐบาลว่ามีกฎหมายและแนวปฏิบัติอีกหลายเรื่องที่ต้องปฏิบัติร่วมกัน อยากให้มองเรื่องทรมานและการอุ้มหายกว้างขึ้น

อัญชนา หีมมินะ กลุ่มด้วยใจ พูดถึงข้อห่วงกังวลและข้อเสนอแนะต่อประเทศไทยว่า ยังคงมีการทรมานในระหว่างการสอมสวน รวมถึงคำสารภาพที่ได้จากการทรมานเกิดขึ้นในสามจังหวัด อีกทั้งเสนอให้มีการปรับปรุงในเรื่องสภาพความเป็นอยู่ของสถานที่ควบคุม ทัณฑสถาน สถานที่ควบคุมตัว เช่น ที่จังหวัดชายแดนใต้
ส่วนการปรับปรุงสถานกักกันคนเข้าเมือง 1.ควรให้การกักขังควรเป็นทางเลือกสุดท้าย 2. ศาลกำกับดูแล 3.ระบบและเงื่อนใขควรได้มาตรฐานสากล 4.กสม.สามารถตรวจสอบได้ 5.รับรองสัตยาบันผู้ลี้ภัยและอื่น ๆ
ส่วนข้อเสนอต่อกรณีสถานที่ควบคุมตัว ควรให้ กสม.ตรวจสอบสถานที่ควบคุมตัวโดยอิสระ ไ่ม่ต้องแจ้งล่วงหน้า ให้ NGO สามารถเข้าร่วมตรวจสอบได้และเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการตรวจสอบ และรับรอง พิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี หรือ OP CAT
ด้าน นรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม พูดถึงข้อท้าทายในการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสหประชาชาติฯ โดยมีข้อท้าทายคือ
- ข้อคำถามต่อความสัมพันธ์ของข้อสังเกตบางประเด็น กับอนุสัญญา
- ความพร้อมของแต่ละหน่วยงาน (บุคลากร และงบประมาณ)
- การตีความกฎหมายภายในการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน
- ความท้าทายในการดำเนินการตามข้อสังเกตบางประเด็น (เช่น กรณีอุ้มหายในต่างประเทศ และการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิต)
- การจัดทำฐานข้อมูลกลาง เนื่องจากแต่ละหน่วยงานมีการจัดเก็บที่ต่างกัน ทำให้การหาสถิติที่เป็นภาพรวมของประเทศยังยากอยู่
ดังนั้น ต้องมาทำความเข้าใจต่อวิธีการกับหน่วยงานที่ทำงานร่วมอยู่ หลังจบวงเสวนา เป็นการยื่นจดหมายเครือข่ายของญาติผู้เสียหาย ให้กับตัวแทนภาครัฐ เพื่อเรียกร้องให้ดำเนินการเพื่อทำให้พระราชบัญญัติมีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากสองปีผ่านไปเครือข่ายยังคงเห็นความท้าทายในการนำ กฎหมาย ไปปฏิบัติ