ไล่ไทม์ไลน์ชาวนาจากทั่วประเทศ ปักหลักชุมนุม ครบ 1 เดือน เรียกร้องรัฐบาลแก้ปัญหาหนี้สิน ผ่านกองทุนฟื้นฟูฯ ‘สฤณี’ เปิดผลวิจัย หนี้ชาวนา คือ หนี้ไม่เป็นธรรม จากนโยบายรัฐที่ผิดพลาด และเงื่อนไขสัญญาที่เอาเปรียบลูกหนี้
วันที่ 24 ก.พ 2565 ครบรอบ 1 เดือน การชุมนุมเรียกร้องของม็อบชาวนานับพันคน กระจายตัวเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ ด้านหน้ากระทรวงการคลัง ปัจจุบันอยู่ที่หน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กลุ่มหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกลุ่มหน้าธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ตัดสินใจทิ้งไร่นาของตัวเองออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาหนี้สินของพวกเขา
แต่สัญญาณที่ชาวนาเฝ้าคอยว่าจะสามารถกลับบ้านได้เมื่อไหร่ คือ มติคณะรัฐมนตรี ในการอนุมัติงบประมาณ และอำนาจในการจัดการหนี้สิน ผ่านกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ซึ่งจนถึงปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจน
ย้อนกลับไปในวันที่ 24 ม.ค. 2565 ชาวนาจากทั่วประเทศกว่า 36 จังหวัด เดินทางมาปักหลักชุมนุมหน้ากระทรวงการคลัง เพื่อทวงถามมติครม. เห็นชอบโครงการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิก กฟก. ลูกหนี้ธนาคารของรัฐ หลังจากรอมานาน 1 ปีเต็ม แต่ กฟก. และหน่วยงานกำกับดูแลอย่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ไม่เสนอเรื่องเข้า ครม.
3 ก.พ. 2565 หลังการประชุมคณะทำงานร่วม ที่สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกลุ่มผู้ชุมนุมได้เข้าพบ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งดูเหมือนผลการประชุมเป็นที่น่าพอใจ โดยกลุ่มผู้ชุมนุมเปิดเผยว่า โครงการอาจสามารถเข้าที่ประชุม ครม. ได้ในวันที่ 15 ก.พ.
8 ก.พ. 2565 ม็อบชาวนาเคลื่อนขบวนครั้งใหญ่ ไปยังสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อทวงถามแผนการฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร ที่ยังไม่สำเร็จแม้เพียงรายเดียว ทั้งที่เป็นภารกิจโดยตรงของหน่วยงานที่นอกจากต้องจัดการหนี้แล้ว จำเป็นต้องจัดทำแผนฟื้นฟูอาชีพด้วย
14 ก.พ. 2565 ก่อนวันประชุม ครม. ผู้ชุมนุมทั้งหมด เคลื่อนขบวนจากหน้ากระทรวงการคลัง ไปยังสำนักงานองค์การสหประชาชาติ ใกล้ทำเนียบรัฐบาล เพื่อกดดันเรียกร้องให้มีการประชุมวาระนี้โดยเร่งด่วน และยืนยันว่าจะประท้วงต่อไปจนกว่าจะมีความชัดเจน
จนกระทั่งการประชุม ครม. 15 ก.พ. 2565 ก็ยังไม่มีโครงการแก้ปัญหาหนี้สินชาวนาเข้าสู่วาระการประชุม กฟก. ในฐานะหน่วยงานเจ้าของเรื่องแจ้งว่า ยังอยู่ระหว่างการจัดทำคำชี้แจง ตามข้อสังเกตของกระทรวงการคลัง และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
รวมระยะเวลา 1 เดือนเต็มของการชุมนุม มีเพียงเสียงเรียกร้องของชาวนา ที่กึกก้อง รอคอยความหวัง แต่เสียงตอบรับจากหน่วยงานรัฐกลับเงียบสนิท เกิดเป็นคำถามสำคัญ ว่าการแก้ปัญหาครั้งนี้ จะสำเร็จผลเมื่อใด ซึ่งโครงการดังกล่าวจะสามารถช่วยลูกหนี้ สมาชิกกองทุนฯ ได้กว่า 300,000 ราย แต่ในระยะเร่งด่วนที่ชาวนาเรียกร้อง คือ กลุ่มที่อาจถูกบังคับคดี ยึดทรัพย์ ขายทอดตลาด จำนวนกว่า 50,000 ราย ที่รอการช่วยเหลือ
‘สฤณี’ เปิดผลวิจัย หนี้ชาวนา ส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายรัฐที่ผิดพลาด
เรื่องปัญหาหนี้สินชาวนา ไม่ใช่เพียงปัญหาส่วนบุคคลเท่านั้น แต่สิ่งนี้ ยังเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ผูกพันกับนโยบายของภาครัฐมาโดยตลอด รัฐบาลอาจต้องมีส่วนในการรับผิดชอบ และให้การช่วยเหลือชาวนาอย่างเร่งด่วน สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บจก.ป่าสาละ เปิดเผยผลการวิจัย ภายใต้มูลนิธิชีวิตไทย กับ The Active
จากการศึกษาปัญหาหนี้สินของเกษตรกร และแนวทางการแก้ปัญหาในระยะยาว พบว่า การที่ชาวนาต้องเข้าเมืองมาเรียกร้อง เพราะ ไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ มาเป็นระยะเวลานาน สาเหตุหลัก คือ อาชีพทำนา ไม่ใช่อาชีพ ที่จะสร้างผลกำไรได้ เพราะ การทำนาวันนี้ ขาดทุนตันละ 2,000 – 2,500 บาท นอกจากจะจ่ายหนี้เดิมไม่ได้แล้ว อาจทำให้ต้องกู้เพิ่มเพื่อมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันด้วย
แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ สาเหตุการเกิดหนี้ของชาวนา ไม่ใช่มีเพียงเรื่อง รายได้หรือการทำนาที่ขาดทุนอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีสิ่งที่เรียกว่า ‘หนี้ที่ไม่เป็นธรรม’ ที่เกิดจาก การเดินตามนโยบายของรัฐในแต่ละยุคสมัย ที่มักจะส่งเสริมให้ปลูกพืชบางชนิด ที่คิดว่าสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น หรือสัญญาจะมีโครงการมากมาย แต่สุดท้ายไม่เป็นผลดังที่โฆษณาไว้ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชาวนาเป็นหนี้เพิ่ม และส่วนที่ 2 คือ เงื่อนไขสินเชื่อของเจ้าหนี้ที่ไม่เป็นธรรม มาตรการพักชำระหนี้ ที่ดอกเบี้ยยังเดินต่อเนื่อง รายละเอียดในสัญญาที่อาจไม่เป็นธรรมกับลูกหนี้ ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ก่อหนี้ให้พอกพูนสะสมขึ้นทั้งสิ้น
“ปัญหานี้ คือ ความไม่เป็นธรรมระดับนโยบาย เราควรแยกหนี้ของชาวนา ว่าส่วนไหนเกิดจากการผิดสัญญาของรัฐบาล
ควรยกหนี้ไปทั้งจำนวน ถือเป็นการแสดงความรับผิดชอบของผู้ดำเนินนโยบาย ตอนนี้ต้องมาพูดกันให้ชัดว่า หนี้ที่เกิดจากนโยบายรัฐที่ไม่เป็นธรรมมีหลักเกณฑ์อย่างไร แล้วไปจัดการตรงนั้นส่วนหนี้ที่เกิดจากเงื่อนไขสินเชื่อที่ไม่เป็นธรรม ไม่เอื้อต่อลูกหนี้ ควรยกหนี้บางส่วนไป และปรับโครงสร้างหนี้ที่เหลืออยู่อย่างปกติ แต่เรื่องนี้ ไม่ใช่ประเด็นของธนาคาร หรือสถาบันการเงินฝ่ายเดียว ต้องอาศัยวิสัยทัศน์ระดับนโยบายของหน่วยงานภาครัฐด้วย”
สฤณี เปิดเผยว่า ตนเห็นด้วยกับการแก้ปัญหาหนี้สินเฉพาะหน้าตามข้อเรียกร้องของชาวนา แต่อย่างไรก็ตามต้องมีการพูดถึงแนวทางนี้ในระดับนโยบายด้วย อีกทั้งยังต้องแก้ปัญหาที่ต้นตอของการทำการเกษตร ให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้น และมีโครงสร้างการผลิตที่ดีขึ้นกว่าในปัจจุบัน ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องพูดคุยอย่างจริงจัง