ตัวแทนชาวนา เกษตรกรหลายจังหวัด นัดรวมตัว ทวงข้อเรียกร้อง จี้รัฐบาลประกันรายได้ กำหนดราคาข้าว 11,000 บาทต่อตัน จี้ เยียวยาเปลี่ยนนาเป็นพื้นที่รับน้ำ 300 บาทต่อไร่ต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือนในรอบปี วอนยกเลิกมาตรการห้ามเผาพื้นที่นาพระนครศรีอยุธยา
วันนี้ (19 ก.พ.68) ตัวแทนกลุ่มชาวนา และเกษตรกรจากหลายจังหวัด ทั้ง จ.พระนครศรีอยุธยา, สุโขทัย, พิษณุโลก, อ่างทอง, กำแพงเพชร, พิจิตร, สุพรรณบุรี รวมตัวปักหลักที่บริเวณประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงถามความคืบหน้าจากรัฐบาล หลังยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดมาแล้ว โดยที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นจังหวัดแรก ๆ ที่ทำหนังสือเรียกร้อง 3 ข้อ ประกอบด้วย
- ขอให้รัฐบาลดำเนินโครงการประกันรายได้แก่ชาวนาโดยกำหนดราคาข้าว ที่ 11,000 บาทต่อต้น และกำหนดปริมาณรับประกันราคาไม่เกิน 50 ต้นต่อราย เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง และสามารถดำรงชีพได้อย่างยั่งยืนโดยไม่กระทบต่อกลไกทางการตลาดของการส่งออกข้าวของไทยด้วย
- ให้รัฐบาลเยียวยาเกษตรกรผู้ทำนาในพื้นที่รับน้ำ โดยจัดสรรเงินชดเชยจำนวน 300 บาทต่อไร่ต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือนในแต่ละปี เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเป็นพื้นที่รับน้ำ
- ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยกเลิกมาตรการห้ามเผาฟางในพื้นที่ทำการเกษตรของ จ.พระนครศรีอยุธยา เนื่องจากชาวนาที่อยู่ในพื้นที่รับน้ำไม่มีทางเลือกอื่นใดในการกำจัดฟางข้าวนอกจากการเผาทำลาย ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรสามารถจัดการพื้นที่นาได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อภาวะน้ำหลากในเดือนกันยายนของทุกปี พร้อมลดภาระต้นทุนทางการเกษตร

ตัวแทนชาวนา และกลุ่มเกษตรกร ยังทวงถามการแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ โดยยื่นคำขาดขอคำตอบจากนายกรัฐมนตรีเท่านั้น และหากไม่พบนายกฯ ก็หวังว่าจะได้พบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้ช่วยเร่งแก้ปัญหา เพราะในช่วงนี้ หลายพื้นที่เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตนาปรังแล้ว
นอกจากนี้ยังมีเสียงสะท้อนจากเกษตรกร ชาวนา หลายคนว่า ราคาข้าวในปีที่แล้วได้ตันละ 10,000 บาท แต่ในตอนนี้ราคาข้าวตกเหลือเพียง 6,000 – 7,000 บาท หากรัฐบาลไม่เร่งช่วยเหลือเกรงว่าชาวนาจะเดือดร้อนหนักกว่าเดิม จึงอยากได้ความชัดเจนจากรัฐบาล
ทั้งนี้กลุ่มชาวนา และเกษตรกรได้ยื่นหนังสือไปแล้ว และก่อนหน้านี้ชาวนาที่พระนครศรีอยุธยา ถึงขั้นรวมตัวปิดถนนสายเอเชียประท้วงเมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา และแม้จะมีผู้ว่าราชการจังหวัดลงมาพูดคุยด้วย และช่วยประสานงาน รวมถึงทางกระทรวงพาณิชย์ ยังเร่งให้พาณิชย์จังหวัดเปิดจุดรับซื้อข้าว แต่ก็ยังไม่ระบุชัดเจนว่า จะรับซื้อในราคาเท่าไร และมาตรการเยียวยาที่ยังไม่ชัดเจนว่าชาวนาได้รับหรือไม่


อีกปัญหาที่ชาวนาในภาคกลางสะท้อน คือ พวกเขาต้องเป็นพื้นที่รองรับน้ำจากชลประทานในเดือนกันยายน เพื่อป้องกันน้ำท่วมกรุ่งเทพฯ และปริมณฑล ทำให้สามารถทำนาได้ในช่วงเดือนธันวาคม และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ทำให้พวกเขามีข้อจำกัดในเรื่องของการจัดการพื้นที่ทำนา
อย่างไรก็ตาม พวกเขา คาดหวังว่า รัฐบาลจะสามารถยกระดับราคาข้าวได้ตันละ 10,000 บาท ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำ สั่งการให้กรมการค้าภายใน เร่งประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาด (อนุ นบข.) ในวันที่ 20 ก.พ. นี้
‘กมธ.การเกษตรฯ’ เรียกหลายหน่วยงาน ถกแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ 20 ก.พ.นี้
ขณะที่ ศักดินัย นุ่มหนู ประธาน กมธ.การเกษตรและสหกรณ์ รับหนังสือจาก สส.พรรคประชาชน นำโดย กิตติภณ ปานพรหมมาศ, ทวิวงศ์ โตทวิวิงศ์, กฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภัคดี และคณะ เรื่องขอความช่วยเหลือชาวนากรณีราคาข้าวเปลือกตกต่ำ
โดย กิตติภณ กล่าวว่า ในฐานะผู้แทนราษฎร และผู้แทนชาวนา จ.นครปฐม ในพื้นที่ที่ปลูกข้าวนาปรังกว่า 235,142 ไร่ ที่ส่วนใหญ่ปลูกข้าวพันธุ์ กข.41 ราคาปัจจุบันเหลือเพียง 7,000 บาทต่อตัน แต่ในความเป็นจริงชาวนาขายข้าวราคา 6,700 – 6,800 บาท ต่อตันเท่านั้น ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้ ชาวนาจะเริ่มเกี่ยวข้าวช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ แต่ราคาต้นทุนการทำนาสูงขึ้นทุกชนิด รวมทั้งค่าเช่าที่นาที่ปรับขึ้นราคาค่าเช่า 2,000 – 3,000 บาท ต่อปี หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ ชาวนาจะใช้หนี้หมดได้อย่างไร

จึงเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหา เรื่องราคาข้าวและลดต้นทุน ปุ๋ย ยากำจัดศัตรูพืช และที่ดินทำกิน นอกจากนี้ เรื่องปัญหาที่เกิดจากการเผาซังตอข้าวที่ภาครัฐมีมาตรการเข้มงวดกับเกษตรกรห้ามเผา ส่งผลกระทบต่อขั้นตอนในการทำนาที่มากขึ้น ชาวนาต้องหาผู้ให้บริการไถเตรียมดินที่ พร้อมไถกลบซังตอข้าว เป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตของเกษตรกร
“รัฐบาลจึงต้องเข้าใจเงื่อนไขของเกษตรกร ช่วยให้ผู้ให้บริการเตรียมการ และให้เงินสนับสนุนกับเกษตรกร ก็จะช่วยลดเงื่อนไขในการเผาได้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องให้การสนับสนุนและดำเนินการอย่างจริงจัง ไม่ใช่การรณรงค์แบบไฟไหม้ฟาง เพื่อความอยู่รอดของเกษตรกรทุกคน จึงขอนำเรียนประธาน กมธ. เพื่อแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในเรื่องดังกล่าว”
กิตติภณ ปานพรหมมาศ
ทั้งนี้ ประธาน กมธ.การเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังรับหนังสือ ว่า กมธ.เห็นความสำคัญในการแก้ไขปัญหาของชาวนาซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ และฝากไปยังรัฐบาลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานที่ไม่มีการเตรียมความพร้อมวางแผนรับมือไว้ล่วงหน้าในการแก้ปัญหาชาวนา
ทั้งนี้ ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 กมธ. จะประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือเกษตรกร ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กรมการค้าภายใน, กรมการค้าต่างประเทศ, รวมถึงตัวแทนเกษตรกร เพื่อหามาตรการช่วยเหลือพี่น้องชาวนาต่อไป