“น่าจับตามอง Clubhouse ว่าจะอยู่ยาวหรือเป็นแค่แฟชั่น แต่ที่สำคัญ คือ ใครใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ได้บ้าง หาก อาจารย์ปวิน เปิดห้อง แล้วคนอื่น ๆ ก็เปิดได้ คุณธนาธรก็อาจจะเปิด แล้วก็อาจจะมีกลุ่มวัยรุ่นอยากคุยกับคุณธนาธร…”
Clubhouse เป็นโซเชียลมีเดียใหม่ล่าสุด คล้าย ๆ กับการจัดรายการวิทยุแล้วมีคนโทรเข้าไปซักถามได้ ต่างจากพอดแคสต์ที่ฟังอย่างเดียว ลักษณะมีการเปิดห้องหลายห้อง เราสามารถเข้าไป มีทั้งห้องแบบเปิดและแบบปิด คนที่เข้าไปใน Clubhouse เหมือนเข้าไปแอบฟัง สามารถตั้งหัวข้ออะไรก็ได้ แล้วก็เป็นการพูดออกไปโดยไม่มีการบันทึก ทำให้ผู้พูดอาจสบายใจในการที่จะแลกเปลี่ยน โดยไม่ต้องกังวลถึงความผิดที่จะตามมา แต่ก็ไม่แน่ใจว่าตำรวจจะตามเข้ามาในแอปพลิเคชันด้วยไหม
ตอนนี้กระแส Clubhouse เริ่มเกิด แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะอยู่นานหรือไม่ เพราะไม่มีให้ดูย้อนหลัง ต้องเข้ามาดูสดในช่วงเวลานั้นอย่างเดียว คนก็เริ่มวิเคราะห์กันว่าจะใช้ประโยชน์อะไรจากแอปฯ แบบนี้บ้าง หลายแบรนด์ก็เริ่มจะเข้ามาทำการค้าขายสินค้า แต่ทางการเมืองน่าจับตามองมาก เพราะอาจารย์ปวิน (ชัชวาลพงศ์พันธ์) ได้มีการเปิดห้องใน Clubhouse แล้วก็มีการพูดคุยประเด็น อย่างเช่นกฎหมายมาตรา 112 จึงน่าจับตาว่านี่จะเป็นเวทีปราศรัยทางการเมือง รูปแบบใหม่
แต่ดูเหมือนว่า Clubhouse จะมีการแบ่งชนชั้นอยู่บ้าง เพราะเปิดให้โหลดเฉพาะ iOS ยังไม่ไปถึงมือถือแบบ Android ลักษณะของคนที่เข้ามาก็ยังเป็นกลุ่มคนกลุ่มผู้ใหญ่มากกว่า รับเป็นชนชั้นกลาง แต่หากพัฒนาแอปพลิเคชันเข้าไปสู่ในระบบ Android จะขยายฐานของผู้ใช้ได้หรือไม่ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นต่าง ๆ สมมุติว่าคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ตั้งห้องขึ้นมา ก็คงอยากมีกลุ่มวัยรุ่นเข้าไปพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคุณธนาธรด้วยเช่นกัน
สรกล อดุลยานนท์ หรือ คอลัมนิสต์นามปากกาชื่อคุ้นเคย “หนุ่มเมืองจันท์” วิเคราะห์ประเด็น Clubhouse พื้นที่ใหม่การเมืองไทย ไว้ในรายการ Active Talk EP.1 “ซักฟอก | ม็อบ | ทักษิณ | Clubhouse” (15 ก.พ. 2564)