กรมอุตุนิยมวิทยา เตือน ฝนอีกระลอก 16-17 ต.ค. นี้ ฝนตกหนักและลมกระโชกแรง หลังมวลอากาศเย็นแผ่ปกคลุมตอนบนของไทยแล้ว ลุ้นเข้าสู่ฤดูหนาวปลายตุลาคม 2566 พร้อมเปิดเกณฑ์เมื่อไหร่ที่จะถือว่าเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการ
วันนี้ (15 ต.ค. 2566) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผย ประเทศไทยยังคงมีอุทกภัยในพื้นที่ 6 จังหวัด จาก 35 จังหวัด ที่เคยประสบอุทกภัย มาตั้งแต่ ช่วงวันที่ 26 กันยายน – 15 ตุลาคม 2566 มีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวม 35 จังหวัด 145 อำเภอ 554 ตำบล 2,815 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 58,776 ครัวเรือน
สำหรับ 6 จังหวัดที่กระทบ ได้แก่ จังหวัดเพชรบูรณ์ พิษณุโลก ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี และยะลา ภาพรวมทั้งหมดน้ำลดลงโดยสรุปกระทบ 21 อำเภอ 93 ตำบล 532 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 13,916 ครัวเรือน
- เพชรบูรณ์ น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอหล่มสัก และอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ รวม 9 ตำบล 41 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 210 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
- พิษณุโลก น้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอวังทอง อำเภอบางระกำ และอำเภอเมืองพิษณุโลก รวม 11 ตำบล 34 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 351 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
- ร้อยเอ็ด น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเชียงขวัญ และอำเภอจังหาร รวม 2 ตำบล 3 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 106 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
- กาฬสินธุ์ น้ำท่วมในพื้นที่ 10 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ อำเภอร่องคำ อำเภอฆ้องชัย อำเภอยางตลาด อำเภอกมลาไสย อำเภอสามชัย อำเภอท่าคันโท อำเภอหนองกุงศรี อำเภอสหัสขันธ์ และอำเภอห้วยเม็ก รวม 59 ตำบล 399 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 11,152 ครัวเรือน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
- อุบลราชธานี น้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี อำเภอวารินชำราบ และอำเภอสว่างวีระวงศ์ รวม 10 ตำบล 49 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,069 ครัวเรือน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
- ยะลา น้ำท่วมในพื้นที่อำเภอเบตง รวม 2 ตำบล 6 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 28 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
ภาพรวมสถานการณ์ระดับน้ำลดลงเกือบทุกพื้นที่ ยังคงมีที่จังหวัดกาฬสินธุ์และอุบลราชธานีที่มีระดับน้ำเพิ่มขึ้น
กรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 16 – 19 ตุลาคม 2566 ความกดอากาศสูงกำลังอ่อนหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ขณะร่องมรสุมพาดผ่านภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน เข้าหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ซึ่งจะทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง หลังจากนั้นความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นอีกระลอกจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้ ซึ่งทำให้มีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ในระยะแรก และจะเกิดลมกระโชกแรงเสี่ยงเกิดวาตภัย น้ำท่วม ก่อนเข้าสู่ฤดูหนาว
และได้คาดหมายสภาพอากาศเดือนตุลาคม 2566 ด้วยว่าเดือนนี้เป็นช่วงเปลี่ยนจากฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาวช่วงต้นและกลางเดือนบริเวณประเทศไทยตอนบนลักษณะอากาศจะแปรปรวนโดยมีฝนฟ้าคะนองในหลายพื้นที่ และมีอากาศหนาวเย็นในตอนเช้าเป็นระยะ ๆโดยเฉพาะภาคเหนือและภาคอีสาน จากนั้นฝนจะลดลงและมีอากาศหนาวเย็นในตอนเช้า ส่วนภาคใต้จะมีฝนตกชุกหนาแน่นกับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง คลื่นลมทั้งทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงในบางช่วงมี คลื่นสูง 2–3 เมตร
เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนเริ่มแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นระยะ ๆ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยจะเริ่มเปลี่ยนเป็นมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมแทน นอกจากนี้
จะมีร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออกและภาคใต้ตอนบนในบางช่วง สรุปเดือนนี้ คาดว่าปริมาณฝนรวมทั่วทุกภาคจะน้อยกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 10 ส่วนอุณหภูมิเฉลี่ยจะสูงกว่าค่าปกติ
สถิติเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการ 10 ปีย้อนหลัง
โดยช่วงวันที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการจะพบว่า ส่วนใหญ่จะเป็นสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคม ขณะที่มีเพียง ปี 2564 ที่ประกาศเข้าสู่ฤดูหนาวช้า หากเทียบกับ 10 ปีที่ผ่านมา คือ 2564 ประกาศฤดูหนาว วันที่ 2 พฤศจิกายน และอาจต้องมาลุ้นกันต่อว่า ปี 2566 ไทยจะเข้าสู้ฤดูหนาวกันวันที่เท่าไหร่
ขณะที่เกณฑ์ประกาศเข้าสู่ฤดูหนาว คือ อุณหภูมิต่ำสุดบริเวณประเทศไทยตอนบนจะลดลงต่ำกว่า 23 องศาเซลเซียส ซึ่งอยู่ในเกณฑ์อากาศเย็นเกือบทั่วไปอย่างต่อเนื่อง และทิศทางลมที่พัดปกคลุมบริเวณประเทศไทยที่ระดับความสูง 100 เมตร ถึงความสูง 3,500 เมตร เปลี่ยนเป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือหรือลมตะวันออก ส่วนลมระดับบนที่ความสูงตั้งแต่ 5,000 เมตรขึ้นไป เปลี่ยนเป็นลมฝ่ายตะวันตก ประกอบกับปริมาณและการกระจายของฝนบริเวณประเทศไทยตอนบนลดลงอย่างต่อเนื่อง