ขณะ 1-2 วันนี้ ทุกภาคของไทยเตรียมรับมืออากาศผันผวนลมแรงระลอกสุดท้าย ซึ่งตามปฏิทินการเพาะปลูกคือการเข้าสู่ฤดูแล้ง อย่างเป็นทางการ 1 พฤศจิกายน 2566 ขณะที่ปริมาณน้ำใช้การเขื่อนขนาดกลางและขนาดใหญ่ทั่วประเทศ น้อยกว่าปีที่แล้ว 3,855 ล้านลูกบาศก์เมตร
วันนี้ (29 ต.ค.2566) สถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลาง พบปริมาณน้ำใช้การเพียง 36,455 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ปีที่แล้ว (2565) มีน้ำใช้การทั้งประเทศ 40,310 ล้านลูกบาศก์เมตร เท่ากับปีนี้น้ำน้อยกว่าปีก่อน 3,855 ล้านลูกบาศก์เมตร
ด้านกองอำนวยการน้ำแห่งชาติรายงาน สรุปสถานการณ์อุทกภัย เหลือ 2 จังหวัด 12 อำเภอ 68 ตำบล ได้แก่จังหวัด กาฬสินธุ์ และอุบลราชธานี
ขณะที่เขื่อนเฝ้าระวังน้ำน้อย 3 แห่ง ได้แก่ สิริกิติ์ ทับเสลา และคลองสียัด
ด้านกรมชลประทานระบุแผนและผลการบริหารจัดการน้ำฤดูฝน ปี 2566 (1 พ.ค.66 – 31 ต.ค.66)
ในฤดูฝนปี 2566 (วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 – 31 ตุลาคม 2566) ปริมาณน้ำต้นทุนทั้งประเทศ ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2566
จำนวน 20,247 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยความต้องการใช้น้ำฤดูฝนทั้งประเทศ จำนวน 30,246 ล้านลูกบาศก์เมตร (จัดสรรน้ำชลประทาน14,851 ล้าน ลบ.ม.) วางแผนจัดสรรน้ำชลประทานตามลำดับความสำคัญดังนี้ เพื่อการอุปโภค-บริโภค 1,752 ล้าน ลบ.ม.
การรักษาระบบนิเวศและอื่น ๆ 6,175 ล้าน ลบ.ม. อุตสาหกรรม 454 ล้าน ลบ.ม. และเพื่อการเกษตร 21,865 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำต้นทุน จำนวน 6,542 ล้าน ลบ.ม. มีความต้องการใช้น้ำ 10,021 ล้าน ลบ.ม.
(จัดสรรน้ำชลประทาน 5,500 ล้าน ลบ.ม.) วางแผนจัดสรรน้ำชลประทานแยกเป็น เพื่ออุปโภค-บริโภค 288 ล้าน ลบ.ม.
การรักษาระบบนิเวศและอื่น ๆ 145 ล้าน ลบ.ม. อุตสาหกรรม 167 ล้าน ลบ.ม. และเพื่อการเกษตร 9,421 ล้าน ลบ.ม.
ผลการจัดสรรน้ํา ทั้งประเทศ (อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง) ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2566
ถึงปัจจุบันใช้น้ำไปแล้ว 22,558 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 152 ของแผนจัดสรรน้ำ ส่วนในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา
(เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ ป่าสักฯ) วันนี้ใช้น้ำไป 27.74 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ถึงปัจจุบัน
ใช้น้ำไปแล้ว 6,534 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 119 ของแผนจัดสรรน้ำ
สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ประเทศไทยยังอยู่ในสภาวะเอลนีโญ และกำลังจะเข้าสู่ฤดูแล้งในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ซึ่งในปีนี้ปริมาณน้ำต้นทุนมีน้อยกว่าปีที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรีจึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานบูรณาการเร่งรัดขับเคลื่อนการดำเนินงานตามมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูแล้งอย่างเคร่งครัด โดยเร่งจัดหาแหล่งน้ำต้นทุนสำรองสำหรับใช้อุปโภคบริโภคให้เพียงพอตลอดฤดูแล้ง ส่งเสริมให้เกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และการจ้างแรงงานให้กับประชาชน เพื่อช่วยประชาชนในภาวะน้ำขาดแคลน
สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาอุทกภัย โดยได้กำหนดมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 จำนวน 12 มาตรการ เพื่อรับมือ ป้องกัน และบรรเทาภัยที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางที่เป็นพื้นที่ที่ต้องรับมวลน้ำจากพื้นที่ตอนเหนือของประเทศ ทำให้ประสบปัญหาอุทกภัยซึ่ง จ.สุพรรณบุรีและ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นสองจังหวัดในพื้นที่ท้ายน้ำที่ได้รับผลกระทบในช่วงที่ผ่านมาด้วย
รัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าฯ เพื่อบูรณาการในการเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านต่างๆ โดยปัจจุบันสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคกลางเริ่มคลี่คลายแล้ว ซึ่งในระยะเร่งด่วน ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์น้ำท่วมให้แก่ประชาชน และดำเนินการเยียวยา ฟื้นฟู ตามระเบียบที่กฎหมายกำหนดไว้ ส่วนระยะยาว ได้สั่งการให้หน่วยงานต่างๆ ที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณต้องเตรียมความพร้อมทุกด้านและกรอกข้อมูลในระบบ Thai Water Plan เพื่อเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองและขอรับการสนับสนุนงบประมาณต่อไป รวมทั้งให้ทุกหน่วยงานเสริมสร้างนวัตกรรมด้านต่างๆ หรือนำนวัตกรรมที่มีอยู่แล้ว มาต่อยอดสำหรับการบริหารจัดการน้ำ สามารถลดปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งของประเทศได้อย่างเป็นระบบและยั่งยืน