กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ 3 จังหวัดภาคเหนือ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน มีโอกาสหนาวเย็นมากกกว่าจังหวัดอื่น ๆ และจะหนาวเย็นถึงกลาง ก.พ. นี้ ขณะที่ยอดดอยมีโอกาสเห็นแม่คะนิ้งต่อเนื่อง
(18 ม.ค. 68) วันนี้แม้มวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้เริ่มมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณดังกล่าวแม้มีอุณหภูมิสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส กับมีหมอกในตอนเช้า แต่ก็ยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ส่วนภาคตะวันออกและภาคใต้ตอนบน รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีอากาศเย็นในตอนเช้า สำหรับบริเวณยอดดอยและยอดภูมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด และมีน้ำค้างแข็งบางแห่ง
วันนี้ที่ยอดดอยหนาวจัด
บริเวณยอดดอย อุณหภูมิต่ำสุด 3.9 องศาเซลเซียส ที่ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่
บริเวณยอดภู อุณหภูมิต่ำสุด 6.0 องศาเซลเซียส ที่ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง อ.ภูกระดึง จ.เลย
บริเวณเขาเขียว(สถานีอุตุนิยมวิทยา) อุณหภูมิต่ำสุด 12.5 องศาเซลเซียส ที่ อ.เมือง จ.นครนายก
กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อุณภูมิต่ำสุด วัดได้ 18.2 องศาเซลเซียส ที่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ
อุณหภูมิต่ำสุดบริเวณประเทศไทย เช้าวันนี้วัดได้ 10.2 องศาเซลเซียส บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ ต.ขามเฒ่า อ.เมืองนครพนม จ.นครพนม
สมควร ต้นจาน ผู้อำนวยการส่วนพยากรณ์อากาศกลาง กรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยส้่ อากาศหนาวเย็นในระยะนี้ แม้จะไม่หนาวเย็นเท่ากับระลอกที่ผ่านมา (11-14 มกราคม 2568 ) แต่ก็จะยังคงมีอากาศหนาวเย็นอยู่ ในขณะที่ 3 จังหวัดภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย และจังหวัดแม่ฮ่องสอน ปีนี้คาดการณ์จะหนาวเย็น ไปจนถึงกลางเดือนภุมภาพันธ์นี้ เพราะทั้ง 3 จังหวัดนี้ยังได้รับอิทธิพลมีกระแสลมตะวันตกและลมหนาวจากเทือกเขาหิมาลัย และบริเวณยอดดอยมีโอกาสเห็นแม่คะนิ้ง โดยอุณหภูมิ อยู่ประมาณ 3-4 องศาเซลเซียส
สำหรับในช่วงวันที่ 19 – 20 ม.ค. 2568 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาว กับมีหมอกในตอนเช้า โดยภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาว ส่วนภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีอากาศเย็นในตอนเช้า
Polar Vortexมาไม่ถึงไทย ?
ปรากฏการณ์ Polar Vortex เกิดขึ้นถี่และรุนแรงมากขึ้นจากภาพรวมโลก ปรากฎการณ์นี้มักเกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงฤดูหนาวของทางยุโรปและอเมริกา แต่ในไทยไม่ได้รับอิทธิพลจาก Polar Vortex มากนัก ซึ่งหากเข้ามาถึงเอเชีย จะผ่านเทือกเขาหิมาลัยลงไปทางจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ทำให้ประเทศไทยมีโอกาสเจอน้อยมาก
เตือนคลื่นซัดฝั่ง 18-19 ม.ค. 2568
แต่สำหรับผู้ที่อยู่ติดชายฝั่งทะเลระยะนี้ต้องระวังคลื่นซัดฝั่ง เพราะมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยตอนล่างและภาคใต้ตอนล่างยังคงมีกำลังค่อนข้างแรง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร อ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกระวังอันตรายจากคลื่นที่ซัดเข้าหาชายฝั่ง ส่วนชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณอ่าวไทยตอนล่างควรงดออกจากฝั่งต่อไปอีก 1 วัน
ฝุ่น PM.25 มีแนวโน้มน่ากังวล
สภาวะอากาศที่มีผลต่อการสะสมฝุ่นละอองในระยะนี้ การระบายของอากาศอยู่ในเกณฑ์ “ไม่ดี-อ่อน” และลมที่พัดปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ประกอบกับเกิดอินเวอร์ชั่นใกล้ผิวพื้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มลพิษทางอากาศแพร่กระจายได้อย่างจำกัด คาดว่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
คาดการณ์ฝุ่น PM 2.5 ตั้งแต่ 17-23 มกราคม 2568
กรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบว่าจะเกินมารตฐาน ตั้งแต่วันที่ 19 -23 มกราคม 2568 ฝุ่นจะสะสมตัวมากขึ้นและเกินมาตรฐานในหลายเขต ขณะที่จังหวัดรอบกรุงเทพ และในปริมณฑล ทั้ง นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรแราหาร สมุทรสงคราม สมุทรสาคร
ภาคเหนือ : เกินมาตฐาน ตั้งแต่วันที่ ตั้งแต่ 17-23 มกราคม 2568ที่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก ตาก พิจิตรเพชรบูรณ์ กำแพงเพชร
ภาคกลาง : เกินมาตฐาน ตั้งแต่วันที่ ตั้งแต่ 19-23 มกราคม 2568 ที่ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สระบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี
ภาคอีสาน : เกินมาตฐาน ตั้งแต่วันที่ ตั้งแต่ 20-22 มกราคม 2568 ที่ ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญมุกดาหาร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี
ภาคตะวันออก : เกินมาตฐาน ตั้งแต่วันที่ ตั้งแต่ 19-23 มกราคม 2568 ที่ นครนายก ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทรบุรี ตราด